เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจาก พล.ต.ท.นันทเดช ย้อยนวล ผบช.ภ.9 ถึงความคืบหน้าในการดำเนินคดีกับ ขบวนการทุจริตข้อสอบในการสอบเข้าโรงเรียนนายสิบ ศูนย์ฝึกอบรมตำรวจภูธรภาค 9 (ศฝร.ภ.9) ว่า สาเหตุที่ยังไม่ได้แจ้งความดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด เพราะคณะกรรมการที่มี พล.ต.ต.ดุษฎี ชูสังกิจ รอง ผบช.ภ.9 ทำหน้าที่เป็นประธานสอบ ต้องการให้มีการรวบรวมพยานหลักฐานให้รัดกุมที่สุด เพื่อให้ผู้ร่วมทำความผิดดิ้นไม่หลุด รวมทั้งต้องการเชื่อมโยงไปยังผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอาจจะมากกว่าที่อยู่ในข่ายของการทำผิดที่มีอยู่

คดีนี้เป็นคดีใหญ่ที่ต้องทำด้วยความรอบคอบ ซึ่งตั้งแต่มีการจับผู้สมัครอบคนแรกคือ นายเอ (นามสมมุติ) ในสนามสอบแห่งหนึ่ง ใน อ.เมือง จ.สงขลา เมื่อวันที่ 27 มีนาคม ในห้องสอบ พร้อมหลักฐานคือ กระดาษเฉลยข้อสอบ และส่งดำเนินคดีกับทางพนักงานสอบสวน สภ.เมืองสงขลา ก่อนจะสอบสวนขยายผลไปยังผู้ร่วมขบวนการทุจริต เพื่อความรอบคอบรัดกุมและได้ตัวทั้งผู้ขายข้อสอบ และซื้อข้อสอบ จึงมีการนำนักเรียน 30 คน ที่อยู่ในข่ายต้องสงสัยมาให้ทำข้อสอบใหม่ ที่เป็นข้อสอบเดิม ปรากฏว่า “…ทำข้อสอบไม่ได้…” และหลังจากนั้นทางกองบัญชาการตำรวจภาค 9 จึงได้ร่วมมือกับตำรวจส่วนกลาง ทำการสืบสวนสอบสวนจากเบาะแสผู้ที่จับกุมได้เป็นคนแรก จนรู้ถึงผู้ร่วมขบวนการ สถานที่นัดพบ รายชื่อการโอนเงินทางผู้เข้าสอบ เข้าบัญชีของใครบ้าง ขอให้เชื่อว่า ไม่มีการช่วยเหลือใคร และมาเป็นมวยล้มต้มคนดู แต่ที่ล่าช้า เพราะต้องการสาวไปถึงผู้ที่อยู่เบื้องหลัง

รายงานข่าวจาก “ศูนย์ฝึกอบรมฯ” ที่เป็นเจ้าทุกข์ เพราะเป็นผู้เสียหายโดยตรงแจ้งว่า สาเหตุที่ พล.ต.ต.ธรรมนูญ ประยืนยง ผบก.ศูนย์ฝึกอบรมฯ ยังไม่สามารถเข้าแจ้งความได้ เนื่องจากมีคำสั่งจาก พล.ต.ท.นิรันดร เหลื่อมศรี ผช.ผบ.ตร. ซึ่งมีคำสั่งจาก ผบ.ตร. ให้เข้าควบคุมคดีนี้ ได้สั่งการให้สอบเพิ่มผู้เสียหาย และพยาน รวมทั้งหลักฐานที่เป็นเส้นทางการโอนเงิน ในกลุ่มของผู้ที่อยู่ในขบวนการทุจริตทั้งหมด ซึ่งเชื่อว่ามีมากกว่านี้ รวมไปถึงโรงเรียนกวดวิชาแห่งหนึ่ง ที่อยู่ในขบวนการนี้ด้วย

ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ ตามกฎหมายผู้ที่ “จ่ายเงิน” คือผู้เข้าสอบจำนวน 118 ราย ที่ถูกจำหน่ายจากสารบบการเป็นนักเรียนนายสิบแล้ว ต้องเป็นผู้ต้องหาในการทุจริตครั้งนี้ด้วย การติดตามตัวการสอบสวนสืบสวนจึงต้องใช้เวลามากขึ้น และต้องมีการกันบุคคลบางกลุ่ม เพื่อเป็นพยานบุคคลในคดี ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเรื่องนี้มีการสืบสวนสอบสวนมาแล้วหลายเดือน จนกลายเป็นข่าวฉาวขึ้น ทำให้ผู้ใหญ่ระดับสูงในส่วนกลางให้ความสำคัญ และสั่งให้มีการสอบเพิ่มในหลายประเด็น และหลายคน

ส่วนการตรวจสอบด้านการเงิน พบว่ามีการโอนเงินรวมกว่า 50 ล้านบาท เริ่มจากเส้นทางแรก น.ส.สวย (นามสมมุติ) ข้าราชการหน่วยงานหนึ่งใน จ.ตรัง โอนเข้าบัญชีของตำรวจหญิงคนหนึ่ง ซึ่งมีความเกี่ยวกับเป็นน้องสาว และเส้นทางที่ 2 คือ บัญชี น.ส.สวย โอนเข้าบัญชีของ นายเอก (นามสมมุติ) สามีของ น.ส.สวย ซึ่งเป็นติวเตอร์ จากสถาบันติวเตอร์ชื่อดังใน จ.สงขลา เชื่อมโยงไปถึง นายทัน (นามสมมุติ) สามีของตำรวจหญิง โดยขณะนี้ ทางเจ้าหน้าที่กำลังติดตามหาหลักฐานการเชื่อมโยงไปยังบัญชีอื่น ๆ ด้วย แม้ว่าทาง น.ส.สวย จะปิดบัญชีกับธนาคารไปแล้วก่อนการสอบวันที่ 27 มี.ค. ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามคดีนี้ เจ้าหน้าที่พบว่า รายชื่อของผู้ต้องหาเป็นคนที่อยู่ใน จ.สงขลา เกือบทั้งหมด สถานที่มีการจับผู้ทุจริตในการสอบ ก็อยู่ในพื้นที่ของ จ.สงขลา ทำให้เชื่อว่าน่าจะเป็นขบวนการใหญ่ ที่เกี่ยวข้องกับการสอบเข้าโรงเรียนนายสิบทุกครั้ง.