คนไทยเรายอมรับกันแล้วว่าการไหว้เป็น “อัตลักษณ์หรือเอกลักษณ์ในวิถีไทย” แต่หากสืบค้นขึ้นไปถึงที่มาของการไหว้เราจะพบว่า ประเทศไทยและอีกหลาย ๆ ประเทศในทวีปเอเชีย เช่น ศรีลังกา เขมร พม่า ลาว ล้วนได้รับวัฒนธรรมการไหว้มาจากอินเดียประมาณพุทธศักราช 300 ซึ่งพระเจ้าอโศกมหาราชทรงส่งพระภิกษุมาเผยแผ่พระพุทธศาสนาในสุวรรณภูมิ
    
หลายท่านอาจจะพยักหน้าและยอมรับว่าใช่ เพราะเรานับถือพระพุทธศาสนา ซึ่งมีพุทธภูมิอยู่ที่อินเดียและในพระพุทธศาสนามีการไหว้ คือ “วันทา” หรืออัญชุลี เป็นวัฒนธรรมอยู่แล้ว ซึ่งในความเป็นจริงการไหว้ในอินเดียไม่ได้เริ่มมีเมื่อครั้งพุทธกาล แต่เกิดขึ้นและเป็นวัฒนธรรมที่สืบทอดจากอินเดียครั้งโบราณ ก่อนที่พระพุทธศาสนาจะเกิดขึ้นนับพันปี คือตั้งแต่ยุคที่เริ่มมีลัทธิพราหมณ์และฮินดู  ครั้นถึงยุคพุทธกาล ทางพุทธศาสนาจึงถือว่า การไหว้หรือการกราบไหว้ คือวัฒนธรรมของการแสดงความเคารพต่อสิ่งสูงสุดของศาสนาซึ่งได้แก่พระรัตนตรัยและถือเป็นวัฒนธรรมในสังคมดังที่เคยเป็นมาแต่ยุคดั้งเดิม
    
นักวิชาการด้านภาษาศาสตร์ถือว่าอินเดียเป็น “ต้นราก” ของ “ภาษามือ” ซึ่งมีท่าทางหรืออากัปกิริยาหลายพันท่าอันแสดงออกจากอารมณ์ต่าง ๆ ที่เรียกว่า มุทธา ซึ่งแปลว่า “หัว ยอด หรือที่สุด” อันจะเห็นได้จากการแสดงนาฏศิลป์หรือการฟ้อนรำแบบอินเดียที่เรียกว่า ภารตนาฏยัม ซึ่งมีท่าทางมากมายที่สื่อความหมายรวมทั้ง “ท่าไหว้” ซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจน
    
การไหว้นับเป็นกิริยาท่าทางที่แสดงการยอมรับ การเคารพยกย่อง การนอบน้อมถ่อมตน การขอบคุณ และการขออภัย  ซึ่งตรงกับลักษณะนิสัยอันสุภาพเรียบร้อยของคนไทยที่มีมาตั้งแต่ครั้งโบราณ  ดังนั้นการไหว้จึงเป็นมารยาทและวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ของไทยที่ชาติต่าง ๆ ทั่วโลกรู้จักเป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการแสดงศิลปวัฒนธรรมของประเทศหรือการประกวดนางงามในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นระดับโลกหรือระดับจักรวาล สุภาพสตรีไทยมักจะได้คะแนนนิยมจากการไหว้อันอ่อนโยนและงดงามคู่กับ “ยิ้มสยาม” อยู่เสมอ
ผู้เขียนอยากให้การกราบไหว้หรือโดยเฉพาะ “การไหว้” ของคนไทยเป็นวัฒนธรรมที่ได้รับการยกย่องและชื่นชมของคนทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นคนต่างชาติหรือคนไทยด้วยกันให้มากยิ่งขึ้น เพราะการไหว้นั้นคือสื่อที่แสดงถึงหรือแทนความรู้สึกหลายต่อหลายประการ เช่น
    
ก. เป็นการแสดงความเคารพต่อบุคคลหรือสิ่งควรเคารพ นับตั้งแต่พระรัตนตรัยและผู้ที่ควรหรือต้องเคารพ ได้แก่ บิดามารดา ครู อาจารย์ ญาติผู้ใหญ่หรือผู้อื่นที่สูงวัยกว่า หรือมีตำแหน่งหน้าที่สูงกว่า ผู้ที่เป็นทหารหรือตำรวจก็จะแสดงความเคารพผู้บังคับบัญชาหรือผู้ที่มีชั้นมีตำแหน่งยศสูงกว่าด้วยการวันทยหัตถ์หรือวันทยาวุธตามแต่กรณี ถ้าไม่ใช่ทหาร ตำรวจ แต่เป็นข้าราชการพลเรือนหรือบุคลากรในหน่วยงานต่าง ๆ และประชาชนคนทั่วไป  เราก็จะใช้การไหว้เพื่อแสดงความเคารพ “ผู้สูงอาวุโส” กว่าเรา
    
ข. เป็นการแสดงความขอบคุณหรือการระลึกถึงคุณงามความดี คนไทยเรานั้น  ถ้าใครมีบุญคุณหรือทำอะไรให้เรา เราก็จะไหว้ขอบคุณ ตั้งแต่การกระทำเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ “ไหว้วาน” กันหรือมีน้ำใจทำให้กัน ถ้าสองฝ่ายมีอายุอานามหรือมีสถานภาพพอ ๆ กัน เราก็จะไหว้พร้อมทั้งกล่าวขอบคุณ ไปจนถึงการขอบคุณบุคคลผู้มีบุญคุณอันยิ่งใหญ่ คือ บิดามารดา ต่อมาก็คือญาติผู้ใหญ่ บรรพบุรุษของวงศ์ตระกูล หรือครูบาอาจารย์ คนไทยเราก็จะไหว้ขอบคุณกันอยู่แล้วในเวลาปกติ รวมทั้งจะไหว้เป็นประเพณีหรือพิธีการด้วย เช่น ประเพณีสงกรานต์ หรือพิธีไหว้ครู
    
ค. เป็นการให้เกียรติทักทาย การพบปะและการอำลา คนไทยจะใช้การไหว้ เพื่อให้เกียรติซึ่งกันและกัน ใครจะไหว้ก่อนหรือไหว้ทีหลัง (รับไหว้หรือไหว้ตอบ) ก็จะเป็นไปตามความเหมาะสมโดยวัยและโดยสถานภาพ ส่วนตอนจะจากกัน ถ้าไม่ใช่เด็ก  เยาวชน หรือคนสมัยใหม่ ซึ่งชอบพอสนิทสนมกัน  เราจะใช้วิธีไหว้ซึ่งน่าจะดูงามกว่าวิธียกมือขวาโบกแล้วร้อง “บ๊าย บาย”
    
ง. เป็นการขออภัย การไหว้เป็นวิธีหนึ่งที่เราอาจจะใช้เพื่อแสดงการขออภัยที่ได้ล่วงเกินผู้อื่น จะโดยเจตนา ไม่เจตนา  หรือจะโดยความจำเป็นก็ตาม เช่น เรานั่งรถบัสปรับอากาศเดินทางไปต่างจังหวัดไกล ๆ เราต้องเก็บสิ่งของไว้บนหิ้งหรือชั้นเก็บของที่อยู่เหนือที่นั่งของผู้โดยสารอีกคนหนึ่งซึ่งนั่งคู่กับเรา แต่เราถึงจุดหมายปลายทางก่อน  เราจึงต้องยืนขึ้นหยิบสิ่งของบนชั้นเหนือศีรษะของบุคคลนั้น  ซึ่งเราควรจะไหว้ขออภัยเสียก่อน เพราะวัฒนธรรมไทยเราถือว่าศีรษะหรือ “หัว” เป็นของสูง ถ้าเราสามารถหยิบลงมาได้แต่โดยดีก็เพียงแต่ไหว้ขออภัยก่อนก็พอ แต่ถ้าหยิบแล้วเกิดมีของหล่นลงมาบน อวัยวะเบื้องสูงของเขา ไม่ว่าจะถึงขนาดคอย่นหรือไม่ย่นก็ตามทีเถอะ เราอาจจะต้องเปลี่ยนจากการไหว้ เป็นการ “กราบงาม ๆ” เลยทีเดียว
    
จ. การขอร้องหรือร้องขอ เมื่อเรามีความจำเป็นจะต้องขอความช่วยเหลือจากผู้ที่เรารู้จักหรือเคารพนับถือ การไหว้ประกอบคำขอร้องก็มีส่วนที่จะทำให้ผู้ที่ถูกเราขอร้องเห็นว่า เรื่องที่เราขอนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญหรือจำเป็นสำหรับเราจริง ๆ และเราขอร้องด้วยความเคารพยกย่องและให้เกียรติเขาด้วย ถ้าเป็นสิ่งที่เขาพอจะช่วยเหลือได้และไม่ผิดทำนองคลองธรรม  เขาก็อาจจะช่วยเราโดยเรื่องที่เขาช่วยเราอาจจะมีประโยชน์หรือคุณค่ามากมาย เทียบไม่ได้กับการไหว้งาม ๆ เพียงครั้งเดียว ดังนั้นการไหว้ประกอบคำขอร้องจึงเป็นเรื่องที่จำเป็นและถูกต้องแล้ว
    
การที่ผู้เขียนกล่าวมาข้างต้นและนำเสนอเรื่องจริงที่น่าสนใจเกี่ยวกับการไหว้ก็ด้วยความปรารถนาที่จะชวนเชิญให้ท่านผู้อ่านเห็นถึงคุณค่าและความสำคัญของ “การไหว้” และทำให้ “วัฒนธรรมการไหว้” เป็นประโยชน์ทั้งต่อตนเองและเป็นเอกลักษณ์ อัตลักษณ์อันน่ายกย่องของส่วนรวมคือประเทศชาติของเราต่อไป
    
ถ้าท่านอ่านแล้วเห็นว่า  การไหว้เป็นวัฒนธรรมไทยที่ไม่ธรรมดา ก็กรุณาปฏิบัติเป็นตัวอย่างและหนุนเสริมเด็กเยาวชนหรือคนที่ “มือแข็ง” หรือคนที่ชอบยกมือโบกและกล่าว “บ๊าย บาย” ในกรณีที่ไม่เหมาะไม่ควรด้วยเถิด

ประพีร์พรรณ  ภาณวะวัฒน์
กรรมการบริหารชมรมข้าราชการและครูอาวุโส
ของกระทรวงศึกษาธิการ