เมื่อวันที่ 14 พ.ย. นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เปิดเผยถึงกรณีที่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราชมีพระวินิจฉัยให้ส.ป.ก. ร่วมกับมหาเถรสมาคมและสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติพิจารณาการใช้ดินของส.ป.ก. ตั้งเป็นวัดและสำนักสงฆ์ โดยให้เป็นไปตามกฎหมาย มีความเหมาะสม และเกิดประโยชน์ต่อประชาชนในท้องถิ่นนั้น ล่าสุดส.ป.ก. ได้แก้ไขระเบียบอนุญาตให้วัดใช้ประโยชน์ที่ดินโดยกำหนดให้ วัดเป็นผู้ยื่นขอใช้ที่ดินของวัด ส่วนสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เป็นผู้ยื่นขอการใช้ที่ดินของสำนักสงฆ์ ซึ่งเขตสังฆาวาสนั้น ส.ป.ก. จะพิจารณาอนุญาตตามความจำเป็น แต่ไม่เกิน 100 ไร่ พุทธอุทยานจะพิจารณาตามความจำเป็น แต่ไม่เกิน 1,000 ไร่ ในกรณีที่ขอมาเกินกว่าที่กำหนดจะต้องพิจารณาตามความจำเป็น รวมทั้งผลกระทบทางด้านสังคม สิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ และการใช้ประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่น 

ทั้งนี้ในการขออนุญาตต้องจัดทำผัง รูปแผนที่ที่กำหนดชัดเจนว่า ส่วนใดเป็นสังฆาวาส เขตพุทธอุทยาน และเขตที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน โดยระบุด้วยว่า ใช้ประโยชน์อย่างไร ส่วนกรณีที่มีการปลูกป่าต้องระบุว่า เป็นไม้ประเภทหวงห้ามตามกฎหมายป่าไม้อย่างชัดเจน เมื่อยื่นขออนุญาตมาแล้ว ทางส.ป.ก. จะนำเสนอมหาเถรสมาคมเพื่อวินิจฉัยให้ความเห็นประกอบ ก่อนนำเสนอคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมพิจารณาเพื่ออนุญาตตามความเหมาะสมต่อไป

เลขาธิการฯส.ป.ก. กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบการเอกชนรายใหญ่ครอบครองที่ดินแปลงศูนย์เรียนรู้ฟ้าประทานและไร่ฟลอร่า พาร์ค ที่อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ว่า ได้ให้ปฏิรูปที่ดินจังหวัดตรวจสอบโดยละเอียดทั้งคุณสมบัติของผู้ครอบครองซึ่งตามกฎหมายต้องเป็นเกษตรกรหรือผู้ยากไร้ การใช้ประโยชน์ที่ดินซึ่งต้องใช้ทำเกษตรกรรมหรือกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน ทั้งนี้ปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครราชสีมาได้ติดประกาศแจ้งผู้ครอบครองให้มาชี้แจงแล้ว โดยผู้ครอบครองได้ทำหนังสือขอเลื่อนการเข้าชี้แจงโต้แย้งออกไป 30 วัน โดยจะต้องมาภายในวันที่ 6 ธ.ค. นี้

สำหรับรีสอร์ทที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในอำเภอวังน้ำเขียว ได้สั่งการให้ตรวจสอบทั้งหมด หากอยู่ในที่ดินส.ป.ก. แล้วพบว่า ใช้ประโยชน์ในที่ดินผิดวัตถุประสงค์ รวมทั้งมีการซื้อขายเปลี่ยนมือหรือไม่ รวมทั้งให้ตรวจสอบการครอบครองที่ดินส.ป.ก. ทั่วประเทศอย่างละเอียด โดยกำหนดให้เสร็จสิ้นภายในสิ้นเดือนนี้ ตามคำสั่งนายกฤษฏา บุญราช รมว.เกษตรฯหากพบว่า ไม่เป็นไปตามพ.ร.บ. การปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมจะนำเสนอรมว.เกษตรฯเพื่อพิจารณาดำเนินการดำเนินการทางกฎหมาย ทั้งยึดคืนและอาจรวมถึงฟ้องร้องให้ชดใช้ค่าเสียหายจากการใช้ที่ดินที่เป็นของรัฐ 

นายวิณะโรจน์ กล่าวว่า ส่วนกรณีที่ดินสวนส้มในอำเภอฝางและแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ 5,900 ไร่ซึ่งเป็นที่ดินยึดคืนจากผู้ประกอบการสวนส้มรายใหญ่ 3 รายคือ สวนส้มธนาธร สวนส้มเชียงใหม่มิตรเกษตร และสวนส้มอมรมิตร ตามมาตรา 44 นั้น นายวิณโรจน์กล่าวว่า ทางคณะกรรมการนโยบายที่ดินจังหวัด​ (คทช.) ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานได้คัดสรรเกษตรกรและผู้ยากไร้เพื่อเข้าทำกิน โดยคัดสรรผู้มีคุณสมบัติได้แล้ว 300 คนและสำรองไว้ 64 คน ส่วนจะมีลูกจ้าง​ของ​ผู้​ประกอบ​การสวนส้มซึ่ง​ยื่นขอเข้าทำกินในพื้นที่​ดังกล่าว​จำนวน​ 97 รายได้รับสิทธิ​ด้วยหรือไม่​นั้น​ ตนยังไม่ทราบ​ เป็นการพิจารณา​ของคทช.​ จังหวัด​ หากรายใดมีคุณสมบัติ​ตามข้อกำหนด​ก็อาจได้รับการพิจารณา​ให้เข้าทำกิน​ แต่ยังไม่ได้จัดว่า รายใดเข้าจะเข้าใช้ประโยชน์ในแปลงไหน ทั้งนี้เมื่อทางคทช.​จังหวัดจัดสรรเรียบร้อยแล้ว จึงเป็นหน้าที่ของกระทรวงเกษตรฯ และส.ป.ก. ที่จะเข้าไปพัฒนาอาชีพ โดยต้นส้มที่มีอายุมากแล้วจะโค่นทิ้งแล้วส่งเสริมอาชีพเกษตรอื่น ทั้งนี้การเข้าทำประโยชน์จะให้ทำในลักษณะแปลงรวม เป็นกลุ่มเกษตรกรเพื่อให้มีความเข้มแข็งในการประกอบอาชีพ.