เมื่อวันที่ 1 พ.ย. นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฏีกา เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ขณะนี้ร่างกฎกระทรวงฯอนุญาตให้คนต่างชาติถือครองที่ดินได้ไม่เกิน 1 ไร่ แลกกับนำเงินมาลงทุนในไทยอย่างน้อย 40 ล้านบาท ส่งมายังคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว โดยตามขั้นตอนต้องนำขึ้นสู่เว็บไซต์กลางของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อรับฟังความคิดเห็นโดยในขั้นตอนนี้จะใช้เวลาไม่น้อยกว่า 15 วัน

จากนั้นเมื่อกฤษฎีกานำร่างกฎกระทรวงฯกลับไปให้ ครม.พิจารณา กฤษฎีกาอาจจะมีความเห็นกลับมาในประเด็นเรื่องหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ที่มีความเห็นว่า ระยะเวลาการลงทุนสั้นไปหรือยาวไป เงินทุนมากไปหรือน้อยเกินไป ขึ้นอยู่กับ ครม.จะตัดสินอย่างไร ครม.อยากเปลี่ยนหรือแก้ไขตรงไหนเพิ่มเติมเป็นเรื่องของฝ่ายนโยบาย ด้านคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นเพียงฝ่ายปฏิบัติเท่านั้น

“โดยปกติขั้นตอนรับฟังความคิดเห็น ถ้ามีคนไม่เห็นด้วยมาก กฤษฎีกาจะมีหนังสือตอบเป็นข้อสังเกตและนำเข้า ครม.อีกครั้งเพื่อให้ ครม.รับทราบ ส่วนรัฐบาลจะทำอย่างไรเป็นเรื่องของฝ่ายนโยบาย” นายปกรณ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ความเป็นไปได้หรือไม่ ถ้ามีการคัดค้านเยอะช่องทางออกอาจให้เช่าระยะยาว นายปกรณ์ กล่าวว่า ร่างกฎกระทรวงฯ ฉบับปัจจุบันสามารถทำได้เลย ตราบใดที่คนต่างชาติมีสิทธิ์อยู่ในราชอาณาจักร สามารถเช่าได้ทั้งนี้วัตถุประสงค์ของการออกกฎหมายฉบับนี้เพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติที่มีการย้ายฐานการผลิตเนื่องจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ความขัดแย้งที่เกิดขึ้น จึงต้องการต่างชาติที่มีกำลังทรัพย์เข้ามา

“การแก้กฎหมายนี้ต้องใช้เวลา แต่ระหว่างนี้ก็ใช้กฎหมายเก่าได้ แต่ปัญหาของกฎหมายเก่าเพราะกว้างเกณฑ์ไป แต่ฉบับใหม่ต้องการดึงดูดคนที่เป็นเป้าหมายจริง ๆ เข้ามา”นายปกรณ์กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ถ้าเทียบกับร่างกฎกระทรวงฯ ฉบับใหม่กับกฎกระทรวงฯ ฉบับเก่าสาระสำคัญแตกต่างกันอย่างไร นายปกรณ์กล่าวว่า ร่างกฎกระทรวงฯ ฉบับใหม่ ตรงกับวัตถุประสงค์มากขึ้นเพราะแต่เดิมกฎหมายนี้เขียนไว้กว้างๆ แต่ตอนนี้ต้องได้วีซ่าระยะยาว (LTR) ก่อนซึ่ง สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ต้องคัดกรองถึงจะยื่นขอซื้อที่ดินได้ ไม่ใช่ใครก็ได้เหมือนในอดีต และแม้จะมีการแก้กฎกระทรวงส่วนนี้ก็ไม่ใช่ทุกคนจะซื้อที่ดินเพราะวิธีคิดของต่างชาติและคนไทยต่างกัน

“เราเอาวิธีคิดของคนไทย คือ เราต้องการกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ยกตัวอย่างเช่น เราซื้อคอนโดฯ เรายังซื้อคอนโดฯ เลยนะ ทั้งที่คอนโดฯ ใหญ่ ๆ ร้อย ๆ ห้อง รู้หรือไม่ว่า มีกรรมสิทธิ์ส่วนกลาง กรรมสิทธิ์ห้องชุด สมมุติตึกพังขึ้นมา จะแบ่งทรัพย์กันยังไงมันเล็ก ๆ หมด คนไทยชอบระบบกรรมสิทธิ์ ชอบเป็นเจ้าของ แต่ฝรั่งชอบเช่าระยะยาว ตราบใดที่เช่าระยะยาวได้ เขาอยู่กันจนตาย” เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฏีกา กล่าว

เมื่อถามว่า ป้องกันการรวมเป็นที่ดินแปลงใหญ่ทำอย่างไรได้บ้าง นายปกรณ์ กล่าวว่า การรวมที่ดินแปลงใหญ่ไม่มีอยู่แล้ว ที่มีคือเรื่องนอมินีทำไมไม่ไปไล่จับพวกนอมินี ที่ตอนนี้ทำกันอยู่น่ากลัวกว่าเยอะ ทำไมไม่จับ

“กฎกระทรวงฯ ฉบับปี 45 ที่มีเพียง 8 คน เพราะไม่ได้ดึงดูด จึงไปแอบตั้งบริษัท ไปหาภรรยาคนไทย หาสามีไทยและมาซื้อที่ดิน ควรเอาใต้ดินขึ้นมาไว้บนดิน และจำกัดสิทธิ ซึ่งที่ดินโอนไปไหนไม่ได้ ยกไปไหนไม่ได้ ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ต่างชาติซื้อ ปัญหาอยู่ที่แลนด์ลอร์ดคนไทย ถือที่ดินเป็นหมื่น ๆ พัน ๆ ไร่ ในสภาก็มี เศรษฐีก็ถือ ทำไมไม่กระจายให้เป็นธรรม ต้องจัดการที่ต้นเหตุ ทำอย่างไรให้คนที่มีอยู่เยอะมาก เป็นร้อย เป็นพันไร่ ให้กระจายออกมาข้างนอก ดีกว่า ไม่เล่นคำว่าขายชาติ” นายปกรณ์ กล่าว

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้เรียกนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีที่ดูแลเรื่องเศรษฐกิจ และ ม.ล.ชโยทิต กฤดากร ผู้แทนการค้าไทย และที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ขึ้นหารือที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล โดยคาดว่าจะเป็นการหารือเรื่องร่างกฎกระทรวงมหาดไทยแก้ไขเพิ่มเติมเรื่องการถือครองที่ดินของชาวต่างชาติ ที่ ครม.มีการเห็นชอบให้มีการแก้ไขรายละเอียดของกฎกระทรวง และกลายเป็นวาทกรรมการขายชาติที่รัฐบาลถูกกล่าวหาอยู่ในปัจจุบัน

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่าใน ครม.มีการหารือกันในประเด็นนี้ โดยต้องการให้มีการชี้แจงในรายละเอียดทุกอย่างโดยละเอียดว่าที่มาที่ไปของกฎหมายนี้มีที่มาอย่างไร มีการแก้ไขอย่างไร รวมทั้งเปรียบเทียบกับต่างประเทศด้วยว่ามีกฎหมายลักษณะเดียวกันอย่างไร ทั้งนี้ ครม.มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และคณะกรรมการกฤษฎีกา ช่วยออกมาชี้แจงในประเด็นนี้ด้วยว่ากฎกระทรวงนี้ออกมาเนื่องด้วยเหตุผลอะไรให้อธิบายตรงนี้ให้ชัดเจนโดยกฎหมายลักษณะนี้ต้องไปดูว่าต่างประเทศมีหรือไม่ เพราะอย่างที่เห็นถ้ามีเงินหลายประเทศเข้าไปซื้อบ้าน ซื้อที่ดินได้ อย่างอังกฤษ สหรัฐ สิงคโปร์ และอีกหลายประเทศ จะเห็นว่าอดีตนายกรัฐมนตรีของไทยก็ยังไปซื้อบ้านไว้ในหลายประเทศ.