เมื่อวันที่ 3 ก.พ. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.ท.สมพงษ์ ชิงดวง ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผู้ช่วย ผบ.ตร.) หัวหน้าอำนวยการด้านประชาสัมพันธ์ ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (ศปอส.ตร.) กล่าวว่า ในรอบสัปดาห์ที่ 4 ของเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา ฝ่ายบริหารการรับแจ้งความออนไลน์ ศปอส.ตร. และ บช.สอท. พบอาชญากรรมออนไลน์ที่ต้องเฝ้าระวัง และแจ้งเตือนประชาชน คือ หลอกขายนมยี่ห้องดัง และหลอกให้กดลิงก์บริษัทประกันชีวิตปลอม

สำหรับการหลอกขายนมยี่ห้อดังนั้น ขั้นตอนการหลอกลวงคนของคนร้าย คือ 1.สร้างเพจ Facebook ขึ้นมาโดยใช้ชื่อรูปโปรไฟล์ รูปปก ที่อยู่ ข้อความแนะนำ ใกล้เคียงกับเพจของชื่อนมยี่ห้อดังต่าง ๆ มีการสร้างเป็นเพจ Facebook หรือซื้อโฆษณาเพจเพื่อให้คนเห็นได้จากระบบอินเทอร์เน็ตเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ มีการจัดการขายลดราคาต่าง ๆ ก่อนจะหลอกให้ซื้อโดยโอนเงินมาก่อน พอเหยื่อให้เงินไปแล้ว ก็จะไม่ส่งสินค้าไปให้ พร้อมกับปิดเพจหนี ดังนั้น ก่อนจะซื้อของจากเพจดังกล่าว ควรจะตรวจสอบเพจเหล่านั้นก่อน ด้วยการกดหัวข้อ “เกี่ยวกับ” “ความโปร่งใส” ก็จะเห็นว่าเปิดมานานเท่าใด ผู้จัดการเพจอยู่ประเทศไทยหรือไม่ (อยู่ต่างประเทศ ควรหลีกเลี่ยง) และดูช่องกดไลค์ ดูโพสต์เป็นหลัก อย่าดูด้านใต้ชื่อเพียงอย่างเดียว เพราะสามารถซื้อ “ไลค์” ได้

ส่วนการหลอกให้กดลิงก์บริษัทประกันชีวิตปลอมนั้น คนร้ายจะสร้างเว็บไซต์บริษัทประกันชีวิตที่เป็นของปลอม ให้มีความคล้ายคลึงกับบริษัทประกันชีวิตของจริง จากนั้นก็จะส่งข้อความไปหาเหยื่อทำนองว่า “…ได้คูปองพิเศษเติมน้ำมันฟรี…” ก่อนให้แอดไลน์ติดต่อกันเพื่อรับสิทธิ พอเหยื่อหลงเชื่อติดต่อไปหา ก็จะโดนหลอกให้กดลิงก์โหลดแอพควบคุมเครื่อง บ้างก็ถาม OTP เพื่อตั้งรหัสใหม่ ก่อนจะถอนเงินไปจนเกลี้ยงทุกบัญชีที่ผูกไว้กับมือถือเครื่องดังกล่าว

ข้อสังเกตของจริงหรือของปลอม โดยของจริง 1.ไม่มีนโยบายส่งข้อความสั้นให้คนทั่วไป 2.มีเว็บไซต์บริษัท url มีเพียง1 แบบ เท่านั้น และสามารถตรวจสอบกับเว็บ whois ซึ่งจะเปิดมานานแล้ว หากพบว่าเพิ่งเปิดในปี 65-66 แสดงว่าของปลอมแน่นอน ขณะเดียวกันบริษัทประกันชีวิตของจริง จะมีเบอร์ call center สำหรับให้ลูกค้าติดต่อสอบถาม แต่ของปลอมจะส่งข้อความสั้นมาหลอกลักษณะเป็นเบอร์ +66… หรือ e-mail ที่ไม่มีชื่อว่ามาจากหน่วยไหน (ของจริงส่วนใหญ่จะระบุชื่อ เช่น ais) และเมื่อโทรฯ กลับไปยังเบอร์ดังกล่าว จะไม่มีผู้รับสายแต่อย่างใด

ทั้งนี้ หากประชาชนพบว่า มีเว็บปลอมหรือมีกลุ่มผู้กระทำความผิดส่งข้อความมาในลักษณะเชิญชวนให้หลงเชื่อ สามารถแจ้งเบาะแสมาได้ที่ https://www.facebook.com/PCTPOLICE เพื่อให้เจ้าหน้าที่เร่งติดตามจับกุมกลุ่มผู้ก่อเหตุเหล่านี้ให้หมดสิ้นไป.