รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) แจ้งว่า รฟท. ได้เริ่มนำหัวรถจักรดีเซลไฟฟ้าใหม่ (Diesel Electric Locomotive) “อุลตร้าแมน” จำนวน 7 คัน ออกทำขบวนรถโดยสารแล้ว ตั้งแต่เมื่อวันที่ 15 ต.ค. ที่ผ่านมา โดยได้ให้บริการรวม 14 ขบวน ประกอบด้วย ขบวนที่ 31/32 เส้นทาง กรุงเทพ-หาดใหญ่, ขบวนที่ 37/38 เส้นทาง กรุงเทพ-สุไหงโก-ลก, ขบวนที่ 83/84 เส้นทาง กรุงเทพ-ตรัง, ขบวนที่ 9/10 เส้นทาง กรุงเทพ-เชียงใหม่, ขบวนที่ 13/14 เส้นทาง กรุงเทพ-เชียงใหม่, ขบวนที่ 25/26 เส้นทาง กรุงเทพ-หนองคาย และ ขบวนที่ 23/24 เส้นทาง กรุงเทพ-อุบลราชธานี ทั้งนี้ขบวนแรกที่พ่วงออกจากสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) คือ ขบวนรถด่วนพิเศษที่ 31 กรุงเทพ-ชุมทางหาดใหญ่ โดยออกจากสถานีหัวลำโพง เมื่อเวลา 14.30 น.

รายงานข่าวแจ้งต่อว่า อย่างไรก็ตามเนื่องจากหลังคารถจักรใกล้กับโครงสร้างหลังคาคลุมชานชาลา เพื่อความปลอดภัย ทาง รฟท. จึงมีข้อห้ามนำขบวนรถทั้ง 14 ขบวนนี้เข้าและออก ชานชาลาที่ 3 ,9, 10 ดังนั้นจึงต้องเปลี่ยนชานชาลาเทียบขบวนรถใหม่ อาทิ ขบวนที่ 37 เส้นทาง กรุงเทพ-สุไหงโก-ลก เปลี่ยนเป็นเทียบชานชาลาที่ 5, ขบวนที่ 83 เส้นทาง กรุงเทพ-ตรัง เปลี่ยนเทียบชานชาลาที่ 8 และขบวนที่ 25 เส้นทาง กรุงเทพ-หนองคาย เปลี่ยนเทียบชานชาลาที่ 5 เป็นต้น

รายงานข่าวแจ้งอีกว่า ก่อนหน้านี้ รฟท. นำหัวรถจักรฯ ทดสอบเดินรถในเส้นทางต่างๆ ทั้งใช้ลากจูงขบวนสินค้า และขบวนรถโดยสาร ในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือมาแล้วก่อนที่จะนำมาให้บริการ  อาทิ ลากขบวนรถโดยสารจากกรุงเทพไปเชียงใหม่ วันที่ 31 พ.ค.-2 มิ.ย.65, วิ่งตัวเปล่าตรวจสภาพเส้นทางไปธนบุรี วันที่ 20 ก.ย.65 และทดสอบลากรถไปนครราชสีมา วันที่ 21-22 ก.ย.65 ล่าสุดทดสอบในพื้นที่ภาคใต้ วันที่ 26 ก.ย.-1 ต.ค.65 เส้นทาง ทุ่งสง-นครศรีธรรมราช, เส้นทาง ทุ่งสง-ตรัง และทุ่งสง-หาดใหญ่ เบื้องต้นผลการทดสอบพบว่า สามารถวิ่งผ่านโครงสร้างต่างๆ ได้อย่างดี พบเพียงปัญหาหัวรถจักรเกี่ยวสายไฟบริเวณสถานี ซึ่งโยงข้ามจากฝั่งหนึ่งไปอีกฝั่งหนึ่ง และย้อยห้อยลงมา โดยได้ทำการแก้ไขแล้ว

รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า สำหรับรถจักรดีเซลไฟฟ้าดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของโครงการจัดหารถจักรดีเซลไฟฟ้า น้ำหนักกดเพลา 16 ตัน/เพลา พร้อมอะไหล่ 50 คัน วงเงิน 6,525 ล้านบาท โดย รฟท. รับมอบจากกิจการร่วมค้า เอสเอฟอาร์ ซึ่งเป็นการร่วมมือระหว่างบริษัท ซานโฟโก อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และบริษัท ริเวอร์เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด เมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ในระยะ (เฟส) ที่ 1 จำนวน 20 คัน ส่วนที่เหลืออีก 30 คันในเฟสที่ 2 คาดว่าจะส่งมอบให้ รฟท. ได้ปลายปี 65 ทั้งนี้รถจักรดีเซลไฟฟ้าใหม่นี้ จะมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ และสร้างรายได้เพิ่มให้แก่ รฟท.

รายงานข่าวแจ้งอีกว่า จุดเด่นของรถจักรดีเซลไฟฟ้า มีสมรรถนะในการลากจูงขบวนรถโดยสารได้ความเร็วสูงสุด 120 กม.ต่อ ชม. และลากจูงขบวนรถสินค้าที่ความเร็วสูงสุด 70 กม.ต่อ ชม. มีการติดตั้งระบบห้ามล้ออัตโนมัติ (ATP) รองรับมาตรฐาน ETCS level 1 : (European Train Control System: ETCS) เครื่องยนต์รถจักร มีค่ามาตรฐานในการปล่อยควันไอเสียต่ำเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตลอดจนติดตั้งกล้อง CCTV เพื่อบันทึกเหตุการณ์ด้านหน้ารถจักร และเครื่องพ่วง เพื่อยกระดับความปลอดภัยในการเดินรถอีกด้วย อย่างไรก็ตาม หัวรถจักรใหม่จะนำมาใช้ทดแทนรถจักรเดิมที่มีอายุการใช้งานมายาวนาน โดยจะวิ่งให้บริการทั่วประเทศ.