เมื่อวันที่ 19 ม.ค. ที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม กล่าวในการเป็นประธานพิธีเปิดให้บริการขบวนรถไฟทางไกล และปล่อยขบวนรถไฟเที่ยวปฐมฤกษ์ เส้นทางสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์-ที่หยุดรถมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ศูนย์รังสิต) ว่า ตั้งแต่วันที่ 19 ม.ค. 66 เป็นต้นไป ขบวนรถไฟทางไกล กลุ่มขบวนรถด่วนพิเศษ รถด่วน รถเร็ว สายเหนือ สายตะวันออกเฉียงเหนือ และสายเหนือ จะย้ายการให้บริการจากสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) มายังสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เพื่อลดภาระความแออัดการให้บริการของสถานีหัวลำโพงได้ประมาณ 50% และลดปัญหาการจราจรติดขัดในพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพฯ บริเวณจุดตัดทางรถไฟ รวมทั้งลดปัญหามลพิษทางสิ่งแวดล้อม PM 2.5 และเพิ่มประสิทธิภาพการเดินรถไฟให้มีความตรงต่อเวลามากยิ่งขึ้น

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า ในระยะแรกจะเปิดให้บริการขบวนรถไฟทางไกล ณ บริเวณประตู 4 ชั้น 2 จำนวน 8 ชานชาลา รวม 52 ขบวน แบ่งเป็น รถไฟสายเหนือ 14 ขบวน รถไฟสายใต้ 20 ขบวน และรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) 18 ขบวน อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 19 ม.ค. 66 มีขบวนรถไฟเข้า-ออก สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ 27 ขบวน แบ่งเป็น สายเหนือ และอีสาน ขาออก 10 ขบวน ขาเข้า 7 ขบวน และสายใต้ ขาเข้า 1 ขบวน ขาออก 9 ขบวน ทั้งนี้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) คาดการณ์ว่า การเปิดให้บริการขบวนรถไฟทางไกล จะมีผู้ใช้บริการสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์เพิ่มขึ้นประมาณ 1 หมื่นคนต่อวัน

นายศักดิ์สยาม กล่าวอีกว่า กระทรวงฯ ยังมีนโยบายผลักดันการพัฒนาโครงการส่วนต่อขยายรถไฟชานเมืองสายสีแดง 4 โครงการ วงเงินประมาณ 68,000 ล้านบาท เพื่อให้ระบบขนส่งทางรางมีความสมบูรณ์อำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการเดินทาง ซึ่งขณะนี้ทั้ง 4 โครงการ รฟท. ได้ส่งรายละเอียดผลการศึกษามายังกระทรวงฯ แล้ว คาดว่าจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติภายในรัฐบาลนี้ เพื่อผลักดันให้มีการเปิดประกวดราคางานก่อสร้างต่อไป 

ขณะเดียวกันยังเร่งรัดให้บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด (SRTA) ซึ่งเป็นบริษัทลูกเพื่อบริหารทรัพย์สินของ รฟท. ดำเนินการศึกษาแผนพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เนื้อที่ 2,325 ไร่ เพื่ออำนวยความสะดวกในด้านเชิงพาณิชย์แก่ผู้ใช้บริการรถไฟ รวมทั้งประชาชนส่วนอื่นที่จะสามารถเข้ามาใช้บริการได้ เพราะการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานี หรือ TOD จะทำการศึกษาร่วมกับญี่ปุ่น ที่มีการปรับเอาโมเดลพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีรถไฟของญี่ปุ่นมาใช้ อาทิ การพัฒนาศูนย์การค้า โรงแรม และศูนย์ประชุม เบื้องต้นคาดว่าจะแบ่งระยะการพัฒนา โดยนำเอาที่ดินในส่วนของแปลง A และ E มาศึกษาเป็นส่วนแรก คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 66 เพื่อเริ่มต้นจัดโรดโชว์สำรวจความสนใจของนักลงทุน

นายศักดิ์สยาม ยังกล่าวถึงผลการสอบโครงการปรับปรุงป้ายสถานีกลางฯ วงเงิน 33 ล้านบาท ว่า ขณะนี้คณะกรรมการพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริงการก่อสร้างในโครงการปรับปรุงป้ายชื่อสถานีกลางฯ ซึ่งมีนายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานอยู่ระหว่างการตรวจสอบ เบื้องต้นทราบว่า ได้ประชุมคณะกรรมการฯ แล้ว 2 ครั้ง คาดว่าจะได้ข้อสรุปเสนอให้กระทรวงคมนาคม ภายในวันที่ 20 ม.ค. 66 ตามกำหนด ทั้งนี้ยังคงเน้นย้ำว่า เรื่องนี้ต้องดูข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายให้ครบถ้วน

“เรื่องนี้ต้องพิจารณาด้วยว่าการเปลี่ยนป้ายชื่อ มีความจำเป็น และเกิดประโยชน์อย่างไร เท่าที่ทราบการที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ต้องดำเนินการเร่งเปลี่ยนป้ายชื่อในครั้งนี้ เนื่องจากมีการจำหน่ายตั๋วโดยสารโดยพิมพ์ระบุว่า สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ไปแล้ว ดังนั้นหากไม่เปลี่ยน ประชาชนอาจจะไม่ทราบ และสับสนได้ นอกจากนี้ที่ผ่านมา การเปลี่ยนป้ายชื่อก็มีการเปลี่ยนกันปกติ เช่น ป้ายชื่อท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เป็นต้น” นายศักดิ์สยาม กล่าว 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในพิธีเปิดนี้ นายศักดิ์สยาม ได้ปล่อยขบวนรถไฟเที่ยวปฐมฤกษ์ และร่วมเดินทางในขบวนรถไฟเที่ยวปฐมฤกษ์ รถไฟ KIHA 183 เส้นทาง สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์-ที่หยุดรถมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ด้วย อย่างไรก็ตาม สำหรับรถไฟทางไกลขบวนแรกที่เดินทางออกจากสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ได้แก่ ขบวนรถเร็วที่ 171 เส้นทาง สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์-สุไหงโก-ลก โดยออกเดินทางจากสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ในเวลา 13.19 น. ส่วนขบวนที่เข้าสู่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์เป็นขบวนแรก ได้แก่ ขบวนรถด่วนดีเซลรางที่ 72 เส้นทางอุบลราชธานี-สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ โดยมาถึงในช่วงเวลาประมาณ 15.00 น.