กระนั้น การวิเคราะห์ใหม่พบว่า ในปี 2566 มีเพียง 10 ประเทศ และ 9% ของเมืองทั่วโลกเท่านั้น ที่มีคุณภาพอากาศตรงตามแนวทางขององค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) สำหรับระดับของฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ พีเอ็ม 2.5

รายงานของ “ไอคิวแอร์” บริษัทเทคโนโลยีคุณภาพอากาศของสวิตเซอร์แลนด์ ระบุว่า สถานที่ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด อยู่ในภูมิภาคตะวันออกกลาง, แอฟริกา, เอเชียกลาง และเอเชียใต้ ซึ่งบังกลาเทศ, ปากีสถาน, อินเดีย, ทาจิกิสถาน และบูร์กินาฟาโซ ถูกจัดอันดับเป็น 5 ประเทศที่มีอากาศแย่ที่สุด เมื่อปี 2566 โดยถ่วงน้ำหนักตามจำนวนประชากร

ขณะที่เฟรนช์โปลินีเซีย, มอริเชียส และไอซ์แลนด์ เป็นประเทศที่มีมลพิษทางอากาศน้อยที่สุด

ไอคิวแอร์ พบว่า เมืองหลวงที่มีอากาศแย่ที่สุด คือ กรุงนิวเดลี, กรุงธากา, กรุงวากาดูกู, กรุงดูชานเบ และกรุงแบกแดด ส่วนเมืองหลวงที่มีความเข้มข้นของพีเอ็ม 2.5 ต่ำที่สุด ส่วนใหญ่อยู่ในภูมิภาคโอเชียเนีย, สแกนดิเนเวีย และแคริบเบียน รวมถึงกรุงเวลลิงตัน, กรุงเรคยาวิก และเมืองแฮมิลตัน ของหมู่เกาะเบอร์มิวดา

แม้แหล่งที่มาของพีเอ็ม 2.5 มีความหลากหลาย ตั้งแต่เตาเผาอิฐในบังกลาเทศ ไปจนถึงการทำเหมืองในลาตินอเมริกา แต่มลพิษส่วนใหญ่มาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซ ซึ่งดับเบิลยูเอชโอ ระบุเสริมว่า มลพิษทางอากาศภายนอกอาคาร เป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้คนเสียชีวิตก่อนวัยอันควร มากกว่า 4 ล้านคนต่อปี

อนึ่ง ผลกระทบของพีเอ็ม 2.5 มีความรุนแรงมาก แม้ความเข้มข้นจะอยู่ในระดับปานกลางก็ตาม โดยในปี 2564 ดับเบิลยูเอชโอได้กระชับแนวปฏิบัติที่แนะนำ จากความเข้มข้นของพีเอ็ม 2.5 เฉลี่ยอยู่ที่ 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เป็น 5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แต่ไอคิวแอร์ กลับพบว่า มีเพียงไม่กี่ประเทศที่อยู่ในระดับต่ำกว่าเกณฑ์นี้

รายงานของไอคิวแอร์ ตั้งข้อสังเกตว่า เมืองบางแห่งที่มีระดับมลพิษสูงในภูมิภาค เช่น เมืองตันเกอรังใต้ ของอินโดนีเซีย, เมืองร็อคลี ของออสเตรเลีย และเมืองเบโนนี ของแอฟริกาใต้ ต่างตั้งอยู่ภายในประเทศที่มีระดับมลพิษต่ำที่สุดในภูมิภาคนั้น ๆ เนื่องจากสถานที่ 2 แห่งในเมืองเดียวกัน อาจมีระดับมลพิษทางอากาศแตกต่างกันอย่างมาก ขึ้นอยู่กับว่า สถานที่เหล่านั้นอยู่ติดกับอะไร เช่น สวนสาธารณะ หรือโรงไฟฟ้า

ทั้งนี้ การทำความเข้าใจคุณภาพอากาศภายนอกอาคาร สามารถช่วยให้ผู้คนหลีกเลี่ยงความเสี่ยงได้ เช่น การงดการออกกำลังกายกลางแจ้ง เมื่อพีเอ็ม 2.5 อยู่ในระดับสูง หรือการสวมหน้ากากอนามัยที่มีประสิทธิภาพการกรองสูง ตลอดจนการใช้เครื่องกรองอากาศประสิทธิภาพสูง ภายในอาคาร

แม้ข้อสรุปโดยรวมของรายงานจะดูน่ากลัว แต่มันก็ยังมีความหวังอยู่บ้าง ดังเช่น จีน ซึ่งเคยมีคุณภาพอากาศแย่มาก่อน มีความก้าวหน้าอย่างมากในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ขณะที่ชิลี มีรายงานพีเอ็ม 2.5 ลดลง 15% จากระดับในปี 2565 และความเข้มข้นของพีเอ็ม 2.5 เฉลี่ยต่อปีของแอฟริกาใต้ ก็ลดลงในจำนวนที่คล้ายคลึงกัน

ด้าน น.ส.ดอลฟิน แฮมเมส ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของไอคิวแอร์ สาขาอเมริกาเหนือ กล่าวว่า ประเด็นสำคัญที่สุดไม่ได้มีแค่เรื่องที่ว่า พีเอ็ม 2.5 อยู่ในระดับสูงจนเป็นอันตราย แต่ยังรวมการเคลื่อนที่ออกจากแหล่งกำเนิด หรือที่เรียกว่า “มลพิษข้ามพรมแดน” ด้วย ยกตัวอย่างเช่น หลายประเทศในภูมิภาคแคริบเบียน มีคุณภาพอากาศดี เพราะกระแสลมช่วยพัดพามลพิษออกไป แต่สำหรับกรณีตรงกันข้าม เกาหลีใต้ต้องเผชิญกับพีเอ็ม 2.5 ในระดับสูง เนื่องจากลมพัดเอามลพิษจากจีนเข้าสู่ประเทศ.

เเมวเเว่น
[email protected]