เมื่อวันที่ 5 ก.ย. ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวความคืบหน้าการ ตรวจภูมิคุ้มกันโรคฝีดาษวานร (Monkeypox) ในคนไทยที่เคยได้รับการปลูกฝีเพื่อป้องกันฝีดาษคนหรือไข้ทรพิษในประเทศไทยว่า ขณะนี้มีรายงานการติดเชื้อฝีดาษวานรในประเทศไทย 7 ราย เป็นสายพันธุ์ A.2 จำนวน 6 รายและสายพันธุ์ B.1 มี1 ราย กรมวิทย์ฯ ได้เก็บตัวอย่างเชื้อจากผู้ติดเชื้อมาเพาะเพิ่มจำนวนและนำไปทดสอบภูมิคุ้มกันกับคนที่เคยปลูกฝีในประเทศไทยโดยใช้การตรวจที่เป็นมาตรฐานสากล แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คืออายุ 45-54 ปี 10 คน อายุ 55-64 ปี 10 ปี และอายุ 65 ปีขึ้นไป จำนวน 10 ราย

ผลการทดสอบกลุ่มอายุ 45-54 ปี พบว่า ส่วนใหญ่ภูมิคุ้มกันไม่มีใครขึ้นมาถึง 32 ไตเติล ซึ่งเป็นระดับภูมิคุ้มกันที่ถือว่าจัดการกับโรคได้ ส่วนกลุ่มอายุ 55-64 ปีพบว่าภูมิคุ้มกันไม่แตกต่างจากกลุ่มแรก มีเพียง 2 รายเท่านั้น ที่มีภูมิสายพันธุ์ A.2A.2 อยู่ที่ 35 ไตเติล และ 39 ไตเติล ถือว่าป้องกันได้แบบปริ่มๆ ไม่ได้ชัวร์อะไรมาก ขณะที่กลุ่ม อายุ 65 ปีขึ้นไป ไม่มีค่าภูมิคุ้มกันถึงเกณฑ์ส่วนคนที่ไม่ได้วัคซีนอะไรเลย เป็นเด็กที่เกิดรุ่นหลังไม่ได้รับการปลูกฝีมาก่อน มีการตรวจ 3 รายพบว่าไม่มีภูมิอะไรทั้งสิ้น ป้องกันไม่ได้

“สรุปคนที่เคยปลูกฝีในประเทศไทย อายุ 40 ปี ขึ้นไป ส่วนใหญ่ป้องกันโรคฝีดาษวานรไม่ได้ ภูมิคุ้มกันขึ้นมาเล็กๆ น้อยๆ ส่วน 2 รายที่ขึ้นมา ก็เป็นแบบปริ่มๆ” นพ.ศุภกิจ กล่าว

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ชี้แจงว่า วันนี้วัคซีนฝีดาษวานรโดยตรงนั้นยังไม่มี วัคซีนที่ใช้คือวัคซีนฝีดาษคน ซึ่งฉีดแล้วสามารถข้ามไปป้องกันดาษวานรด้วย ได้ผลประมาณ 85% ตอนนี้มีวัคซีนรุ่น 3 ซึ่งอเมริกา และยุโรป อนุมัติให้ใช้แล้ว วิธีใช้ คือฉีดเข้าชั้นผิวหนัง 0.1 มิลลิลิตร และอีกวิธีคือฉีดเช้าชั้นใต้ผิวหนังครึ่งซีซี ซึ่งประเทศไทยจัดซื้อประมาณ 1 พันโด๊ส ฉีดคนละ 2 โด๊ส ฉีดได้ประมาณ 500 คน คณะกรรมการวิชาการจะมีการตั้งกติการฉีดอีกครั้ง เพราะราคาแพงพอสมควรและยังไม่ใช่วัคซีนที่ใช้ฉีดเป็นการทั่วไป.