นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (บอร์ด กกพ.) วันที่ 28 ธ.ค.65 จะมีความชัดเจนถึงแนวทางการทบทวนอัตราค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) งวด ม.ค.-เม.ย.66 ประเภทอื่นๆ ได้แก่ ธุรกิจ อุตสาหกรรม บริการ ที่จะลดต่ำลงจากเดิมที่ก่อนหน้าต้องปรับขึ้นไปอยู่ที่อัตรา 190.44 สตางค์ต่อหน่วยหรือค่าไฟเฉลี่ยรวมเป็น 5.69 บาทต่อหน่วย แต่จะลดลงมากน้อยเท่าใดจำเป็นต้องรอการสรุปปัจจัยต่างๆ ทั้งจากภาระหนี้ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และความร่วมมือของภาคเอกชนเอง ส่วนการช่วยเหลือค่าไฟให้กับผู้ใช้ไฟไม่เกิน 500 หน่วยต่อเดือนเพิ่มเติม คงจะต้องรอความชัดเจนวงเงินจัดสรรรายได้จาก บมจ.ปตท. 6,000 ล้านบาท ตามที่มติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อ 25 พ.ย. ขอความร่วมมือไว้

“นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ผมมาดูแลข้อเรียกร้องของภาคเอกชนที่ต้องการให้ดูแลค่าไฟฟ้า ซึ่งเราให้การช่วยเหลือประชาชนโดยตรึงค่าเอฟทีงวด ม.ค.-เม.ย.66 ประเภทบ้านที่อยู่อาศัยที่มี 25 ล้านครัวเรือนไว้เฉลี่ยที่ 4.72 บาทต่อหน่วย เพราะเราพบว่ากลุ่มนี้ใช้ไฟลดต่ำลงเท่ากับว่าเขาประหยัด ขณะที่ภาคเอกชนมีการใช้เพิ่มขึ้นจึงทำให้ต้องมีใช้ไฟเพิ่มและยิ่งต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ที่มีราคาสูงมากเพราะผลกระทบจากสงครามรัสเซียและยูเครนที่วิกฤติจริง ซึ่งรัฐบาลไม่ได้อยากไปผลักภาระให้กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีบุญคุณต่อการเติบโตของประเทศ และยืนยันว่าตัวเลขเอฟทีจะลดลงแน่นอน แต่อาจไม่ถูกใจใคร จึงอยากให้มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ทุกฝ่ายพยายามเต็มที่ ต้องเสริมสภาพคล่อง กฟผ. ด้วย พิจารณาตัวเลขคืน กฟผ. ที่ 0.33 สตางค์ คือต่ำเท่าที่จะต่ำได้แล้ว

ทั้งนี้ เป็นไปได้หรือไม่ที่เอกชนบางส่วนที่ใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตให้มีการใช้ลดลงเพื่อลดนำเข้าแอลเอ็นจี โดยหันไปใช้น้ำมันเตา และดีเซล แทนเป็นการชั่วคราวหรือหากต้องการใช้ก็ขอให้ไม่เป็นราคาพู ไพซ์ ซึ่งเอกชนเหล่านี้ก็อยู่ในคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เช่นเดียวกับสมาคมธนาคารไทย สามารถลดอัตราดอกเบี้ยช่วยเหลือกันเองได้หรือไม่ รวมถึงการทบทวนค่าความพร้อมจ่าย (เอพี) ที่ กฟผ. พร้อมจะเจรจาเอกชนอยู่แล้ว หากได้ข้อยุติต่างๆ ค่าเอฟที จะไม่ขึ้นก็เป็นไปได้มาก”

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานและในฐานะโฆษก กกพ. กล่าวว่า ค่าเอฟทีกลุ่มอื่นๆ จะลดลงได้มากน้อยแค่ไหนอยู่ที่ 2 ส่วนคือ กฟผ.จะมีความสามารถในการเลื่อนชำระหนี้ได้มากน้อยเพียงใดเพราะงวด ม.ค.-เม.ย.66 ได้มีการคำนวณค่าไฟทยอยคืนกฟผ. 0.33 บาทต่อหน่วย หรือคิดเป็นวงเงิน 20,000 ล้านบาทต่องวด จากยอดหนี้รวม 1.2 แสนล้านบาท ทยอยจ่ายคืนภายใน 2 ปี และ บมจ.ปตท. มีการทบทวนตัวเลขราคาก๊าซฯ สำหรับโรงไฟฟ้าเอกชน ตัวเลขเบื้องต้นอาจจะลดลงได้ 20 สตางค์ต่อหน่วย แต่ก็อยู่ที่การพิจารณาตัวเลขต่างๆที่ชัดเจนอีกครั้ง เพราะยังมีหลายปัจจัยที่อาจเปลี่ยนแปลงได้เมื่อมีการหารือ

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. กล่าวว่า ปตท. อยู่ระหว่างหาวิธีช่วยเหลือตามมติ กพช. ขอความร่วมมือพิจารณาจัดสรรรายได้จากการดำเนินธุรกิจโรงแยกก๊าซฯ ประมาณ 1,500 ล้านบาทต่อเดือน ระยะเวลา 4 เดือน (ตั้งแต่ ม.ค.-เม.ย.66) เป็น 6,000 ล้านบาท มาช่วยสนับสนุนในรูปแบบที่เหมาะสมเพื่อลดต้นทุนค่าไฟฟ้า แบ่งเป็นส่วนที่ 1 ลดราคาค่าก๊าซฯ ให้ กฟผ. เพื่อลดค่าไฟกลุ่มเปราะบางที่ใช้ไฟฟ้าต่ำกว่า 500 หน่วยต่อเดือน

ส่วนที่ 2 ลดราคาก๊าซฯ สำหรับโรงแยกก๊าซฯ ในการคำนวณต้นทุนก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) เพื่อเป็นเชื้อเพลิง ทั้งนี้ การช่วยเหลือมีหลายวิธีที่ไม่ใช่เฉพาะการช่วยเหลือในเรื่องของเงินเท่านั้น แต่ยังมีการบริหารจัดการเพื่อที่จะทำให้ต้นทุนลดลงเพื่อเอาไปคำนวณช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง เป็นต้น  

นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวว่า กฟผ. ยังจำเป็นจะต้องได้รับเงินเพื่อทยอยจ่ายคืนหนี้ซึ่ง ณ สิ้นเดือน ธ.ค. จะรวมเป็น 1.6 แสนล้านบาท เพราะไม่สามารถกู้เงินได้อีกแล้วหากจะช่วยเหลือค่าไฟจำเป็นที่รัฐจะต้องพิจารณางบประมาณมาสนับสนุนหรือ การยกเว้นการนำเงินส่งเข้าคลังของ กฟผ. ทั้งหมดในปีงบประมาณ 65 เท่านั้น เพื่อมาชดเชยกับภาระที่ กฟผ. จะได้รับทยอยคืนเงินจากการคำนวณค่าไฟงวด ม.ค.-เม.ย.66 เฉลี่ยที่คำนวณไว้ 0.33 บาทต่อหน่วย.