กรณีประธานคณะทำงานเครือข่ายภาคประชาสังคมในการต่อต้านการทุจริต ปปท.เขต 4. จ.กาฬสินธุ์ และที่ปรึกษาฝ่ายวิชาการ คณะกรรมาธิการ จ.กาฬสินธุ์ (กธจ.) พร้อมด้วยอนุกรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน จ.กาฬสินธุ์ ติดตามความคืบหน้าแนวทางแก้ปัญหาโครงการรับเหมาก่อสร้างระบบท่อระบายน้ำแก้ปัญหาน้ำท่วมเมืองกาฬสินธุ์ งบ 148 ล้านบาท และอีก 7 โครงการงบประมาณรวมกว่า 500 ล้านบาท ขณะที่โยธาฯ จ.กาฬสินธุ์ เผยผลการประชุมคอนเฟอร์เรนซ์กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องของกรมโยธาธิการฯ สรุปเบื้องต้นยกเลิกสัญญา 1 โครงการ คือโครงการรับเหมาก่อสร้างระบบท่อระบายน้ำแก้ปัญหาน้ำท่วมเมืองฯ งบ 148 ล้านบาท ขณะที่ชาวบ้านเรียกร้องให้กรมโยธาฯ โชว์หลักฐานเลิกสัญญาต่อสาธารณชน รวมทั้งให้ขึ้นแบล็กลิสต์ และยกเลิกโครงการสร้างตลิ่งหน้าวัดใต้โพธิ์ค้ำ งบ 108 ล้านอีก 1 โครงการ เนื่องจากเป็นผู้รับเหมารายเดียวกัน และทำงานไม่เสร็จ เกินกำหนดสัญญาอีกด้วย

จี้โชว์หลักฐานยกเลิกสัญญา รับเหมาเจ้าปัญหาทิ้งงานก่อสร้าง

ความคืบหน้า เมื่อวันที่ 6 เม.ย. นายชาญยุทธ โคตะนนท์ ประธานคณะทำงานเครือข่ายภาคประชาสังคมในการต่อต้านการทุจริต ปปท.เขต 4. จ.กาฬสินธุ์ และที่ปรึกษาฝ่ายวิชาการ คณะกรรมาธิการ จ.กาฬสินธุ์ (กธจ.) กล่าวว่า ตามที่กรมโยธาฯ จะได้ยกเลิกสัญญาโครงการ 148 ล้าน และชาวบ้านต้องการให้กรมโยธาฯ ยกเลิกอีก 1 โครงการ งบ 108 ล้านบาทนั้น โดยทั้ง 2 โครงการงานยังไม่เสร็จ แต่ผู้รับเหมาซึ่งเป็นรายเดียวกันเบิกไปแล้วกว่า 130 ล้านบาท เป็นประเด็นที่ชาวบ้านชาวเมืองกาฬสินธุ์วิพากษ์วิจารณ์กันมาก และอยากจะเห็นความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น เพื่อให้ภาพลักษณ์ของ จ.กาฬสินธุ์หลุดพ้นจากคำว่าเป็นเมืองที่กำลังจะพัฒนา ได้เจริญและก้าวข้ามปัญหาที่เต็มไปด้วยหลุม บ่อ วัสดุก่อสร้าง ที่ผ่านมา 5 ปีเต็ม เพื่อมุ่งไปสู่ความเจริญก้าวหน้า ตามจุดประสงค์ของรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทย ที่ได้จัดสรรงบประมาณลงมาเพื่อพัฒนาเมืองกาฬสินธุ์

นายชาญยุทธ กล่าวอีกว่า หลังทราบว่าทางกรมโยธาฯ จะได้ยกเลิกสัญญากับผู้รับเหมาดังกล่าว ชาวเมืองกาฬสินธุ์ต่างรู้สึกดีใจมาก ที่จะได้ผู้รับเหมารายใหม่เข้ามาดำเนินการต่อให้แล้วเสร็จ แต่สิ่งที่คาใจชาวบ้านยังมีอีกหลายประเด็น ที่นอกจากอยากจะให้กรมโยธาฯ โชว์คำสั่งยกเลิกฯ อย่างเป็นทางการต่อสาธารณชนแล้ว ยังอยากจะทราบรายละเอียดต่างๆ เช่น จะมีการปรับเปลี่ยนสัญญาอย่างไร กำหนดระยะเวลาการก่อสร้างแค่ไหน งบประมาณเท่าไหร่ การควบคุมงานอย่างไร จะมีการปรับอะไรหรือไม่หากการทำงานไม่เป็นไปตามแผนงาน เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้น เพราะเชื่อแน่ว่าไม่มีใครอยากให้ประวัติเลวร้ายซ้ำรอยอีก

“ทั้งนี้ ตามที่คณะกรรมการธรรมาภิบาล จ.กาฬสินธุ์และเครือข่าย ที่ได้ติดตามการแก้ไขหา และสอดส่องการก่อสร้างทุกโครงการฯ ที่เป็นปัญหาอยู่ รวมทั้งจากการ “จัดรายการกรรมการธรรมาภิบาลพบประชาชน” ทาง สวท.กาฬสินธุ์ มีพี่น้องประชาชนโทรศัพท์เข้ามาสอบถาม และเสนอแนะข้อคิดเห็นกับโครงการก่อสร้างฯ และการยกเลิกสัญญา ของกรมโยธาฯ เป็นจำนวนมาก หลายเสียงยังต้องการอยากทราบ อยากเห็น ความชัดเจนของกรมโยธาฯ ในการยกเลิกสัญญาและขึ้นแบล็กลิสต์ผู้รับเหมาดังกล่าว และยังฝากประเด็นคำถามต่อเนื่องไปถึงในส่วนของการเยียวยาสภาพจิตใจ สภาพถนน อาคารบ้านเรือน และการเสียโอกาสสร้างรายได้ของผู้ประกอบการร้านค้าต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างด้วย มีลู่ทางที่ผู้ได้รับกระทบ จะได้รับการชดเชยหรือเยียวยาหรือไม่ ใครเป็นผู้รับผิดชอบตรงนี้ ผู้รับเหมาหรือกรมโยธา ฯ หรือจะให้ชาวบ้านไปร้องเรียนส่วนไหน เพื่อนำไปสู่กระบวนการบังคับให้มีการเยียวยาเกิดขึ้น” นายชาญยุทธกล่าว

นายชาญยุทธ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ ชาวบ้านยังฝากถามไปถึงนายอนุทิน ชาญวีรกูล รมว.มหาดไทย และอธิบดีกรมโยธาฯว่า ในส่วนที่เบิกจ่ายไป 2 โครงการ คือโครงการก่อสร้างระบบท่อประปาป้องกันน้ำท่วมเมืองฯ งบ 148,200,000 บาท เบิกจ่าย 80,000,000 บาท โดยจะสิ้นสุดสัญญาวันที่ 25 ก.พ.68 และโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งหน้าวัดใต้โพธิ์ค้ำ งบ 108,800,000 บาท เบิกจ่าย 50,377,600 บาท สิ้นสุดสัญญาไปแล้ว 3 เดือน เมื่อวันที่ 5 ม.ค.67 ที่ผ่านมา รวมเบิกจ่ายไปทั้งหมด 130,377,600 บาท โดย 2 โครงการเป็นผู้รับเหมาเป็นรายเดียวกัน ที่จะถูกกรมโยธาฯยกเลิกสัญญานั้น ทางกรมโยธาฯ จะเรียกเก็บคืนเข้าแผ่นดินหรือไม่ ชาวบ้านอยากทราบ