รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) แจ้งว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. ซึ่งมี นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เป็นประธาน มีมติเห็นชอบผลการทบทวนราคาค่าก่อสร้าง โครงการระบบรถไฟชานเมือง ส่วนต่อขยาย สายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 5.7 กิโลเมตร (กม.) จากวงเงิน 4,694 ล้านบาท เป็นวงเงิน 4,616 ล้านบาท ลดลงประมาณ 78 ล้านบาท ซึ่งหลังจากนี้ รฟท. จะเสนอไปยังกระทรวงคมนาคม เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป พร้อมกับช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ระยะทาง 8.84 กม. วงเงิน 6,468 ล้านบาท และช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 14.8 กม. วงเงิน 10,670 ล้านบาท ที่เสนอกระทรวงคมนาคมไปก่อนหน้านี้

 รายงานข่าวแจ้งต่อว่า สำหรับช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช นั้น เดิม ครม.อนุมัติวงเงินอยู่ที่ 6,645 ล้านบาท แต่เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงการดำเนินงานในส่วนของการจัดหาขบวนรถ มาอยู่ในการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) งานเดินรถ งานระบบตั๋ว จัดหาขบวนรถ และการดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) จึงได้ปรับลดวงเงินเป็น 4,694 ล้านบาท ซึ่งเมื่อได้นำเสนอให้กระทรวงคมนาคมพิจารณา ปรากฏว่า กระทรวงคมนาคมส่งเรื่องกลับมาให้ รฟท. พิจารณาปรับลดกรอบวงเงินค่าจ้างที่ปรึกษาลงอีก ดังนั้น รฟท. จึงได้พิจารณาทบทวนใหม่อีกครั้ง อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นคาดว่าภายใต้รัฐบาลชุดนี้จะสามารถเสนอพิจารณาส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีแดงได้ 3 เส้นทางก่อน วงเงินรวมประมาณ 21,754 ล้านบาท

รายงานข่าวแจ้งอีกว่า ส่วนอีก 1 เส้นทาง ได้แก่ ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง (Missing Link) ระยะทาง 25.9 กม. อยู่ระหว่างปรับแบบสถานีราชวิถีใหม่ ให้ผู้โดยสารเดินเชื่อมเข้าสู่อาคารโรงพยาบาลรามาธิบดีได้สะดวก พร้อมทั้งต้องประเมินราคาค่าก่อสร้างใหม่ ซึ่งอาจต้องปรับกรอบวงเงินเพิ่มประมาณ 2,843 ล้านบาท จากเดิม 44,157 ล้านบาท เป็นประมาณ 47,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม เมื่อออกแบบแล้วเสร็จต้องดำเนินการจัดทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ใหม่ ซึ่ง รฟท. คงต้องพิจารณาทางเลือกว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไปได้บ้าง เพราะหากรออีไอเอแล้วเสร็จจะต้องใช้ระยะเวลานาน เบื้องต้นคาดว่าจะเสนอ ครม. พิจารณาไม่ทันภายในรัฐบาลชุดนี้

รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า สำหรับงานเดินรถ งานระบบตั๋ว จัดหาขบวนรถ และการดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) ซึ่งจะเป็นการลงทุนในรูปแบบร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) ขณะนี้เรื่องผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.แล้ว เตรียมเสนอกระทรวงคมนาคม ก่อนเสนอคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) และ ครม.พิจารณาต่อไป คาดว่าจะเปิดประมูลได้ในปี 67 ทั้งนี้คาดการณ์ว่าปีแรกของการเปิดให้บริการครบทั้ง 6 เส้นทาง จะมีผู้โดยสารประมาณ 9 หมื่นคนต่อวัน ประมาณการรายได้ 50 ปี อยู่ที่ประมาณ 5.8 แสนล้านบาท.