เมื่อวันที่ 12 ต.ค. ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ห้องพิจารณา 714 ศาลนัดฟังคำพิพากษา คดีหมายเลขดำ อ.498/2563 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 6 เป็นโจทก์ฟ้อง นายสุทัศน์, นายสมบัติ, นายยอด กับพวกรวม 11 คน เป็นจำเลยในความผิดฐาน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ฯลฯ

โดยอัยการโจทก์ระบุฟ้องความผิดพวกจำเลยสรุปว่า เมื่อระหว่างวันที่ 4-10 มิ.ย.2561 นางวัฒนา ซึ่งยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ได้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ “khonthaiuk” โพสต์ภาพ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และภาพ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม (ขณะนั้น) พร้อมบรรยายประกอบภาพเกี่ยวกับการจัดซื้อดาวเทียมมูลค่า 9.12 หมื่นล้านบาท ทำนองว่า ซื้อมาเพื่อใช้ละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชนและหาผลประโยชน์จากการจัดซื้อดาวเทียมดังกล่าว รวมทั้งข้อความ คสช.รัฐบาลเถื่อน ขายชาติ ตัวจริง และข้อความอื่น ซึ่งล้วนเป็นข้อความอันเป็นเท็จ เพราะความจริงแล้ว กระทรวงกลาโหมไม่มีโครงการจัดซื้อดาวเทียมมาเพื่อละเมิดสิทธิประชาชน รวมทั้งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีสถานะถูกต้องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ข้อมูลดังกล่าวได้สร้างความสับสนเข้าใจผิดแก่ประชาชนจนอาจเป็นช่องว่างให้มีผู้เข้าใจผิดร่วมกันสร้างแนวร่วมต่อต้านรัฐบาล

ต่อมาจำเลยทั้ง 21 คน ได้คัดลอกข้อความและภาพของ พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร เผยแพร่ (แชร์) โดยประการที่จะสร้างความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศและก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชนอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย เหตุเกิดที่เมืองใดไม่ปรากฏชัด เหตุเกิด แขวงบางขุนพรหม เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร และทั่วราชอาณาจักรเกี่ยวพันกัน

โจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 มาตรา 14 จำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ

ศาลพิเคราะห์คำเบิกความและพยานหลักฐานทั้ง 2 ฝ่าย ที่นำสืบหักล้างแล้วเห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 เบิกความว่า เหตุที่แชร์หรือส่งต่อภาพและข้อความ เนื่องจากเห็นว่ามีที่มาจากสำนักข่าว และการจัดซื้อดาวเทียมใช้เงินภาษีของประชาชนจึงเป็นประเด็นที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ เห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 อ้างว่า เพราะเหตุที่การจัดซื้อดาวเทียมใช้เงินภาษีของประชาชน และเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะในการตรวจสอบจึงได้แชร์หรือส่งต่อภาพและข้อความออกไป ทั้งๆ ที่หากจำเลยที่ 1 ได้อ่านข่าวของสำนักข่าวสดที่มีการแนบเว็บไซต์มาด้วย ตามที่จำเลยที่ 1 เบิกความเองว่า จำเลยที่ 1 ได้กดเข้าไปที่เว็บไซต์ข่าวสดออนไลน์ ซึ่งปรากฏภาพนายศรีสุวรรณ จรรยา และหัวข้อข่าวเกี่ยวกับการตรวจสอบการซื้อดาวเทียม จำเลยที่ 1 ย่อมทราบได้ว่าทางกระทรวงกลาโหมไม่ได้มีการจัดซื้อดาวเทียมแต่อย่างใด

ดังนั้น การแชร์ หรือส่งต่อภาพและข้อความที่ว่า “ยังจะซื้อ ดาวเทียม 91,200 ล้านมาแ_กอีก…จะยอมมัน อีกมั้ย” จำเลยที่ 1 ก็ย่อมทราบได้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลอันเป็นเท็จ แต่จำเลยที่ 1 ยังตัดสินใจที่จะกดแชร์หรือส่งต่อออกไปโดยที่ไม่กลั่นกรองข้อมูลข่าวสารให้ถี่ถ้วนเสียก่อน การกล่าวอ้าง ของจำเลยที่ 1 ที่นำสืบมาจึงไม่มีน้ำหนักรับฟังหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้

ส่วนจำเลยที่ 2-3 นำสืบความว่า เหตุที่แชร์หรือส่งต่อภาพและข้อความ เนื่องจากอยากให้ผู้ที่ติดตามเฟซบุ๊กของจำเลยที่ 2 ได้วิเคราะห์กัน

การที่จำเลยที่ 1-3 แชร์หรือส่งต่อภาพและข้อความออกไปโดยตั้งค่าเป็นสาธารณะที่บุคคลอื่นสามารถเข้าถึงภาพและข้อความข้างต้นได้จึงเป็นการเผยแพร่หรือส่งต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน ตามมาตรา 14(5) การกระทำของจำเลยที่ 1-3 จึงเป็นความผิดตามฟ้อง

พิพากษาว่า จำเลยที่ 1-3 มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14(5) ประกอบมาตรา 14(2) จำคุกจำเลยที่ 1-3 คนละ 1 ปี ทางนำสืบของจำเลยที่ 1-3 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้างมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1-3 คนละ 8 เดือนโดยไม่รอลงอาญา ส่วนจำเลยที่ 4-11 ให้ยกฟ้อง.