รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) แจ้งว่า รฟท. ได้ออกประกาศเชิญชวน โดยมีความประสงค์จะให้เช่าสิทธิจำหน่ายอาหาร และเครื่องดื่มบนขบวนรถ (ตู้เสบียง) กลุ่มขบวนรถด่วนพิเศษ ชุด 115 คัน รวม 8 ขบวน 4 เส้นทาง ด้วยวิธีเสนอโครงการจัดบริการและเสนอราคาค่าเช่าฯ ซึ่งผู้ที่ได้คะแนนรวมสูงสุดจากการเสนอโครงการ และการเสนอราคา จะเป็นผู้ได้รับสิทธิการเช่า มีอายุสัญญา 3 ปี ทั้งนี้ รฟท. กำหนดขายเอกสารประกอบการยื่นเสนอโครงการ ตั้งแต่วันที่ 27 ก.ย.-17 ต.ค.65 ราคารวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ชุดละ 5,350 บาท และกำหนดยื่นซองเสนอโครงการวันที่ 3 พ.ย.65

รายงานข่าวแจ้งต่อว่า รฟท. หยุดจำหน่ายอาหาร และเครื่องดื่มบนขบวนรถไฟให้แก่ผู้โดยสาร มาตั้งแต่เดือน เม.ย.63 เนื่องจากเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายลง และมีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ โดยเฉพาะให้รถไฟสามารถจัดพื้นที่รับประทานอาหาร หรือตู้เสบียงภายในขบวนรถได้ รฟท. จึงกลับมาให้บริการอีกครั้ง เพื่ออำนวยความสะดวกผู้โดยสาร สามารถซื้ออาหารในตู้เสบียงที่สะอาด ถูกหลักอนามัยและราคาเป็นธรรม โดยจะให้บริการตั้งแต่เวลา 05.30-22.00 น. เบื้องต้นคาดว่าจะได้ผู้ได้รับสิทธิการเช่า และเปิดให้บริการผู้โดยสารได้ทันปลายเดือน ธ.ค.65 ช่วงเทศกาลคริสตมาส และเทศกาลปีใหม่ 66     

รายงานข่าวแจ้งอีกว่า สำหรับรถด่วนพิเศษ ชุด 155 คัน รวม 8 ขบวน ประกอบด้วย ขบวนที่ 9/10 ก. เส้นทาง กรุงเทพ-เชียงใหม่-กรุงเทพ อัตราค่าเช่าต่อเดือน (ไม่รวมภาษี) 63,000 บาท, ขบวนที่ 9/10 ข. เส้นทางกรุงเทพ-เชียงใหม่-กรุงเทพ 63,000 บาท, ขบวนที่ 23/24 ก. เส้นทาง กรุงเทพ-อุบลราชธานี-กรุงเทพ 57,000 บาท, ขบวนที่ 23/24 ข. เส้นทาง กรุงเทพ-อุบลราชธานี-กรุงเทพ 57,000 บาท, ขบวนที่ 25/26 ก. เส้นทางกรุงเทพ-หนองคาย-กรุงเทพ 57,000 บาท, ขบวนที่ 25/26 ข. เส้นทาง กรุงเทพ-หนองคาย-กรุงเทพ 57,000 บาท, ขบวนที่ 31/32 ก. เส้นทาง กรุงเทพ-หาดใหญ่-กรุงเทพ 71,000 บาท และขบวนที่ 31/32 ข. เส้นทางกรุงเทพ-หาดใหญ่-กรุงเทพ 71,000 บาท ทั้งนี้อัตราค่าเช่าต่อเดือนรวมประมาณ 4.96 แสนบาท หรือประมาณ 5.95 ล้านบาทต่อปี 

รายงานข่าวแจ้งต่อว่า รฟท. ได้ปรับอัตราค่าเช่าต่อเดือนลงเกือบ 50% เพื่อจูงใจผู้ประกอบการ เนื่องจากเข้าใจดีว่าปัจจุบันปริมาณผู้โดยสารที่มาใช้บริการรถไฟ ยังไม่กลับสู่สภาวะปกติ นอกจากนี้เอกชนยังคงได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ด้วย ขณะที่ รฟท. ก็ต้องการให้ได้ผู้ประกอบการ เพื่อให้ผู้โดยสารได้ใช้บริการในระหว่างการเดินทาง อย่างไรก็ตามยอมรับว่า การได้สิทธิการเช่าจำหน่ายอาหาร และเครื่องดื่มบนขบวนรถ 8 ขบวนนั้น ต้องใช้พนักงานจำนวนมากไม่ต่ำกว่า 40 คน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ผู้ประกอบรายต่างๆ ประสบปัญหา เพราะช่วงโควิด-19 พนักงานเดิมได้ลาออกไปทำงานอื่นกันหมดแล้ว แต่ทั้งนี้สุดท้ายแล้วหากไม่มีผู้ใดมายื่นข้อเสนอ รฟท. อาจต้องเปิดประมูลเป็นรายขบวนต่อไป   

รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า ผู้ที่สนใจยื่นเสนอโครงการดังกล่าว ขอทราบรายละเอียดได้ที่ งานการเช่าและบริหารสัญญา กองบริหารสัญญาธุรกิจด้านโดยสาร ฝ่ายบริการโดยสาร ชั้น 2 อาคารสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) ทุกวันทำการ เวลา 09.00-12.00 น. และเวลา 13.00 – 16.00 น. โทร. 0-2220-4628 หรือ 0-2621-8701 ต่อ5286 โดยต้องเป็นนิติบุคคล ดำเนินกิจการตามประกาศเชิญชวนฯ ได้ และต้องมีทุนจดทะเบียนที่ชำระมูลค่าหุ้นแล้วไม่น้อยกว่า 5 ล้านบาท