เมื่อวันที่ 24 ก.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในโลกออนไลน์ได้มีการแชร์ข้อความจาก เพจเฟซบุ๊กของ ทนายอนันต์ชัย ไชยเดช โดยระบุว่า “…มุมมองข้อกฎหมายของทนายอนันต์ชัย ไชยเดช กรณีการแจ้งความดำเนินคดีในความผิดต่อ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 มาตรา 44 ตรี” ผมชมรายการ #โหนกระแส ของคุณหนุ่ม กรรชัย ที่มีทั้งทนาย อดีตพระภิกษุสงฆ์ และฆราวาส มาแสดงความคิดเห็นกัน ฟังแล้วรู้สึกไม่สบายใจ ผมจึงอยากจะแสดงความคิดเห็นในฐานะนักกฎหมายและทนายความไว้เป็นความรู้ โดยขอใช้ภาษาชาวบ้านเพื่อง่ายต่อความเข้าใจของท่านมิได้เป็นนักกฎหมายดังนี้ครับ…

กรณีที่พระชาตรี ได้ไลฟ์สด กล่าวหาคุณไพรวัลย์ก่อน ซึ่งอาจเข้าข่ายเป็นการกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328 และต่อมาคุณไพรวัลย์โต้ตอบเอาบ้าง ดังนี้ พระชาตรีจะสามารถแจ้งความดำเนินคดีกับคุณไพรวัลย์ในความผิดฐานหมิ่นประมาทได้หรือไม่ ปัญหาข้อนี้อธิบายได้ว่า พฤติการณ์ระหว่างพระชาตรีกับคุณไพวัลย์เปรียบเสมือนต่างฝ่ายต่างสาดน้ำเข้าใส่กัน ทำนองเดียวกับการสมัครใจวิวาท เมื่อเป็นดังนี้ทั้งพระชาตรีและคุณไพวัลย์ต่างฝ่ายต่างก็ไม่ใช่ผู้เสียหายจึงหามีอำนาจร้องทุกข์ให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีในความผิดฐานหมิ่นประมาทซึ่งเป็นความผิดต่อส่วนตัวได้ไม่ และหากกล่าวในมุมของพระชาตรียังถือว่า พระชาตรีเป็นผู้ก่อและมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดนี้อีกด้วย อย่างไรเสียพระชาตรี ก็มิใช่ผู้เสียหาย และมิอาจดำเนินคดีกับคุณไพวัลย์ในความผิดฐานหมิ่นประมาทได้แต่อย่างใด

สำหรับกรณีที่มีทนายความท่านหนึ่ง ชื่อทนาย ธ.ไปแจ้งความดำเนินคดีกับคุณไพรวัลย์ ตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 มาตรา 44 ตรี “ผู้ใดใส่ความคณะสงฆ์…อันอาจก่อให้เกิดความเสื่อมเสีย หรือความแตกแยก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” นั้น ผมขอถามว่าพระชาตรีเป็น “คณะสงฆ์” หรือ

คำว่า “คณะสงฆ์” มีคำนิยามไว้ใน มาตรา 5 ทวิ ว่า “#คณะสงฆ์” หมายความว่า “บรรดาพระภิกษุที่ได้รับบรรพชาอุปสมบทจากพระอุปัชฌาย์ตามพระราชบัญญัตินี้ หรือตามกฎหมายที่ใช้บังคับก่อนพระราชบัญญัตินี้ไม่ว่าจะปฏิบัติศาสนกิจในหรือนอกราชอาณาจักร” และตามพจนานุกรมไทย ได้ให้คำจำกัดความ คำว่า #คณะ [คะนะ-] ไว้หมายถึง น. หมู่ พวก (ซึ่งแยกมาจากส่วนใหญ่) กลุ่มคนผู้ร่วมกันเพื่อการอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น คณะกรรมการ #คณะสงฆ์ คณะนักท่องเที่ยว หน่วยงานในมหาวิทยาลัยหรือสถาบันที่เทียบเท่า ซึ่งรวมภาควิชาต่าง ๆ …

สรุป คำว่า #คณะสงฆ์ จะต้องประกอบด้วยพระภิกษุสงฆ์ ตั้งแต่ 2 รูปขึ้นไป จึงจะเป็น “คณะสงฆ์” ได้ พระภิกษุสงฆ์ เพียง 1 รูป ไม่สามารถเป็นคณะสงฆ์ได้ การที่คุณไพวัลย์ กล่าวหา พระชาตรี #จึงมิใช่เป็นการกล่าวหาคณะสงฆ์ ดังนั้น ผมจึงเห็นว่า กรณีนี้ ทนาย ธ.ไม่สามารถร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีกับคุณไพรวัลย์ ทั้งข้อหาหมิ่นประมาทคณะสงฆ์ ตามมาตรา 44 ตรี แห่ง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 และข้อหาหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และ 328 ครับ

ที่สำคัญถ้าหากมีการแจ้งความโดยบิดเบือนข้อเท็จจริงอาจโดนข้อหาแจ้งความเท็จเป็นของแถมอีกต่างหาก ผมจึงแสดงความเห็น ในข้อกฎหมายมา ณ โอกาสนี้ #เพื่อมิให้เกิดความสับสนเสียหายต่อพระภิกษุสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบและต่อคณะสงฆ์ในพระพุทธศาสนา ครับ! ขอบคุณครับ

ภายหลังจากข้อความดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไป ปรากฏว่ามีคนเข้าไปกดไลค์กดแชร์กันเป็นจำนวนมาก พร้อมกับแสดงเห็นมากกว่า 1,900 ข้อความแล้ว ส่วนใหญ่ชื่นชมว่า ความเห็นทางกฎหมายนั้นเข้าใจได้ง่าย.