เมื่อวันที่ 2 พ.ย. ผศ.ดร.ลินดา เกณฑ์มา อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา (มบส.) ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (ทปอ.มรภ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ทปอ.มรภ. ได้เชิญทาง มรภ.ทั้ง 38 แห่ง มาประชุม เพื่อทบทวนตัวชี้วัดและการประเมินผลกระทบทางสังคม โครงการตามยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ซึ่งตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ที่ชาวมหาวิทยาลัยราชภัฏ ได้ร่วมกันจัดทำยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นขึ้น 4 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย 1.ยุทธศาสตร์การพัฒนาท้องถิ่น 2.ยุทธศาสตร์การผลิตและพัฒนาครู 3.ยุทธศาสตร์การยกระดับคุณภาพการศึกษา และ 4.ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบการบริหารจัดการ โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏทุกแห่งได้มีการปรับ 3 ยุทธศาสตร์แรกร่วมกัน เพื่อให้สอดรับกับยุทธศาสตร์กลางตามเป้าหมายในการเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏของท้องถิ่น เป็นพลังของแผ่นดิน และพลังของชุมชนในพื้นที่ ส่วนยุทธศาสตร์ที่ 4 สถาบันแต่ละแห่ง ก็จะต้องไปปรับการดำเนินงานเองเพื่อเป็นไปตามบริบทของแต่ละสถาบัน

ผศ.ดร.ลินดา กล่าวต่อไปว่า โครงการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินมาตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2562-2566 เป็นเวลาเกือบ 5 ปี ซึ่งผลการดำเนินงานโครงการเริ่มสะท้อนให้เห็นถึงความเข้มแข็งและความยั่งยืนในพื้นที่ชุมชนท้องถิ่นที่มหาวิทยาลัยราชภัฏทุกแห่งได้เข้าได้ดำเนินโครงการ ดังนั้นเพื่อให้ผลการดำเนินโครงการตามยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏ เพื่อการพัฒนาท้องถิ่น สามารถตอบโจทย์ความต้องการที่สอดคล้องกับโจทย์ของประเทศ รวมถึงสามารถสะท้อนผลกระทบที่เป็นรูปธรรม และสามารถนำเสนอผลการดำเนินโครงการ ต่อสำนักงบประมาณให้เห็นถึงผลลัพธ์และผลกระทบในการดำเนินงานที่ชัดเจน ทปอ.มรภ.จึงจัดการดังกล่าวขึ้นเพื่อรับฟังแนวทางการประเมินผลกระทบทางสังคม เทคนิควิธีการจัดเตรียมชุดข้อมูล เพื่อประเมินผลกระทบทางสังคมให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้ง 38 มหาวิทยาลัยราชภัฏ นอกจากนี้ยังได้พิจารณาโครงการตามยุทธศาสตร์ มรภ.เพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ประจำปีงบประมาณ 2567 ซึ่งต้องนำเสนอต่อสำนักงบประมาณในเดือนธันวาคม 2565 ด้วย.