นายแมตเธียส ฟิลิปส์สัน ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ขององค์กรไม่แสวงหาผลกำไร “สวีดิช พลาสติก รีไซคลิง” อธิบายว่า โรงงานใช้แสงอินฟาเรด, เลเซอร์, กล้อง หรือแม้แต่ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ในการคัดแยกกองขยะพลาสติก

ไซต์ ซีโร่ ตั้งอยู่นอกเมืองโมตาลา ห่างจากกรุงสตอกโฮล์ม ไปทางตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 200 เมตร เริ่มดำเนินการตั้งแต่ช่วงปลายปี 2566 และได้รับการยกย่องจากองค์กรว่าเป็น “โรงงานรีไซเคิลพลาสติกขนาดใหญ่ที่สุด และทันสมัยที่สุดในโลก”

โรงงานอัตโนมัติเต็มรูปแบบแห่งนี้ สามารถจัดการกับขยะได้มากถึง 200,000 ตันต่อปี และแยกพลาสติกได้ 12 ประเภท เมื่อเทียบกับโรงงานทั่วไป ที่สามารถจำแนกได้แค่ 4 ประเภทเท่านั้น ขณะที่ผู้ดำเนินการไซต์ ซีโร่ คาดหวังว่า กฎหมายใหม่ของสหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งกำหนดให้บรรจุภัณฑ์ใหม่ประกอบด้วยพลาสติกรีไซเคิลจำนวนหนึ่ง จะช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมรีไซเคิลได้

“เราได้รับบรรจุภัณฑ์พลาสติกทั้งหมดที่ผู้คนคัดแยกตามครัวเรือนในสวีเดน” ฟิลิปส์สัน กล่าวเพิ่มเติมว่า โรงงานมีความสามารถในการจัดการกับขยะพลาสติกทั้งหมดของสวีเดน

ทั้งนี้ ขยะพลาสติกหลายพันชิ้นจะเคลื่อนผ่านเส้นทางที่เป็นเหมือนเขาวงกตซับซ้อน โดยมีเครื่องจักรหลายประเภท คอยระบุและแยกพลาสติกออกเป็นหมวดหมู่ต่าง ๆ ยิ่งไปกว่านั้น ไซต์ ซีโร่ ยังสามารถแยกโพลีไวนิลคลอไรด์ (พีวีซี) และโพลีสไตรีน ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นพลาสติกที่ไม่สามารถนำมาใช้ซํ้าในผลิตภัณฑ์ใหม่ได้ด้วย

“แนวคิดนี้คือ การเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจหมุนเวียน และลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล” ฟิลิปส์สัน กล่าว “ในอดีต บรรจุภัณฑ์พลาสติกมากกว่า 50% ถูกเผาทำลาย เพราะโรงงานคัดแยกแบบเก่า ไม่สามารถจำแนกประเภทพลาสติกทั้งหมดได้ แต่ในปัจจุบัน ขยะที่ถูกเผา มีไม่ถึง 5% แล้ว”

อย่างไรก็ตาม สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสวีเดน (อีพีเอ) ระบุว่า การรีไซเคิลพลาสติกของประเทศ ไม่ได้อยู่ในอันต้น ๆ โดยในปี 2565 ขยะพลาสติกในสวีเดนได้รับการรีไซเคิลแค่ 35% ซึ่งตํ่าว่าค่าเฉลี่ยของอียูที่ 40% ส่วนการเผาขยะพลาสติกเพื่อใช้ในการผลิตความร้อนและไฟฟ้า คิดเป็นประมาณ 7% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ

“ชาวสวีเดนเก่งในเรื่องการรีไซเคิลขยะทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นโลหะ, กระดาษ และแก้ว เพราะพวกเราทำสิ่งนี้มาเป็นเวลานาน และมีอุตสาหกรรมที่ต้องการวัสดุเหล่านี้ แต่สำหรับพลาสติก มันยังไปได้ไม่สวย เพราะมันมีหลายอย่างที่ไม่ถูกคัดแยก ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของครัวเรือนและธุรกิจหลายแห่ง ด้วยเหตุนี้ เราจึงจำเป็นต้องดำเนินการคัดแยกอย่างจริงจัง” นางอาซา สเตนมาร์ก ผู้สันทัดกรณีจากอีพีเอ กล่าว

อนึ่ง พลาสติกรีไซเคิลยังคงประสบปัญหาการนำมาใช้ในวงกว้าง เนื่องจากมันมีราคาแพงกว่าพลาสติกผลิตใหม่ โดยเฉลี่ยถึง 35% ซึ่งสเตนมาร์ก ชี้ว่า พลาสติกบางประเภทในไซต์ ซีโร่ ยังคงเป็นสิ่งแปลกใหม่ในตลาดรีไซเคิล.