เมื่อวันที่ 29 ก.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากที่พายุโนรู เคลื่อนเข้าสู่ จ.อุบลราชธานี เมื่อคืนที่ผ่านมา (28 ก.ย.) ทำให้เกิดฝนตกหนักครอบคลุมทั่วจังหวัด บางพื้นที่มีลมพัดแรงกระแสไฟฟ้าขัดข้องหลายจุด เนื่องจากต้นไม้หักโค่นทับสายไฟฟ้า ถนนหลายสายมีน้ำท่วมขังเนื่องจากการระบายน้ำไม่ทัน โดยเฉพาะถนนสายวาริน-กันทรลักษ์-บริเวณหน้าห้างสรรพสินค้าโลตัส สาขาอำเภอวารินชำราบ ปรากฏมีน้ำไหลท่วมถนนสูง 30-40 เซนติเมตร ทำให้ผู้ขับรถสัญจร ต้องขับรถขึ้นไปชิดเลนใกล้เกาะกลางถนนที่มีความสูงเพื่อวิ่งผ่านตรงจุดดังกล่าว แต่เจ้าหน้าที่ไม่แนะนำให้รถเล็กวิ่งผ่าน เพราะจะทำให้รถได้รับความเสียหาย หรือเครื่องยนต์ดับได้  สถานีวัดน้ำทุกอำเภอมีปริมาณน้ำฝนสูงกว่า100 มิลลิเมตร น้ำในแม่น้ำมูลและแม่น้ำชีสูงกว่าตลิ่ง ด้านเจ้าหน้าที่ชลประทานร่วมกับทหารเร่งติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติมที่สะพานแม่น้ำมูล อ.พิบูลมังสาหาร

ขณะเดียวกันพายุฝนพัดต้นไม้ล้มทับอยู่หลายเส้นทาง เจ้าหน้าที่มูลนิธิสว่างบูชาธรรม ช่วยชาวบ้านที่ป่วยติดเตียง บริเวณบ้านหาดสวนยา ขึ้นมาไว้ศูนย์พักพิง นอกจากนี้ชาวบ้านส่วนหนึ่งเริ่มขนย้ายสิ่งของ ที่ทางจังหวัดตั้งศูนย์พักพิงเพิ่มเติม เนื่องจากจุดพักพิงเดิมมีน้ำเอ่อท่วม

ส่วนระดับน้ำแม่น้ำมูลนั้น แนวโน้มสถานการณ์ที่สถานีวัดน้ำสะพานเสรีประชิปไตย อ.เมืองอุบลราชธานี ช่วงเช้าวันนี้( 29 ก.ย.65) ระดับน้ำอยู่ที่ 114.20 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง สูงกว่าตลิ่งฝั่ง อ.วารินชำราบ 2 เมตร 20 เซนติเมตร และมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง คาดการณ์ว่า วันที่ 4 ต.ค. 2565 น้ำจะสูงกว่าตลิ่งฝั่ง อ.วารินชำราบ ประมาณ 2 เมตร 72 เซนติเมตร 

ล่าสุด ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง รายงานว่า พายุโซนร้อน โนรู อ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชัน แต่ยังคงมีผลทำให้ จ.อุบลราชธานี มีฝนตกเป็นบริเวณกว้าง คาดการณ์ว่า ภายใน 4 ถึง 5 วันนี้ ระดับน้ำในแม่น้ำมูล จะสูงขึ้นอีกประมาณ 1-2 เมตร ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำหนดพื้นที่ในการตั้งศูนย์พักพิงช่วยเหลือผู้ประสบภัย ขอให้ประชาชนพื้นที่เสี่ยงรีบขนย้ายสิ่งของขึ้นบนที่สูง โดยจะมีกำลังพลจากทหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปช่วยขนย้ายให้ตั้งแต่วันนี้ (29 ก.ย.65) เป็นต้นไป

สำหรับรายงานสถานการณ์อุทกภัยล่าสุด จังหวัดอุบลราชธานี ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำเอ่อลันตลิ่งบริเวณที่ลุ่มต่ำไหลเข้าท่วมบ้านเรือนและพื้นที่การเกษตร ส่งผลให้ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 15 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองอุบลราชธานี วารินชำราบ เดชอุดม นาจะหลวย น้ำยืน ทุ่งศรีอุดม น้ำขุ่น ม่วงสามสิบ ตาลสุม เขื่องใน ดอนมดแดง ตระการพืชผล พิบูลมังสาหาร สว่างวีระวงศ์ และอำเภอเหล่าเสือโก้ก 38 เทศบาล/ตำบล 502 ชุมชน/หมู่บ้าน แยกเป็นด้านการดำรงชีพ ได้รับผลกระทบ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองอุบลราชธานี อำเภอวารินชำราบ อำเภอพิบูลมังสาหาร และอำเภอสว่างวีระวงศ์ จำนวน 12 เทศบาล/ตำบล 51 ชุมชน/หมู่บ้าน 3184 ครัวเรือน 10,477 คน อพยพ จำนวน 46 ชุมชน 1,518 ครัวเรือน  คน แยกเป็น ศูนย์พักพิงชั่วคราว 43 จุดจำนวน 1,199 ครัวเรือน 4,253 คน พักบ้านญาติ จำนวน 165 ครัวเรือน 470 คน และอพยพขึ้นที่สูง 154 ครัวเรือน 420 คน (อพยพเพิ่มขึ้นจากเมื่อวาน 332 ครัวเรือน 1,082 คน ศูนย์พักพิงชั่วคราวเพิ่ม 3 จุด) ด้านการเกษตร ได้รับผลกระทบ 15 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองอุบลราชธานี วารินชำราบ เดชอุดมนาจะหลวย น้ำยืน ทุ่งศรีอุดม น้ำขุ่น ม่วงสามสิบ ตาลสุม เขื่องใน ดอนมดแดง ตระการพืชผล พิบูลมังสาหารสว่างวีระวงศ์ และอำเภอเหล่าเสือโก้ก จำนวน 69 ตำบล 458 ชุมชน/หมู่บ้าน 18,005 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตรคาดว่าจะได้รับความเสียหาย 109,899 ไร่ พื้นที่ประมง ได้รับผลกระทบ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอน้ำยืน น้ำขุ่น และอำเภอม่วงสามสิบ จำนวน 698 ครัวเรือน คาดว่าจะได้รับความเสียหาย จำนวน 52,125 ไร่