เรียกได้ว่าช่วงนี้ประเทศไทยเรานั้น มักเจอเห็นการณ์สุดสะเทือนใจไม่น้อย อย่างกรณีกราดยิงหนองบัวลำภู ที่ทำเอาทั่วประเทศและชาวต่างชาติร่วมแห่ไว้อาลัยโศกนาฏกรรมที่สูญเสียอนาคตของชาติราว 30 กว่าชีวิต

โดยเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2565 ส.ต.อ.ปัญญา คำราบ อายุ 34 ปี ตำแหน่ง ผบ.หมู่ (ป.) สภ.นาวัง ซึ่งถูกไล่ออกจากราชการในคดียาเสพติด และจะต้องขึ้นศาลในวันที่ 7 ตุลาคม เกิดคลุ้มคลั่งขับรถกระบะโตโยต้า วีโก้ สีขาว ทะเบียน กธ 6499 กทม. บุกเข้าไปกราดยิงครู-เด็ก ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อบต.อุทัยสวรรค์ และประชาชนในพื้นที่ ต.อุทัยสวรรค์ อ.นากลาง จ.หนองบัวลำภู

ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวคล้ายกับกรณีข่าวใหญ่ เมื่อช่วง 2 ปีที่แล้ว เมื่อ จ.ส.อ.จักรพันธ์ ถมมา อายุ 32 ปี สังกัดค่ายสุรธรรมพิทักษ์ คลุ้มคลั่งสติแตกบุกปล้นปืนสงครามไปกราดยิงบุคคลทั่วไปในพื้นที่ อ.เมือง จ.นครราชสีมา จนมีผู้เสียชีวิต 30 ศพ

ภายหลังต่อมาด้าน “คุณหมอมิน-พญ.เบญจพร ตันตสูติ” จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น แอดมินเพจเฟซบุ๊กชื่อดังอย่าง @เข็นเด็กขึ้นภูเขา ที่มีผู้ติดตามกว่า 5.6 แสนคน ได้แสดงความเห็นระบุว่า “#สอนลูกให้จัดการอารมณ์ด้านลบหรือปัญหาต่างๆโดยไม่ต้องใช้ความรุนแรง จากข่าวเศร้าที่เกิดขึ้นเรื่องเหตุการณ์กราดยิง ทำให้หมออยากเขียนบทความนี้ ซึ่งจริงๆ ก็เคยเขียนมาแล้ว แต่นำมาลงในโอกาสนี้ คิดว่าน่าจะมีประโยชน์นะคะ

หากผิดหวัง โกรธ เสียใจ ไม่ได้ดังใจ แทนที่จะจัดการด้วยอารมณ์ด้านลบด้วยความรุนแรง จะทำยังไงให้ผ่านพ้นพายุอารมณ์ตรงนั้นไปได้อย่างไม่ต้องเกิดผลกระทบรุนแรง โดยเฉพาะต่อคนอื่นๆและตัวเอง เขียนไปเขียนมา ยาวหน่อย แต่คิดว่าสำคัญ อ่านเข้าใจไม่ยาก แต่คงต้องมีเวลาอ่านกันนะคะ

1) พ่อแม่ต้องเป็นตัวอย่างของการไม่ใช้อารมณ์และความรุนแรงตัดสินปัญหา แน่นอน ครอบครัวเป็นจุดแรกที่เด็กสัมผัส ถึงจะเป็นเด็กที่มีพื้นอารมณ์ร้อน ถ้าผู้ใหญ่รอบข้างเป็นตัวอย่างให้เห็น สมมุติพ่อของเด็กเป็นคนใจร้อนมาก เวลาโกรธแม่ จะทำร้ายร่างกาย ทำลายของ ตะโกนอาละวาดเสียงดัง ลูกก็จะเห็นภาพนั้นและซึมซับเป็นตัวตน แม้ว่าพ่อจะสอนลูกว่า ลูกจ๋า ใจเย็นๆนะ ก็ไม่เป็นผล เด็กจะเรียนรู้จากสิ่งที่เห็นมากกว่าคำพูดที่ได้ยิน เวลาโกรธก็มีวิธีจัดการ ไม่ใช้ความเกรี้ยวกราดโวยวาย ไม่ตะโกนเสียงดัง เช่น แม่หงุดหงิด ก็บอกลูกดีๆ ขอตัวไปสงบอารมณ์ เด็กก็จะเรียนรู้ว่าไม่ควรทำอะไรเวลาที่หงุดหงิดหรือโกรธรุนแรง

2) ให้เด็กได้สัมผัสธรรมชาติตั้งแต่เล็ก ไปออกกำลังกายกลางแจ้ง สร้างความเชื่อมโยงให้เด็กรับรู้ว่า นอกจากตัวเขาเองก็มีโลกรอบข้าง จะทำให้เขายึดติดกับตัวเองน้อยลง และการจัดการอารมณ์ก็จะดีขึ้นด้วย

3) ไม่ควรให้เด็กอยู่แต่กับอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับจอมากเกินไป โดยที่ไม่ทำกิจกรรมอื่นๆเลย เพราะสื่อต่างๆบางทีก็มีความรุนแรง และทำให้เด็กขาดความเชื่อมโยงกับธรรมชาติด้วย

4) พ่อแม่ควรสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับเด็ก ให้เด็กรู้สึกว่ามีเรื่องอะไรก็สามารถคุยกับพ่อแม่ได้ เวลามีปัญหาอะไรจะได้ไม่ต้องเก็บไว้ และปรึกษา ทำให้ความเครียดต่างๆลดลงไป แทนที่จะกลายเป็นปัญหาที่สายเกินแก้

5) สอนให้เด็กรู้จักและรับรู้เข้าใจอารมณ์ต่างๆ และสอนเรื่องความเห็นอกเห็นใจ ไม่ว่าจะเป็นด้านดีหรือไม่ดี บอกเด็กว่าอารมณ์เป็นเรื่องธรรมดา การรับรู้และเข้าใจจะทำให้คนคนนั้นจัดการกับอารมณ์ตัวเองได้ดีขึ้น เริ่มด้วยผู้ใหญ่แสดงความรับรู้และเข้าใจอารมณ์ของเด็ก อย่างเวลาที่เด็กโกรธ ไม่พอใจ ควรบอกให้เด็กรู้ว่าเรารับรู้และเข้าใจความโกรธของเขา อย่าเพิ่งไปดุว่า เช่น หนูจะโมโหทำไมเนี่ย เช่น เด็กโมโหโวยวายที่น้องสาวเอาสมุดของตัวเองไประบายเล่น เด็กร้องเสียงดัง ก็ควรบอกเด็กว่า “แม่รู้ว่าหนูคงจะโกรธที่น้องเอาสมุดหนูไปวาดเล่น” เด็กจะรู้สึกว่า แม่เข้าใจอารมณ์เขารับรู้ตัวตน ความโกรธจะลดลง การที่มีใครสักคนแสดงความเข้าใจอารมณ์เขา ตรงนั้นจะทำให้เด็กเข้าใจและรับรู้อารมณ์ตัวเอง และเป็นจุดเริ่มต้นของความเห็นใจคนอื่นด้วย (นอกจากจะคิดถึงแต่ความโกรธหรือผิดหวังของตัวเองอย่างเดียว)

6) ผู้ใหญ่ควรจะค่อยๆสอนเขาถึงวิธีจัดการอารมณ์ทางลบอย่างเหมาะสม ควรสอนเมื่ออารมณ์เบาบางลงไปแล้ว อย่าไปสอนตอนที่เด็กมีอารมณ์ เด็กไม่ฟังเราหรอกตอนนั้น เช่น เด็กที่โกรธหงุดหงิด เสียใจ บางทีเขาโวยวาย ร้องไห้ สังเกตอารมณ์ของเด็กก่อน เมื่อเขาหายโกรธหรือหายเศร้า ค่อยเข้าไปพูดคุย ไต่ถามความรู้สึก ให้เขาเล่าความรู้สึกให้ฟังเมื่อพร้อม และพูดคุยถึงการจัดการกับอารมณ์ของเขา คราวนี้เขาอาจจะจัดการแบบใช้ความรุนแรง เช่น ตะโกนเสียงดัง ทำของพัง ก็ไม่ต้องไปใช้อารมณ์กับลูก (แต่ควรให้เขาเรียนรู้ที่จะรับผิดชอบเมื่อของพังไป เช่น หักค่าขนมสมทบเป็นค่าของที่เสีย) คุยกับเขาว่าถ้าไม่ใช้ความรุนแรง ทางออกในการจัดการอารมณ์ที่สร้างสรรค์ทำยังไงได้บ้าง และอาจจะให้เขาลองทำดูคราวหน้า (คราวนี้ก็ไม่เป็นไร) เช่น เด็กบางคนโกรธแล้วไปล้างหน้า ดื่มน้ำเย็นๆ ไปเตะฟุตบอลกับเพื่อน ไปเล่นกับสัตว์เลี้ยง เมื่อทำแล้ว อารมณ์โกรธลดน้อยลง ถ้าเขาจัดการอารมณ์ได้ดีก็ให้เราชื่นชมให้กำลังใจ

7) ในกรณีที่เด็กโกรธแล้วมีพฤติกรรมที่รุนแรงมาก เช่น ทำร้ายคนอื่น ทำร้ายตนเอง หรือทำลายข้าวของ เราคงต้องหยุดการกระทำนั้นไว้ก่อน และอาจต้องปรึกษาจิตแพทย์เด็ก เช่นในเด็กเล็กอาจเข้าไปกอดเด็กข้างหลัง จนเขาสงบ ถ้ารุนแรงและจัดการไม่ได้ เด็กอาจจะมีภาวะบางอย่างที่เกี่ยวข้องที่ทำให้อารมณ์ขึ้นลงง่าย หุนหันพลันแล่น ซึ่งต้องรักษาเฉพาะ

8) เมื่อพบเห็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสังคมที่มาจากความโกรธ ผิดหวัง เสียใจ เช่น ข่าว ละคร ควรพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับลูกในเรื่องการจัดการความโกรธที่เหมาะสม เห็นอะไรที่ดีๆ เราก็ชื่นชมให้ลูกฟัง แต่ถ้าอะไรที่ไม่เหมาะเราก็ควรบอก และคุยถึงเหตุผลว่าเพราะอะไรถึงไม่ดี ขณะเดียวกันก็ลองฟังความคิด และความเห็นของลูกไปด้วย

9) อย่าตามใจลูกไปหมด เพราะเด็กจะกลายเป็นคนเอาแต่ใจ ผิดหวังไม่เป็น พ่อแม่ที่ตามใจลูกไปทุกเรื่องแบบไม่มีขอบเขต เด็กจะโตมาโดยที่เป็นคนยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง รับความผิดหวังไม่ค่อยได้ เอาแต่ใจตัวเองและคิดถึงคนอื่นน้อย ไม่รู้จักควบคุมการกระทำตัวเอง บางเรื่องรู้ว่าไม่ดีแต่อยากทำและห้ามใจตัวเองไม่ได้

10) มีเวลากับเด็กในการพูดคุยถึงเรื่องที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน ไม่ว่าจะดีหรือร้าย ให้เด็กรับรู้ว่าเล่าให้ผู้ใหญ่ฟังได้ และผู้ใหญ่ก็รับฟังเขาด้วย ตรงนี้จะทำให้เขาเรียนรู้ว่าการเล่าเรื่องต่างๆ กับพ่อแม่ทำได้ มีคนที่อยู่เคียงข้างและรับฟังเขา เขาจะได้ไม่เก็บกดความรู้สึก มีวิธีจัดการกับปัญหาและอารมณ์อย่างเหมาะสมนะคะ

“อารมณ์ทางลบต่างๆที่เกิด จริงๆเป็นเรื่องปกติและธรรมชาติ ไม่มีใครที่ไม่เคยเจอความผิดหวัง ไม่มีใครหรอกที่จะอารมณ์ดีตลอดเวลา แต่เราจะจัดการกับมันอย่างไรนั้นสำคัญกว่า เป็นกำลังใจให้กันและกันค่ะ”

ป.ล. เวลาเขียนบทความแบบนี้มักจะมีคนบอกว่า คนที่อ่านเพจหมอเขาก็มีวิธีสอนลูกไม่ให้ไปทำความรุนแรงอยู่แล้ว… ดังนั้นหมอรบกวนว่า ช่วยกัน กดไลค์ กดแชร์ คอมเมนต์ บอกต่อ ถ้าคิดว่าบทความของหมอนี้มีประโยชน์นะคะ”…