“เพลงชาติไทย” อีกหนึ่งบทเพลงสำคัญยิ่งของประเทศไทย จากการประพันธ์ทำนองโดย พระเจนดุริยางค์ โดยกว่าจะมาเป็น “เพลงชาติไทย” แบบที่ชาวไทยใช้ร้องกันในปัจจุบันนั้น มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมาย จุดกำเนิดของเพลงชาติไทย เริ่มจาก สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ได้ใช้เพลงสรรเสริญพระบารมีเป็นเพลงถวายความเคารพองค์พระมหากษัตริย์ และอนุโลมกันว่าเป็นเพลงชาติไทย ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 มีการใช้เพลงชาติมหาชัย ประพันธ์เนื้อร้องโดย เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) มาเป็นเพลงชาติเวลา 7 วัน ในช่วงที่รอการแต่งเพลงชาติจาก พระเจนดุริยางค์ ก่อนที่จะได้เพลงชาติใหม่

สำหรับเนื้อเพลงชาติไทยฉบับแรก ประพันธ์เนื้อร้องโดย ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธ์) ในปี พ.ศ. 2475 ซึ่งเป็นฉบับไม่เป็นทางการ และเป็นฉบับต้องห้าม ประพันธ์ในรูปฉันทลักษณ์แบบกลอนสุภาพ (กลอนแปด) ความยาว 4 บท แต่ละบทมี 4 วรรค ก่อนที่รัฐบาลจะมีการจัดประกวดเนื้อเพลงชาติใหม่ในปี พ.ศ. 2477  ดำเนินการประกวดเพลงชาติ 2 แบบ คือ เพลงชาติแบบไทย (ประพันธ์ขึ้นโดยดัดแปลงจากดนตรีไทยเดิม) และเพลงชาติแบบสากล แต่ท้ายที่สุดรัฐบาลตัดสินใจใช้เพลงชาติแบบสากล และไม่เสนอเพลงชาติแบบไทยให้ประกาศรับรองเป็นเพลงชาติ

สำหรับ เพลงชาติแบบสากล ได้ใชทำนองเพลงที่ประพันธ์โดยพระเจนดุริยางค์ บทร้องได้เลือกบทร้องของขุนวิจิตรมาตรา เพิ่มเติมกับบทร้องชนะเลิศ และได้เพิ่มบทร้องของนายฉันท์ ขำวิไล ซึ่งเป็นบทร้องที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศเข้าอีกชุดหนึ่ง คณะรัฐมนตรีได้ประกาศรับรองให้เป็นบทร้องเพลงชาติฉบับราชการเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2477 รูปแบบเป็นกลอนแปด ยาว 4 บท บทละ 4 วรรค และใช้เวลาร้องนานถึง 3 นาที 52 วินาที 

ภายหลังปี พ.ศ. 2482 ประเทศสยาม เปลี่ยนชื่อเป็น ประเทศไทย ทางรัฐบาลจึงได้ประกวดแต่งเนื้อร้องเพลงชาติไทย ให้สอดคล้องกับชื่อประเทศไทย โดยใช้ทำนองของพระเจนดุริยางค์อยู่เช่นเดิม และกำหนดความยาวเพียง 8 วรรคเท่านั้น โดยเนื้อเพลงที่ชนะเลิศเป็นของพันเอกหลวงสารานุประพันธ์ ประกวดในนามกองทัพบก และนำมาใช้จริงจนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีการปรับคำจากต้นฉบับที่ชนะการประกวดเล็กน้อย 

ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย

เป็นประชารัฐ ไผทของไทยทุกส่วน

อยู่ดำรงคงไว้ได้ทั้งมวล

ด้วยไทยล้วนหมาย รักสามัคคี

ไทยนี้รักสงบ แต่ถึงรบไม่ขลาด

เอกราชจะไม่ให้ใครข่มขี่

สละเลือดทุกหยาดเป็นชาติพลี

เถลิงประเทศชาติไทยทวี มีชัย ชโย