รายงานข่าวจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมมีมติรับทราบผลการรับฟังความคิดเห็นค่าเอฟที และได้พิจารณากรณีศึกษาการปรับค่าเอฟทีขายปลีก สำหรับเรียกเก็บในงวดเดือนกันยายน-ธันวาคม 2566 มีมติเห็นชอบค่าเอฟทีเรียกเก็บจำนวน 66.89 สตางค์ต่อหน่วย ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยปรับลดลงจากงวดปัจจุบัน (พฤษภาคม-สิงหาคม 2566) จาก 4.70 บาทต่อหน่วย เหลืออยู่ที่ 4.45 บาทต่อหน่วย มีผลตั้งแต่รอบบิลเดือนกันยายน 2566 รายละเอียดเอกสารเผยแพร่ค่าเอฟทีสำหรับงวดเดือนกันยายน-ธันวาคม 2566 สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์สำนักงาน กกพ. www.erc.or.th

ทั้งนี้ การพิจารณาดังกล่าว กกพ. ยึดหลักเกณฑ์ตามประกาศ กกพ. เรื่อง กระบวนการ ขั้นตอนการใช้สูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ พ.ศ. 2565 และได้พิจารณาประโยชน์ของประเทศ รวมถึงสภาพการแข่งขันและความสามารถในการให้บริการของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และการรักษาเสถียรภาพความมั่นคงการให้บริการระยะยาวประกอบแล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ภาคเอกชนโดยคณะกรรมการภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ทบทวนค่า Ft โดยได้เสนอแนวทางการปรับ Ft งวดที่ 3 ในรอบเดือน ก.ย.-ธ.ค. 66 ที่จะสามารถบริหารให้ค่าไฟเฉลี่ยลดลงเป็นไม่เกิน 4.25 บาทต่อหน่วย ดังนี้ 1. ขอให้พิจารณาขยายเวลาการคืนหนี้ให้ กฟผ. จาก 5 งวด เป็น 6 งวด เพื่อให้ค่า Ft ลดลงอีก 10 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่ง กฟผ. จะได้รับเงินคืนครบภายในเดือน ส.ค. 68

2. ขอให้มีการบูรณาการในการจัดหาเชื้อเพลิง LNG โดยมอบหมายผู้นำเข้าหลักเพียงรายเดียวในการจัดหา (One Team) เพื่อเป็นการสกัด Demand เทียมจากผู้ส่งสินค้า (Shipper) หลายราย ที่เข้ามาจัดหาในตลาด สำหรับนำมาเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าในงวดที่ 3 เพื่อให้ได้ราคาที่เหมาะสมตามกลไกตลาด และไม่ให้ประเทศเสียเปรียบ โดยจัดหา LNG ล่วงหน้า ในราคาเฉลี่ยที่ 14-16 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ซึ่งหากเข้าสู่ฤดูหนาวแล้ว ราคา LNG ก็ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น จากความต้องการใช้พลังงานในโลกที่เพิ่มขึ้น