สืบเนื่องจากกรณีราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศพระราชกฤษฎีกา พระราชทานอภัยโทษในโอกาสมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 70 พรรษา 28 กรกฎาคม 2565 ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พ.ศ.2565

ทั้งนี้ ผู้ซึ่งได้รับพระราชทานอภัยโทษตามพระราชกฤษฎีกานี้ ต้องมีตัวอยู่ในความควบคุมของทางราชการ หรือถูกกักขังไว้ในสถานที่ หรืออาศัยที่ศาล หรือทางราชการกำหนดในวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับติดต่อกันไปจนวันที่ศาลออกหมายสั่งหรือลดโทษ หรือนายกรัฐมนตรี มีคำสั่งปล่อยหรือลดโทษ ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชกฤษฎีกานี้ เว้นแต่ผู้ทำงานบริการสังคม หรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับ และผู้ได้รับการปล่อยตัวคุมประพฤติ โดยนักโทษจะต้องได้รับโทษจำคุกมาแล้ว ถึงวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของกำหนดโทษตามคำพิพากษา ถึงที่สุดหรือไม่น้อยกว่า 8 ปี แล้วแต่ระยะเวลาใดจะเป็นคุณมากกว่า ในกรณีต้องโทษจำคุกหลายคดี ให้ถือเอากำหนดโทษในคดีที่มีโทษสูงที่สุดเป็นเกณฑ์

เมื่อวันที่ 12 ส.ค. นายธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ เลขาฯ รมว.ยุติธรรม เปิดเผยกับเดลินิวส์ ว่า ผู้ต้องราชทัณฑ์ที่จะได้รับพระราชทานอภัยโทษ ต้องเป็นนักโทษเด็ดขาดชั้นดี หรือชั้นดีมาก หรือชั้นเยี่ยมเท่านั้น และต้องได้รับโทษจำคุกมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของกำหนดโทษตามคำพิพากษา หรือไม่น้อยกว่า 8 ปี แล้วแต่ระยะเวลาใดจะเป็นคุณมากกว่า โดยตามพระราชกฤษฎีกาฯ จะมีทั้งกลุ่มผู้ต้องราชทัณฑ์ส่วนหนึ่งที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวไป และกลุ่มที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษลดโทษจำคุกตามสัดส่วนที่กำหนด โดยแตกต่างกันตามประเภทความร้ายแรงของคดี และตามชั้นของนักโทษเด็ดขาด

เลขาฯ รมว.ยุติธรรม กล่าวอีกว่า สำหรับจำนวนผู้ต้องขังที่ได้ลดวันต้องโทษ มีจำนวน 80,000 ราย และเข้าเกณฑ์ปล่อยตัวและลดโทษแล้วปล่อยตัวจากเรือน จำนวน 22,822 คน ส่วนผู้ต้องขังที่ได้รับการลดโทษแต่ยังคงต้องจำคุกต่อในเรือนจำ มีจำนวน 80,791 ราย ดังนั้น รวมมีจำนวนผู้ต้องขังได้รับการพระราชทานอภัยโทษตามพระราชกฤษฎีกา 2565 จำนวน 103,613 ราย ส่วนผู้ต้องขังที่ไม่ได้รับการพระราชทานอภัยโทษนั้นมีจำนวน 108,641 ราย

สำหรับประเด็นที่ไม่มีบิ๊กเนมหรือนักการเมืองรายใดเข้าเกณฑ์พระราชทานอภัยโทษลดโทษนั้น เลขาฯ รมว.ยุติธรรม ระบุว่า กรณีของนักการเมืองอย่าง นายเทพไท เสนพงศ์ และนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ ไม่ได้รับการลดโทษ เนื่องจากในเกณฑ์ใหม่นี้ ระบุว่า ต้องได้รับโทษจำคุกมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของกำหนดโทษตามคำพิพากษา หรือไม่น้อยกว่า 8 ปี อีกทั้งประเด็นของ พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล หรืออดีตผู้กำกับโจ้ ไม่เข้าหลักเกณฑ์ลดโทษ เพราะยังคงจำคุกไม่ถึง 1 ใน 3 ของโทษ และเพิ่งได้เข้าไป ส่วนเสี่ยเปี๋ยง-อภิชาติ จันทร์สกุลพร มี 2 คดี ต้องพิจารณาตามกำหนดโทษในคดีที่มีโทษสูงสุดเป็นเกณฑ์ ดังนั้น บุคคลเหล่านี้ต้องได้รับโทษจำคุกมาไม่ต่ำกว่า 8 ปีก่อน หรือ 1 ใน 3

ส่วนนักโทษเด็ดขาดที่ไม่อยู่ในข่ายเข้าเกณฑ์ เลขาฯ รมว.ยุติธรรม กล่าวว่า เมื่อดูตามบัญชีแนบท้าย มีการระบุว่า 1.นักโทษเด็ดขาด ลงโทษประหารชีวิตที่เคยได้รับพระราชทานอภัยโทษแล้ว และได้รับโทษจำคุกมาแล้วยังไม่เกินสิบห้าปี และมิใช่นักโทษเด็ดขาดชั้นเยี่ยม 2.ผู้ต้องโทษคดียาเสพติดตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกเกินแปดปี หรือจำคุกตลอดชีวิต ภายหลังพระราชกฤษฎีกา 2565 บังคับใช้ 3.ผู้ต้องขังที่กระทำความผิดซ้ำและมิใช่นักโทษเด็ดขาดชั้นเยี่ยม และ 4.นักโทษเด็ดขาดชั้นกลาง ชั้นต้องปรับปรุง หรือชั้นต้องปรับปรุงมาก

เลขาฯ รมว.ยุติธรรม กล่าวทิ้งท้ายว่า สำหรับจำนวนผู้ต้องราชทัณฑ์ จากข้อมูลกรมราชทัณฑ์ ณ วันที่ 1 ส.ค.65 ในส่วนของผู้ต้องขังเด็ดขาด ที่ควบคุมในเรือนจำทั่วประเทศ มีจำนวน 213,092 ราย จากผู้ต้องขังทั้งหมด 269,267 ราย