ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช กอปรกับช่วงเวลาครั้งทรงมีพระชนมพรรษาขึ้น 6 รอบ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2541 “งานประเพณีไหลแพไฟเฉลิมพระเกียรติ” จึงเกิดขึ้นเพื่อแสดงออกถึงความจงรักภักดี ภายใต้การนำของ นายสมชาย หถยะสันติ นายอำเภอตรอน ขณะนั้น โดยครั้งแรกมีเพียงแพรูปจำลองเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ และแพประกอบหนึ่งแพเท่านั้น ปรากฏว่ามีผู้คนทั้งจากในอุตรดิตถ์เองและจังหวัดใกล้เคียง เดินทางมาเที่ยวชมเป็นจำนวนมาก จึงกำหนดจัดเป็นประจำทุกปี โดยมีการเพิ่มชื่อ “ประเพณี ขอบคุณพืชพันธุ์ธัญญาหารและสาย น้ำ” ต่อท้ายด้วย

นายสมหวัง พ่วงบางโพ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ กล่าวว่า ประเพณีไหลแพไฟเฉลิมพระเกียรติฯ เป็นงานประเพณีสำคัญของอุตรดิตถ์ที่จัดต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 23 เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นการแสดงความจงรักภักดี และน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของสถาบันพระมหากษัตริย์ทุก ๆ พระองค์ รวมทั้งเป็นการขอบคุณพืชพันธุ์ธัญญาหารและสายน้ำน่าน ที่หล่อเลี้ยงชาวตรอนและชาวอุตรดิตถ์ตลอดมา เป็นการแสดงความกตัญญูรู้คุณ และรวมพลังความสามัคคี

นอกเหนือจากการไหลแพไฟแล้ว การแสดงวิถีชีวิตของชาวบ้านหาดสองแคว อย่างประเพณีการหาบจังหัน หรือการตักบาตรหาบจังหัน เป็นอีกหนึ่งอัตลักษณ์ของชุมชนที่สืบทอดจากบรรพบุรุษซึ่งถูกกวาดต้อนมาจากเวียงจันทน์ สปป.ลาว ในสมัยรัชกาลที่ 3 ชื่อชุมชนบ้านหาดสองแควมาจากลักษณะของภูมิประเทศของแม่น้ำน่านที่เปลี่ยนแปลงไปตามธรรมชาติ เมื่อตะกอนดินถูกพัดพามาทับถมจนกลายเป็นสันทรายตามแนวยาวของหมู่บ้าน ชาวลาวเวียงในยุคแรกจากฝั่งตะวันตกของแม่น้ำน่าน เมื่อชุมชนขยายใหญ่ขึ้นจึงขยับมาตั้งบ้านเรือนขึ้นเป็นชุมชนเล็ก ๆ ตามแนวสันทราย โดยมีสายน้ำสองสาย ได้แก่ แม่น้ำน่านและคลองตรอน ไหลมาบรรจบกันบริเวณที่ตั้งชุมชนปัจจุบัน

ประเพณีการตักบาตรหาบจังหัน ถือเป็นวัฒนธรรมการตักบาตรตอนเช้าที่เป็นเอกลักษณ์ประจำถิ่น โดยพระสงฆ์จะแบ่งสายออกเดินไปตามหมู่บ้าน โดยไม่มีชาวบ้านออกมาตักบาตร เมื่อสิ้นสุดเส้นทางแล้วจะเดินกลับ เมื่อพระสงฆ์เริ่มเดินบิณฑบาตกลับ ชาวบ้านที่อยู่ท้ายบ้านจะตีเกราะเป็นสัญญาณให้คนในชุมชนออกมาตักบาตรข้าวเปล่า เมื่อพระสงฆ์เดินไปสักระยะหนึ่ง ก็จะตีเกราะไม้ไผ่อีกครั้ง ชาวบ้านจะนำสำรับอาหารหรือปิ่นโตมาวางไว้บนแป้นหน้าบ้าน จากนั้นจะมีนางหาบ นายหาบ แต่งตัวชุดลาวเวียง วันละประมาณ 10 หาบ ทำหน้าที่สับเปลี่ยนหมุนเวียนหาบเอาอาหารเดินตามพระเข้าวัด โดยหยิบอาหารที่วางบนแป้นไปวัดโดยวางลงในหาบจังหัน แล้วนำอาหารไปถวายพระโดยไม่เปลี่ยนถ่ายถ้วยชาม ถวายเสร็จแล้วนางหาบ นายหาบ ก็จะเอาชามอาหารของแต่หลังวางคืนไว้แป้นเสาหน้าบ้าน เป็นอย่างนี้ประจำทุกวัน

ไม่ใช่เพียงแค่การตักบาตรที่ยังคงวิถีดั้งเดิม แม้จะมีภาษากลางที่เป็นภาษาราชการใช้เป็นหลัก มีภาษาเหนือเป็นภาษาถิ่น แต่ภาษาลาวเวียง ก็ยังคงถูกคนในชุมชนใช้ผสมผสานอยู่ อย่างกะโป๊ะหมายถึงกะลา หรืออิ้นที่หมายถึงเล่น ขณะที่วัฒนธรรมด้านอาหารเป็นอีกรากเหง้าที่ชุมชนลาวเวียงแห่งนี้อนุรักษ์ไว้ หนึ่งในนั้นคือ “อั่วบักเผ็ด” อาหารพื้นถิ่นที่ถ่ายทอดจากบรรพบุรุษรุ่นต่อรุ่น ซึ่งถูกบรรจุให้เป็นหนึ่งในกิจกรรมของชุมชนที่จะให้ ผู้มาเยือนได้เรียนรู้และลองทำ ตั้งแต่เตรียมวัตถุดิบ ปรุง ยัดไส้ ทอด จบด้วยการชิม

อยากรู้จักชาวลาวเวียงมากขึ้น แนะนำให้เข้าพักโฮมสเตย์ในชุมชน นอกจากจะได้ใส่ชุดของชาวลาวเวียงบ้านหาดสองแคว ที่ชาวบ้านยังสวมใส่ทุกครั้งที่มีงานประเพณีหรือยามเข้าวัดทำบุญแล้ว ยังจะได้หัดทำกล้วยฉาบ มันฉาบ ไม้กวาด สาแหรกหรือจังหันจิ๋ว ปักผ้าลายเอกลักษณ์ของชุมชน สนุกกับการมัดย้อม ตบท้ายด้วยถนนสายวัฒนธรรมชุมชนลาวเวียง ที่จะเป็นแหล่งรวมทุกอัตลักษณ์ จัดขึ้นเฉพาะศุกร์และเสาร์แรกของเดือนเท่านั้น

สำหรับการไหลแพไฟระยะทาง 10 กิโลเมตร เริ่มตั้งแต่ท่าน้ำวัดวังแดง ตลอดระยะเวลาเกือบ 3 ชั่วโมง พบกับขบวนแพไฟเฉลิมพระเกียรติที่ยิ่งใหญ่อลังการ ประกอบด้วยแพนำร่อง “เอกองค์อัมรินทร์” แพประธาน “นวมินทร์มหาราช” ตามด้วย “ปราชญ์แห่งแผ่นดิน” ตามด้วย “อัครศิลปิน” “ภูมินทร์ภัทรราชัน” “คุ้มเกล้าประชาสุขสันต์” และสุดท้ายบ้านแก่ง “ราชันแห่งราชา”

มาถึงตรอนแล้ว อย่าลืมไปสักการะหลวงพ่ออกแตก ที่วัดบ้านแก่งใต้ แวะเช็กอินที่สะพานปรมินทร์ หรือสะพานดารา สะพานรถไฟข้ามแม่น้ำน่านอายุกว่าร้อยปี เดินเล่นให้หวาดเสียวที่สะพานสลิงบ้านแก่ง

นายอนันต์ สีแดง ผู้อำนวยการ ททท. สำนักงานแพร่, อุตรดิตถ์ กล่าวว่า การจัดงานประเพณีไหลแพไฟเฉลิมพระเกียรติฯ ครั้งนี้ ชูจุดเด่นเรื่องวัฒนธรรม ความเชื่อความศรัทธาที่มีต่อสายน้ำน่าน รวมถึงเรื่องราววิถีท้องถิ่นของผู้คนลาวเวียง หาดสองแคว ที่มีเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ คงความเป็นวัฒนธรรมดั้งเดิม ติดตัวสืบทอดกันมาจากบรรพบุรุษ ในคราวอพยพมาจากเวียงจันทน์ สปป.ลาว

งานประเพณีไหลแพไฟเฉลิมพระเกียรติฯ ประจำปี พ.ศ. 2565 จัดขึ้นระหว่าง 3-5 ธ.ค. 2565 นี้ ณ 5 ท่าน้ำ เริ่มที่ท่าน้ำวัดวังแดง ต.วังแดง ผ่านมาทางท่าน้ำลานอเนกประสงค์ของเทศบาลตำบลตรอน ท่าน้ำองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านแก่ง ท่าน้ำลานริมน้ำน่านเทศบาลตำบลบ้านแก่ง และไปสิ้นสุดจอดรวมกันที่ท่าน้ำวัดหาดสองแคว.