หน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยเดินมาถึงช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์รับคำร้องวินิจฉัยวาระนายกฯ 8 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และมีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 ให้ พล.อ.ประยุทธ์ หยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค. จนกว่าจะมีคำวินิจฉัย

เมื่อพลิกบันทึกประวัติศาสตร์การเมืองไทย ศาลรัฐธรรมนูญถือกำเนิดขึ้นมาพร้อมรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ต่อเนื่องมาถึง รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560

โดยมีภารกิจหลักคือพิทักษ์ความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ และวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอํานาจของ นายกรัฐมนตรี, คณะรัฐมนตรี, สภาผู้แทนราษฎร, วุฒิสภา รวมไปถึงองค์กรอิสระ

ในห้วง 2 ทศศวรรษที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญได้เข้ามาเป็นตัวแปรสำคัญทางการเมือง เห็นได้จากกรณีวินิจฉัยให้นายกรัฐมนตรี หลายคนต้องพ้นจากตําแหน่ง รวมถึงมีคำสั่งยุบพรรคการเมือง และมีคำสั่งให้รัฐมนตรี, ส.ส., ผู้บริหารพรรคการเมือง ขาดคุณสมบัติในการดํารงตําแหน่งทางการเมือง

จากการตรวจสอบ นายกรัฐมนตรี ที่เคยถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้พ้นจากตําแหน่ง หรือสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ มีรายละเอียดดังนี้

(1) วันที่ 9 ก.ย.2551 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ ให้นายสมัคร สุนทรเวช นายกฯ คนที่ 25 พ้นจากตำแหน่ง จากกรณีเป็นลูกจ้างทำหน้าที่พิธีกรในรายการชิมไป บ่นไป หลังเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

(2) วันที่ 2 ธ.ค.2551 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ ยุบพรรคพลังประชาชน จากกรณีทุจริตการเลือกตั้ง รวมถึงตัดสิทธิทางการเมืองกรรมการบริหารพรรค 5 ปี ส่งผลให้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน และนายกฯ คนที่ 26 ต้องพ้นตำแหน่ง โดยปริยาย

(3) วันที่ 7 พ.ค.2557 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ ให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ คนที่ 28 พ้นจากตำแหน่ง จากกรณีใช้อำนาจแทรกแซงการโยกย้าย นายถวิล เปลี่ยนศรี ออกจากตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) โดยมิชอบ

(4) วันที่ 24 ส.ค.2565 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ รับคำร้องวินิจฉัยคุณสมบัตินายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และมีมติเสียงข้างมากให้ พล.อ.ประยุทธ์ หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกฯ ชั่วคราว จนกว่าจะมีคำวินิจฉัย และให้ พล.อ.ประยุทธ์ ยื่นคำชี้แจงข้อกล่าวหาต่อศาล รธน.ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้อง

หลังจากนี้ไม่นาน ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยคดี พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งถือเป็นนายกฯ คนที่ 4 ที่ถูกลากเข้ามาในเขตแดนอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ เดินตามรอยอดีตนายกฯ สมัคร-สมชาย-ยิ่งลักษณ์ ที่ถูกลากเข้าเขตแดนอำนาจศาลก่อนถูกประหารชีวิตทางการเมืองไปก่อนหน้านี้

คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ มีความพิเศษแตกต่างจากคำพิพากษาศาลทั่วไป เนื่องด้วยรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 มาตรา 211 กำหนดให้คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และหน่วยงานของรัฐ

ชะตากรรมของ พล.อ.ประยุทธ์ จะเป็นเช่นไร อีกไม่นานเกินรอได้รู้กัน!