ผู้สื่อข่าวรายงาน เมื่อวันที่วันที่ 19 ส.ค. 2565 แผนงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรระดับจังหวัด (สอจร.) ภายใต้การสนับสนุนจาก สสส. ได้จัดเวทีพัฒนาศักยภาพตำรวจในการป้องกันอุบัติเหตุจราจรทางถนน ที่ รร.แม่น้ำ รามาดาพลาซา กทม. โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ทำงานกำกับการจราจรจากทั่วประเทศและภาคีเครือข่ายประมาณ 300 คน เข้าร่วม

นพ.วิทยา ชาติบัญชาชัย ประธานแผนงาน สอจร. เปิดเผยว่า การบาดเจ็บและเสียชีวิตจากภัยบนถนน ที่มีแนวโน้มลดลงในปี 2564 เหลือ 25 ต่อแสนประชากร หรือประมาณ 16,500 ราย ทำให้ในปี 2565 ทุกฝ่ายคาดหวังจะเห็นการตาย ลดลงจนเหลือ 22 ต่อแสนประชากร ตามแผนแม่บทฉบับที่ 5 แต่ขณะนี้พบว่า ผ่านมาเพียงครึ่งปี ยอดตายในปีนี้ได้แซงหน้าครึ่งปีแรกของปี 2564 ไปแล้ว ทุกเครือข่ายลดอุบัติเหตุ จึงต้องมุ่งหามาตรการเพิ่มเติมอย่างเร่งด่วนสอดคล้องตามเป้าหมายแผนงาน สอจร. 9 ที่ได้มุ่งเน้นสนับสนุนเครือข่ายทุกจังหวัด เพื่อลดยอดการเสียชีวิตให้ลดลงตามเป้าหมายแผนแม่บท โดยมียุทธศาสตร์ที่สำคัญ คือ การสร้างกลไก “Social Sanctions” หรือให้สังคมช่วยเป็นหูเป็นตาให้กับตำรวจ ไม่ว่าจะด้วยเทคโนโลยีใดๆ เพื่อลดภาระงานของตำรวจ พร้อมไปกับการให้สังคมมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง สนับสนุนกลไกการบังคับใช้กฎหมายของตำรวจ สู้กับทุกข์ภัยบนถนน และลดความเสี่ยงจากพฤติกรรมไม่สวมหมวกนิรภัย ขับรถเร็ว ฝ่าไฟแดง ย้อนศร หรือดื่มแล้วขับ เป็นต้น

ด้าน พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร. กล่าวมอบนโยบายเพิ่มศักยภาพตำรวจในการป้องกันอุบัติเหตุจราจร ระบุว่า ปัญหาอุบัติเหตุจราจรของประเทศไทย ยังคงเป็นปัญหาที่สำคัญที่ก่อให้เกิดการสูญเสีย ทั้งชีวิตและทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก จำเป็นต้องดำเนินการป้องกันทุกจังหวัด โดยดึงการมีส่วนร่วมของประชาชน มาช่วยเป็นหูเป็นตาในด้านการบังคับใช้กฎหมาย ทั้งใช้เทคโนโลยีหรือตัวบุคคล ผ่านการดำเนินการด้านอาสาจราจรในระดับพื้นที่ ส่วนกรณีการบังคับใช้กฎหมาย หลังวันที่ 5 ก.ย. 2565 พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2565 จะมีผลบังคับใช้ โดยกำหนดผู้โดยสารเบาะที่ 2 ต้องคาดเข็มขัด ฝ่าฝืนมีโทษปรับ 2,000 ซึ่งจะกระทบต่อผู้โดยสารตอนหลัง ทั้งในแคปและท้ายกระบะนั้น

พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กำลังหารือกับกรมการขนส่งทางบก เพื่อออกกฎหมายลูกมารองรับ เนื่องจากในแค็บไม่มีเข็มขัดนิรภัย ซึ่งทั้งสองหน่วยงานมีแนวโน้มไปในทิศทางเดียวกันว่า จะไม่ให้คาดเข็มขัดนิรภัยบริเวณที่นั่งแค็บ แต่ต้องการความปลอดภัยด้วย ซึ่งยังไม่ได้ข้อยุติ ทั้งนี้อาจการกำหนดจำนวนผู้โดยสารที่เหมาะสมแทนให้สามารถนั่งแค็บได้ในจำนวน 2-3 คน เพื่อความปลอดภัย ส่วนการนั่งกระบะท้ายซึ่งเป็นเรื่องปกติในสังคมไทย จะเป็นไปในทิศทางเดียวกันคือ จำกัดจำนวนคนโดยสารเบื้องต้นคุยกันในขณะทำงานคาดว่าจะให้นั่งได้ไม่เกิน 6 คน และไม่นั่งบนขอบกระบะ แต่เพิ่มข้อกำหนด จำกัดผู้ขับขี่ต้องขับด้วยความเร็วต่ำกว่ากฎหมายกำหนดควบคู่ไปด้วยเพื่อให้เกิดความปลอดภัย ป้องกันเกิดอุบัติเหตุครั้งใหญ่ อย่างไรก็ตามเมื่อได้ข้อยุติแล้วจะบรรจุเข้าคณะกรรมการร่างกฎหมายของรัฐบาล เมื่อกฎหมายออกมาแล้วจะแจ้งให้ประชาชนรับทราบอีกครั้ง

“หลังวันที่ 5 ก.ย. นี้ ที่กฎหมายจราจรทางบก (ฉบับที่ 13) มีผลบังคับใช้ ผู้ฝ่าฝืนจะต้องถูกดำเนินการตามกฎหมาย แต่จะเริ่มปรับจริงเลยหรือไม่นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือแนวปฏิบัติ ยังไม่ได้ข้อยุติ ส่วนข้อกังวลที่ว่าตำรวจจะออกข้อบังคับให้นำกระบะ ไปติดตั้งเข็มขัดนิรภัยในแค็บหรือไม่นั้น เท่าที่ดูไม่ได้มีจุดให้ติดตั้ง แต่หากใครไปทำเองและแน่นหนา ช่วยให้ปลอดภัยมากขึ้น ก็ถือเป็นเรื่องที่ดี” พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กล่าว

พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กล่าวเพิ่มว่า ทั้งการบังคับนั่งแค็บและนั่งท้ายกระบะจะได้ข้อสรุปไปพร้อมๆ กันคือก่อนวันที่ 5 ก.ย.นี้ หากพบทำผิดกฎหมายจะต้องมีการทั้งว่ากล่าวตักเตือนและปรับตามขั้นตอนต่อไป ส่วนเรื่องคาร์ซีท อาจจะเลื่อนการบังคับใช้หลังวันที่ 5 ก.ย. เนื่องจากคาร์ซีทสำหรับเด็กยังต้องรอมาตรฐานของสภาอุตสาหกรรม เพื่อพิจารณาไม่ให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน ซึ่งยังไม่บังคับใช้กฎหมายในวันที่ 5 ก.ย.นี้

ด้านที่ น.ส.รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. กล่าวว่า สสส. สนับสนุนการดำเนินงานเต็มที่ โดยในเรื่องข้อกำหนดคาดเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่งนั้น จากข้อมูลยืนยันว่าเมื่อเกิดอุบัติเหตุ สามารถช่วยลดการบาดเจ็บและเสียชีวิตได้จริง เป็นการป้องกันการสูญเสียที่มีประสิทธิภาพ จึงขอฝากไปยังทุกคนว่า เมื่อถูกตำรวจเรียกตรวจ ขอให้เข้าใจการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่