ปัจจุบันสามารถนำเส้นใยของกล้วยให้เป็นหนัง จนสามารถผลิตเป็นกระเป๋า หรือเรียกว่าหนัง “วีแกน” หมายถึงหนังที่ทำมาจากพืชไม่ใช้สารเคมี ในกระบวนการฟอก เหมือนกับการผลิตจากหนังสัตว์และไม่เบียดเบียนสิ่งมีชีวิต

“นอร์ท-อนุภา มณีจันทร์” ได้พัฒนาหนังจากกล้วยขึ้น โดยวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ จุดเริ่มต้นเริ่มจากชุมชนที่อาศัยอยู่ใน
จ.ราชบุรี มีพื้นที่ปลูกกล้วยเป็นอันดับ 5 ของประเทศ (ข้อมูลก่อนที่รัฐบาลจะประกาศเก็บภาษีที่ดิน) ประกอบกับมีภูมิปัญญาเรื่องงานทอผ้าที่ตกทอดที่มีชื่อเสียงคือ ผ้าจก คูบัว หนองโพ บางกะโด ผ้าดอนแร่ และชุมชนดอนแร่มีผู้พิการ ซึ่งรวมกลุ่มกันทำงานทอผ้า แต่ยังขาดเรื่องงานดีไซน์ นอร์ทได้เข้าไปช่วยเสริม และได้เพิ่มเส้นใยจากกล้วยขึ้นมา หลังจากก่อนหน้านั้นได้พัฒนาเส้นใยจากผักตบชวา และเส้นใยจากสับปะรดจนสามารถมาถักทอขึ้นรูปเป็นกระเป๋าได้ โดยสร้างแบรนด์ Donn Donn By Don Manee แบรนด์กระเป๋าของทุกคนในชุมชนที่การันตีคุณภาพด้วยรางวัลด้านนวัตกรรมจากเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์

เอกลักษณ์ที่โดดเด่นของกระเป๋า “Donn” อยู่ที่การดึงคุณสมบัติของไฟเบอร์จากต้นกล้วยและผักตบชวา ขยะทางการเกษตรที่เป็นปัญหากับชุมชน พัฒนาเส้นใยธรรมชาติถักทอเป็นเนื้อผ้าแข็งแรง และกรรมวิธีเฉพาะจนไม่เกิดเชื้อรา โดยใช้คราม ขมิ้น ดอกบัว ฯลฯ มาเป็นสีย้อม ก่อนจะนำมาออกแบบเป็นกระเป๋าสตางค์ กระเป๋าถือ กระเป๋าสะพาย
และกระเป๋าใส่แล็ปท็อป เป็นที่ชื่นชอบของทั้งคนไทยและคนต่างชาติ

นอร์ท อธิบายถึงกระบวนการทำเส้นใยจากกล้วยจนออกมาเป็นหนังจากพืชว่า นำต้นกล้วยมาทุบเพื่อแยกนํ้าออกจากเนื้อ จะได้เส้นใยที่มีลักษณะเป็นเส้นพลาสติกแต่เป็นเส้นเอ็นของพืช ส่วนนํ้าที่เหลือจากการแยกกาก จะนำมาเพาะเนื้อเยื่อจนเป็นหนังเพราะในต้นกล้วยมี “นํ้านม”อยู่ในนั้น จากนั้นนำไปตากแดด 30 วัน จะได้หนังจากกล้วยที่มาทดแทนหนังจากสัตว์ได้

นอร์ท บอกเล่าว่า เส้นใยของกล้วยมีความเหนียวแข็งแรง และมีความมันวาวเมื่อนำมาทำเป็นหนังทำให้ได้หนังประเภทที่ไม่ใช้สารเคมี ตอบโจทย์กลุ่มประเทศยุโรป (อียู) ที่ไม่ยอมรับสินค้าที่มีหนังสัตว์เข้าไปในกลุ่มประเทศของเขา จึงกลายเป็นคุณสมบัติที่ตอบโจทย์ตลาดโลก และจากการทดสอบความแข็งแรงหนังจากพืชไม่ต่างจากหนังสัตว์

สำหรับแนวทางการพัฒนาหนังจากกล้วยต่อไปคือการพัฒนาผิวสัมผัสให้มีความรู้สึกเหมือน “หนังวัว” เนื่องจากหนังวัวมีหลายรูปแบบทั้งมันวาว มันด้าน และสร้างความเข้าใจที่จะให้ผู้บริโภคเข้าใจหนังประเภทพืช ต้องทำให้เสมือนไม่แตกต่างจากเก่ามากนัก จึงต้องพัฒนาต่อ รวมถึงความแข็งแรงที่ใกล้เคียง ซึ่งหนังวีแกนแค่แข็งแรงระดับหนึ่งแต่เรายังรู้สึกว่า ต้องแข็งแรงได้มากกว่านั้นอีก

“แต่เราเข้าใจถ้าเปรียบเทียบหนังพืชกับหนังสัตว์ มีความแข็งแรงแตกต่างกัน หนังสัตว์ต้องแค่ไหนแล้วเอามาใช้ผลิตสินค้า ที่นำมาใช้ ขณะเดียวต้องสร้างความเข้าใจกับผู้บริโภคด้วยว่า ยอมรับได้หรือไม่ เพราะคนเข้าใจว่าถ้าไม่ใช่หนังสัตว์อาจเป็นหนังพียู แต่คำว่า วีแกนคือการไม่ฆ่าสัตว์แต่เราเป็นวีแกนประเภทพืชโดยตรง”

คุณค่าอีกประการหนึ่งที่พบในต้นกล้วย คุณสมบัติตัวนํ้านมของกล้วยสามารถเอามาเป็น “อะโรมาสปา” ได้อีกช่วยเรื่องแก้ปวดหัวไมเกรน ออฟฟิศซินโดรม เพราะมีงานวิจัยรระบุว่า กลิ่นของนํ้านมในกล้วยทำให้เซลล์สมองที่เป็นขั้วลบให้จางลงเป็นขั้วบวก ลดความเครียด ซึ่งกลิ่นจะเหมือนคล้ายแป้งเด็ก เชื่อมโยงกับกล้วยเป็นอาหารมื้อแรกของทารก นอกจากนี้ในนํ้านมในต้นกล้วยจะมีคุณสมบัติช่วยทำให้ผิวหน้าตึงกระชับ แก้ปวดเมื่อย จึงมีคนนำเส้นใยของต้นกล้วยไปผสมกับผ้าสปินเด็กใส่ลูกประคบเพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดเมื่อยได้

แนวคิดที่นำทุกส่วนของกล้วยมาใช้ประโยชน์ไม่ว่าทั้งต้น กาบ ก้านใบ ขณะที่ผลของกล้วยเป็นอาหาร เดิมทีต้นกล้วยจะเป็นขยะที่ต้องทิ้ง เมื่อทิ้งรวมกันกลายเป็นแหล่งเพาะเชื้อยุงลาย เกิดภาวะแพร่ระบาดยุงลายใน จ.ราชบุรี การใช้ประโยชน์ต้นกล้วยทุกส่วน ช่วยตอบโจทย์บีซีจี (BCG) เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวมที่มุ่งเน้นการพัฒนา 3 เศรษฐกิจไปพร้อมกัน ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) มุ่งสร้างมูลค่าเพิ่มของทรัพยากรชีวภาพ เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจ หมุนเวียน (Circular Economy) คำนึงถึงการใช้ทรัพยากรให้เกิดความคุ้มค่าหรือยาวนานที่สุด และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) การพัฒนาเศรษฐกิจโดยคำนึงถึงความยั่งยืนของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ที่ใช้ทุกอย่างคุ้มค่า ไม่เหลือขยะ และพัฒนาต่อยอดให้ผลิตภัณฑ์มีมูลค่าเพิ่มขึ้นมาได้.

พรประไพ เสือเขียว
[email protected]