จากประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยา เตือนร่องมรสุมทำให้เกิดฝนตกหนักในช่วงวันที่ 19-21 ก.ย. เมื่อวันที่ 19 ก.ย. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า ตอนนี้สถานการณ์ฝนและน้ำในคลองดีขึ้น คลองมีการพร่องน้ำออกให้อยู่ต่ำกว่าระดับควบคุม แต่ก็มีบางจุดยังมีน้ำท่วมขัง ซึ่งได้ส่งเจ้าหน้าที่ช่วยสูบน้ำออกแล้ว ทั้งนี้ เมื่อช่วงเช้ามีการตรวจสอบปริมาณน้ำฝนที่ตกในเดือน ก.ย.65 พบว่าเพิ่มขึ้น 2.5 เท่าหรือกว่า 400 มม. จากปกติในค่าเฉลี่ยเดือน ก.ย.ย้อนหลัง 30 ปี อยู่ประมาณ 100 มม. ซึ่ง กทม.เตรียมพร้อมรับมือฝนระลอกใหม่ทุกจุด โดยจะเร่งขุดลอกท่อ เก็บผักตบชวา เพื่อช่วยการช่วยเร่งระบายน้ำให้ได้มากที่สุด

นาย​ชัชชาติ กล่าวว่า ส่วนสถานการณ์น้ำเหนือ และน้ำทะเลหนุนยังไม่น่าเป็นห่วง หากเกิดน้ำหนุน ยังพอมีช่องว่างให้ระบาย ซึ่งปลายเดือนนี้จะมีน้ำหนุนมาอีกที แต่ก็ขึ้นอยู่กับกรมชลประทานจะปล่อยน้ำเหนือมากแค่ไหน ซึ่งก็มีการประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเข้มข้น

นาย​ชัชชาติ กล่าวต่ออีกว่า ในวันพรุ่งนี้ (20 ก.ย.) จะมีการเสนอแผนการจัดการน้ำภาคตะวันออก ในการประชุมซักซ้อมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาทรัพยากรน้ำ โดยการสร้างอุโมงค์ที่เอาน้ำจากคลองลำปลาทิว เขตลาดกระบัง ออกไปคลองร้อยคิวของกรมชลประทานให้เร็วขึ้น โดย กทม.เป็นผู้นำเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูภาพรวม หากสามารถทำได้ก็จะบรรเทาสถานการณ์น้ำท่วมขังของกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออกดีขึ้น รวมถึงกรุงเทพฯ ชั้นในด้วย เพราะน้ำไม่ต้องไหลเข้ามา

“แต่ก่อนพื้นที่กรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออก เป็นพื้นที่ ฟลัดเวย์ หรือทางวิ่งน้ำท่วมลงมา แต่ปัจจุบันพื้นที่กายภาพเปลี่ยนไปแล้ว มีทั้งถนนกรุงเทพกรีฑาตัดใหม่ ถนนบางนา-ตราด มีสนามบินสุวรรณภูมิ การใช้แนวคิดฟลัดเวย์แบบเดิม อาจจะไม่สะดวกแล้ว เพราะมีสิ่งปลูกสร้างต่างๆ เยอะแยะ”

นาย​ชัชชาติ กล่าวต่อว่า แผนเดิมของกรมชลประทาน จะใช้วิธีการขยายคลอง รวมไปถึงการทำทางด่วนคลอง จากแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสักลงอ่าวไทยโดยตรง แต่การทำคลองต้องมีการเวนคืนที่ และทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) จำนวนมากและใช้เวลานาน รวมถึงสภาพคลองใน กทม. มีความราบเรียบ ทำให้น้ำในคลองไหลช้า การทำอุโมงค์จะทำให้น้ำไหลเร็วขึ้น

ในอนาคตต้องมีการทบทวนยุทธศาสตร์ใหม่ เพราะปริมาณน้ำฝนเพิ่มขึ้นจริงๆ ที่มีการหารือกับ อ.เสรี ศุภราทิตย์​ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ ม.รังสิต เมื่อวันที่ 17 ก.ย.ที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้เกิดฝนตกรุนแรงขึ้น ต้องมาทบทวนทำ Scenario planning ใหม่ ว่าจะเพิ่มกำลังแต่ละส่วนยังไง

สำหรับการพิจารณาเรื่องหลักเกณฑ์การเยียวยาสำหรับผู้ที่ประสบปัญหาน้ำท่วม ในเขตลาดกระบัง นาย​ชัชชาติ กล่าวว่า เมื่อประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติ ทางกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เป็นผู้มีอำนาจในการให้เงินช่วยเหลือเยียวยา ส่วนสำนักงานเขตเขตมีหน้าที่รวบรวมความมีหน้าที่รวบรวมความเสียหายในแต่ละหลังคาเรือน รวมถึงพื้นที่เกษตรกรรมให้กับทาง ปภ.พิจารณา

นาย​ชัชชาติ กล่าวว่า ส่วนการหารือร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดอื่นๆ รอบข้าง อาจมีการนัดแบบตัวต่อตัวเพื่อพูดคุยและวางแผนรับมือทั้งเรื่องน้ำ, การควบคุมการเผาชีวมวล เพื่อลดฝุ่น PM 2.5 ซึ่งอยากจะนัดนายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าฯ จ.ปทุมธานี เป็นคนแรกก่อน

ผู้สื่อข่าวถามเพิ่มเติมว่า จะมีการนัดคุยกับนายณรงค์ศักดิ์ในเร็วๆ นี้หรือไม่ นาย​ชัชชาติ กล่าวว่า เร็วๆ นี้แหละ นัดอยู่ ท่านคงกำลังออกจากโรงพยาบาล ก็อยากจะไปเยี่ยมท่านด้วย ก็คิดถึงท่านเหมือนกัน

สำหรับการประชุมคณะกรรมการลุ่มน้ำท่าจีน ครั้งที่ 4/2565 ในช่วงบ่ายวันนี้ นาย​ชัชชาติ กล่าวว่า ภาพรวมการระบายน้ำในที่ต่างๆ เกี่ยวข้องกับ กทม.ทั้งหมด โดย กทม.เข้าไปนั่งเป็นคณะกรรมการ 3 ลุ่มน้ำ ประกอบด้วย ลุ่มแม่น้ำท่าจีน ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และลุ่มแม่น้ำบางปะกง

กรมชลประทานมีหน้าที่ในการผันน้ำเป็นหลัก กรุงเทพฯ เป็นฝ่ายรับน้ำ ก็ต้องรู้ว่าน้ำจะมาตรงไหนเมื่อไหร่ อย่างคลองมหาสวัสดิ์ โดยฝั่ง กทม.มีเขื่อนกั้น ส่วน จ.นนทบุรี ไม่มีเขื่อน ทำให้เวลาน้ำมาก็ไปท่วมฝั่ง จ.นนทบุรี แต่ถ้าทุกจังหวัดมีเขื่อนหมด น้ำก็จะไหลเร็วขึ้น ความร่วมมือระหว่างจังหวัดจึงเป็นเรื่องสำคัญ.