เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 5 ม.ค. ที่กรมราชทัณฑ์ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม เป็นประธานการมอบนโยบายผู้บริหารกรมราชทัณฑ์ และผู้บริหารงานราชทัณฑ์ทั่วประเทศ โดยมี นางพงษ์สวาท กายอรุณสุทธิ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ผู้บัญชาการเรือนจำ และเจ้าหน้าที่ทั่วประเทศ เข้าร่วม ประชุม 

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า การเดินทางมาวันนี้เพราะสังคมเกิดคำถามจำนวนมากเกี่ยวกับการทำหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์โดยเฉพาะกรณีนายประสิทธิ์ เจียวก๊ก พยายามหลบหนีการดูแลของเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ ขณะอยู่ในศาล ซึ่งทำให้สังคมตั้งข้อสังเกตถึงมาตรการที่หละหลวมจนนายประสิทธิ์ วางแผนหลบหนีได้ ซึ่งเรื่องนี้เป็นหน้าที่กรมราชทัณฑ์ที่ต้องดูแลอย่างเข้มงวด และต้องให้ความสนใจในงานของตัวเอง ทั้งเจ้าหน้าที่ ผู้บัญชาการเรือนจำ หรืออธิบดีกรมราชทัณฑ์ ที่ต้องสนใจในหน้าที่ของตัวเอง ส่วนผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ต้องมีการตรวจเส้นทางการนำผู้ต้องขังออกไปยังศาลอย่างสม่ำเสมอ เพื่อตรวจสอบดูว่ามีอะไรที่หละหลวมหรือไม่ เพื่อหาแนวทางการป้องกัน ซึ่งไม่ใช่ไม่มีการเดินตรวจเส้นทางเลย จะทำให้เกิดช่องว่างและมีปัญหาตามมา โดยสิ่งที่ผู้ต้องขังหลบหนีถือเป็นเรื่องใหญ่ ถึงแม้จะมีการนำตัวกลับมาได้ แต่สังคมก็จะเกิดคำถามทันทีถึงมาตรการดูแล ซึ่งกรมราชทัณฑ์ต้องรีบขันนอตทุกตำแหน่งในเรือนจำทั่วประเทศ 143 แห่ง 

“ผู้บัญชาการเรือนจำทุกแห่งต้องลองไปทำหน้าที่ทุกตำแหน่งในเรือนจำ เพื่อจะได้ทราบถึงปัญหาจริงๆ เวลาเกิดเหตุจะได้เข้าใจและสามารถชี้แจงสังคมได้ตรงคำถาม ไม่ใช่ออกเพรสข่าว แต่ไม่สามารถตอบคำถามให้ชัดเจนได้ ซึ่งช่วงนี้ถือว่าเป็น 60 วันอันตรายที่ใกล้เลือกตั้ง อาจทำให้ราชทัณฑ์มีสิทธิเป็นจำเลยได้ทุกเวลา ดังนั้น ต้องแก้ปัญหาเรื่องประชาสัมพันธ์เพื่อให้สังคมที่เฝ้าติดตามเรื่องนี้ได้ทราบข้อเท็จจริง เพราะหลายเรื่องที่ถูกตั้งกระทู้ถามสดในสภา ก็ยังไม่มีการชี้แจง อย่างการเข้าห้องน้ำชั้น 9 ทั้งที่เข้าถึง 2 รอบ และเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ไม่มีสิทธิอนุญาต ต้องได้รับการอนุญาตจากผู้พิพากษาเท่านั้น” นายสมศักดิ์ ระบุ

นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า กรณีเกิดเหตุหลบหนีที่สังคมให้ความสนใจ ต้องมีการชี้แจงให้เร็วกว่านี้ เพราะเมื่อชี้แจงช้าและไม่ชัดเจนก็จะถูกนักการเมืองกดดันต่อเนื่อง อย่างข่าววันนี้ นายแทนคุณ จิตต์อิสระ ก็ออกมาจี้ให้เร่งตรวจสอบเพราะผิดหวังกับการชี้แจงของราชทัณฑ์ ซึ่งเรื่องนี้ผู้ใหญ่ในรัฐบาลก็มีความเป็นห่วง ดังนั้น จากนี้ทุกสัปดาห์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ต้องมีการประชุมเพื่อติดตามงาน โดยใครขาดประชุมต้องชี้แจง ไม่อย่างนั้นจะตามสังคมไม่ทัน เพราะเรื่องเกิดตั้งแต่ 22 ธ.ค.65 จนถึงวันนี้ยังไม่มีความชัดเจนจนตนต้องตั้งกรรมการสอบอีกชุดภายใน 30 วัน เพราะไม่สามารถรอราชทัณฑ์ตรวจสอบ 120 วันได้ 

ขณะที่ นางพงษ์สวาท กล่าวว่า การชี้แจงประเด็นสังคม ต้องเป็นลักษณะอธิบายไม่ใช่เหมือนการแก้ตัว และต้องมีความรวดเร็ว อย่างการตรวจสอบที่ต้องใช้เวลาถึง 120 วัน ตนก็มองว่าช้าไปมาก ดังนั้น ต้องลดขั้นตอนการตรวจสอบเพื่อให้ทันกับความต้องการของสังคม รวมถึงเมื่อเกิดเหตุก็ต้องรีบรายงานผู้บังคับบัญชา เพราะตั้งแต่เกิดเหตุ 22 ธ.ค.65 แต่ตนกลับได้รับรายงานเป็นหนังสือถึงที่โต๊ะทำงานเมื่อเช้านี้ ลงวันที่ 3 ม.ค.66 ซึ่งถือว่าช้ามาก เพราะเมื่อเกิดเหตุต้องรีบรายงานผู้บังคับบัญชา โดยไม่น่าปล่อยให้เกิดกรณีปลัดกระทรวงต้องทราบจากสื่อมวลชน ดังนั้น ต่อไปนี้ ไม่ว่าเกิดเหตุอะไรต้องมีการรายงานเหตุการณ์อย่างเร่งด่วน เพื่อช่วยกันแก้ปัญหาได้ครอบคลุม.