เมื่อวันที่ 6 พ.ย. ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เสนอผลสำรวจ เรื่อง “เพื่อไทย แลนด์สไลด์” กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ จำนวน 1,643 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 1-5 พ.ย. ผลสำรวจพบว่าถ้าวันนี้เป็นวันเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทยจะชนะการเลือกตั้งด้วยจำนวนที่นั่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ หรือจำนวนผู้แทนราษฎรจากพรรคการเมืองมากที่สุดคือ 25 ที่นั่ง และอาจสูงขึ้นถึง 30 ที่นั่ง ในการตัดสินใจของประชาชนทั้งประเทศ

รองลงมาคือ พรรคภูมิใจไทย ประมาณการว่าจะได้ 21 ที่นั่ง และอาจจะสูงถึง 26 ที่นั่ง ตามมาด้วยพรรคพลังประชารัฐ คาดว่าจะได้ 16 ที่นั่ง หรืออาจจะสูงถึง 21 ที่นั่ง โดยยังไม่มีปัจจัยย้ายพรรคของ ส.ส.จากพรรคพลังประชารัฐ และความขัดแย้งจนแพแตกแยกทางกันเดินระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เกิดขึ้นเพิ่มเติม

อันดับที่สี่และอันดับที่ห้า สูสีกันคือ พรรคประชาธิปัตย์ กับ พรรคก้าวไกล โดยพรรคประชาธิปัตย์ คาดว่าจะได้ 11 ที่นั่ง และพรรคก้าวไกล คาดว่าจะได้ 9 ที่นั่ง เป็น ส.ส.ผู้แทนราษฎรส่วนของพรรคการเมือง ตามด้วยส่วนของ พรรคชาติไทยพัฒนา 3 ที่นั่ง และพรรคการเมืองอื่น ๆ จำนวน 10 ที่นั่ง และมีอีกจำนวนที่นั่งที่อาจจะเทไปให้พรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งอีกจำนวน 5 ที่นั่ง

ที่น่าสนใจคือ เมื่อจำแนกตามภูมิภาค พบว่า พรรคเพื่อไทยแลนด์สไลด์ในภาคอีสาน ร้อยละ 45.6 รองลงมาคือ ภาคเหนือ ร้อยละ 32.9 ในกรุงเทพมหานคร ร้อยละ 29.6 ในภาคกลางร้อยละ 8.0 และในภาคใต้ ร้อยละ 6.3 ตามลำดับ

ในขณะที่ พรรคภูมิใจไทย ได้ในภาคกลางมากที่สุดคือ ร้อยละ 26.2 ภาคใต้ ได้ร้อยละ 24.0 ภาคอีสาน ได้ร้อยละ 21.2 กรุงเทพมหานคร ได้ร้อยละ 19.3 และภาคเหนือ ได้ร้อยละ 7.8 ตามลำดับ

สำหรับพรรคพลังประชารัฐในเงื่อนไขว่า ยังไม่มีการย้ายพรรคของ ส.ส.และยังไม่เกิดความขัดแย้งจนแพแตกแยกทางกันเดินระหว่างพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พบว่า ภาคใต้ ได้ร้อยละ 26.0 ภาคกลาง ได้ร้อยละ 25.8 กรุงเทพมหานครได้ร้อยละ 13.3 ภาคเหนือ ได้ร้อยละ 7.8 และภาคอีสาน ได้ร้อยละ 5.8 ตามลำดับ ในขณะที่ พรรคประชาธิปัตย์ ภาคใต้ได้ร้อยละ 24.3 ภาคกลาง ได้ร้อยละ 11.5 ภาคเหนือ ได้ร้อยละ 11.2 กรุงเทพมหานคร ได้ร้อยละ 7.4 และภาคอีสาน ได้ร้อยละ 3.7 ตามลำดับ

ส่วนพรรคก้าวไกล กระจายไปได้ภาคเหนือมากสุด ร้อยละ 14.0 กรุงเทพมหานคร ได้ร้อยละ 9.6 ภาคอีสาน ได้ร้อยละ 8.7 ภาคกลาง ได้ร้อยละ 8.2 และภาคใต้ ได้ร้อยละ 4.9 ตามลำดับ

ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา ผอ.ซูเปอร์โพล

ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวว่า ผลโพลชิ้นนี้ชี้ให้เห็นความชัดเจนว่า พรรคการเมืองเด่น ๆ ที่ค้นพบในการสำรวจครั้งนี้อยู่ที่ พรรคเพื่อไทย พรรคภูมิใจไทย พรรคพลังประชารัฐ (บนเงื่อนไขของการย้ายพรรคและความขัดแย้งจนแพแตกแยกทางกันเดินระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) พรรคประชาธิปัตย์ กับ พรรคก้าวไกล ส่วนพรรคการเมืองอื่น ๆ อาจเป็นพรรคการเมืองที่ต้องควบรวมสร้างอำนาจต่อรองการจัดตั้งรัฐบาลในอนาคตหลังการเลือกตั้งได้

ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวต่อว่า เพื่อไทยแลนด์สไลด์จะเป็นภาพที่ไม่เกินความเป็นจริงโดยเฉพาะในภาคอีสาน ส่วนในภาคอื่น ๆ ที่น่าจับตามองคือ ภาคใต้ จะกลายเป็นสนามรบแรง 3 พรรค พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย และพรรคพลังประชารัฐ ในขณะที่ กรุงเทพมหานคร จะขึ้นกับกระแสเป็นหลัก ที่โดดเด่นคือ พรรคเพื่อไทย พรรคภูมิใจไทย พรรคพลังประชารัฐ และที่น่าจับตามองมากที่สุดในสนามกรุงเทพมหานคร คือ พรรคก้าวไกล สำหรับพื้นที่ภาคเหนือ จะตกเป็นของพรรคเพื่อไทย และ พรรคก้าวไกล ที่เด่น ส่วนภาคกลาง จะกลางจริงๆ คือกระจายกันไปหลายพรรค แต่ที่จะเด่นขึ้นมาคือ พรรคภูมิใจไทย กับ พลังประชารัฐ ในภาคกลาง แต่ถ้าแพแตก ก็ค่อยว่ากันอีกภาพหนึ่ง

“แต่มีสัญญาณจากข้อมูลที่เป็นวิทยาศาสตร์ส่วนหนึ่งชี้ให้เห็นว่ามีความน่าจะเป็น ชัชชาติ เอฟเฟกต์ ที่ทำให้คู่แข่งขันทางการเมืองแตกกระจายเป็นส่วนย่อย ๆ ไร้พลังสู้ เกิดขึ้นในการสู้รบทางการเมืองระดับชาติได้ คือ พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล เข้มแข็ง ในขณะที่ พรรคคู่แข่งเช่น พรรคพลังประชารัฐ พรรคภูมิใจไทย และพรรคประชาธิปัตย์ จะถูกปั่นกระแสทำลายให้อ่อนแอ ทั้งจากภายในฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้านและฝ่ายอื่นๆ จึงอาจจะเห็นภาพ เพื่อไทยแลนด์สไลด์เกิดขึ้นแท้จริง ก็เป็นไปได้เหมือนชัยชนะที่ชัชชาติ ทำได้มาแล้ว” ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าว.