เมื่อวันที่ 22 ม.ค. สืบเนื่องจากกรณีอุบัติเหตุรถตู้โดยสารหมายเลขทะเบียน 30-0078 อำนาจเจริญ ประสบอุบัติเหตุเสียหลักตกร่องกลางถนนบริเวณ ต.มิตรภาพ อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา ช่วงกลางดึกที่ผ่านมา ทำให้มีผู้เสียชีวิต 11 ราย รอดชีวิต 1 ราย นั้น

นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) ระบุ ข้อเท็จจริงของอุบัติเหตุคงต้องรอการสอบสวนที่ชัดเจนของเจ้าหน้าที่ แต่เบื้องต้นสะท้อนให้เห็นปัญหาการใช้งานรถตู้ที่ยังต้องแก้ไข โดยเฉพาะการใช้รถตู้บรรทุกคนวิ่งในระยะทางไกล เมื่อเกิดอุบัติเหตุมีโอกาสเสี่ยงรุนแรงและสูญเสียจำนวนมาก อีกทั้งข้อจำกัดในการช่วยเหลือที่ลำบาก (ไม่มีช่องฉุกเฉิน กระจกบานเล็กแคบ)

เศร้ารับวันตรุษจีน! อุบัติเหตุสยองรถตู้โดยสารตกถนนมิตรภาพ-โคราช ไฟลุกคลอกดับ 11 ศพ

สำหรับรถตู้โดยสารหมวด 10 เป็นรถตู้โดยสารประจำทาง ในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ทยอยเปลี่ยนเป็นรถมินิบัสแล้ว จากบทเรียนความสูญเสีย 25 ราย จากอุบัติเหตุรถตู้บ้านบึงที่ผ่านมา ทำให้มีการผลักดันเรื่องความปลอดภัยที่มากขึ้นในการวิ่งเส้นทางระยะทางไกล 200 กิโลเมตร โดยเฉพาะการเปลี่ยนไปใช้รถมินิบัส ติดจีพีเอสควบคุมความเร็ว และการควบคุมชั่วโมงการทำงานคนขับเพื่อป้องกันการหลับใน

ส่วนกลุ่มที่ยังมีช่องโหว่คือ รถตู้โดยสารหมวด 30 ซึ่งเป็นรถตู้โดยสารแบบไม่ประจำทาง และรถตู้บุคคล เนื่องจากยังเปิดกว้างให้วิ่งระยะทางไกลได้อิสระ ยกตัวอย่างที่เกิดขึ้นล่าสุดก็พบว่าเป็นรถตู้หมวด 30 วิ่งจาก จ.อำนาจเจริญ เข้า กทม. ซึ่งระยะทาง 400-500 กิโลเมตร ซึ่งชัดเจนว่าผิดหลักการใช้งานที่ปลอดภัยและกลายเป็นโจทย์ที่ต้องแก้ไขให้ดีขึ้น โดยเฉพาะการมองปัญหานี้เชิงระบบ ต้องปิดช่องไม่ให้รถตู้โดยสารไม่ประจำทางวิ่งในระยะทางไกล หรือการเปลี่ยนรถเป็นมินิบัส

“รถตู้ไม่ใช่รถที่เหมาะกับการบรรทุกคนวิ่งในระยะทางไกล แม้ทั่วโลกจะใช้กันแต่เป็นการใช้ขนส่งคนในระยะทางสั้นๆ เช่น วิ่งในตัวเมือง การนำมาวิ่งอำนาจเจริญ-กทม. เป็นระยะทางไกลที่ไม่ควรใช้ แต่ประเด็นคือยังมีการเปิดกว้างให้มีรถตู้มาวิ่งแบบเหมาและวิ่งระยะทางไกลๆ ได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องกลับไปทบทวนเพื่อปรับปรุง”

ผู้จัดการ ศวปถ. กล่าวต่อว่า การวางมาตรการความปลอดภัยที่มากขึ้นกับรถตู้ต้องพิจารณาทั้งอุปสงค์แลอุปทาน (demand & supply) ควบคู่กัน เพราะในส่วนผู้โดยสารเองหลายครั้งเลือกความสะดวกมากกว่า เช่น เมื่อต้องเดินทางไกลแต่ก็ยังขอสะดวกก็เช่ารถตู้ หรือคนน้อยเช่ามินิบัสอาจใหญ่เกินไป เมื่อยังมี demand จากผู้โดยสารทำให้ supply เหล่านี้จึงยังมีอยู่

นอกจากนี้ ย้ำว่าการทำภาพใหญ่ของระบบการเดินทางที่ปลอดภัยให้มีเพียงพอ เช่น รถไฟ รถโดยสารประจำทาง จะเป็นตัวเลือกให้ประชาชนได้อีกทาง.

ขอบคุณภาพจากเพจ มูลนิธิฮุก 31 นครราชสีมา