เมื่อวันที่ 3 ก.พ. 66 ดร.ปลอดประสพ สุรัสวดี ประธานด้านนโยบายปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานด้านการจัดการน้ำ พรรคเพื่อไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กว่า PM 2.5 ลดได้

ฝุ่นพิษมฤตยูมาตามคาด วันนี้มีจุดกำเนิด (Hot Spots) 1200 จุด 40% มาจากการเผาป่า 50% มาจากเผาวัชพืชไร่นา ที่เหลือมาจากรถยนต์และอื่นๆ สำหรับการเผาป่า ถ้าหากยังควบคุมแบบเดิมๆ คือ งบประมาณก็หารไป ตามหน่วยเท่าๆกัน อัตรากำลังก็กระจายไปเท่าๆกัน อย่างนี้ไม่ยั่งยืนและแม่นยำแน่นอน ต้องมาจำแนกชนิดของป่า ถ้าเป็นป่าดิบก็ควบคุมน้อยหน่อยปล่อยไปตามธรรมชาติ แต่หากเป็นป่าเบญจพรรณ หรือป่าเต็งรัง ก็ต้องดูมากหน่อยเพราะไหม้ง่าย การบริหารไฟป่าหลักคิดก็คือ อย่ายอมให้มีการสะสมเชื้อเพลิงมากเกินไป ต้องค่อยๆ กำจัด (ชิงเผา) ภายใต้การควบคุมทางวิชาการ

ส่วนการเผาไร่นาซึ่งเป็นต้นเหตุหลัก เป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะเป็นวัฒนธรรมประเพณี (ความมักง่าย) เห็นทีจะต้องคิดในระดับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตเลยทีเดียว รัฐอาจต้องยอมซื้อเศษพืชและตอซังเอามาทำปุ๋ย หรือยอมซื้อเครื่องจักรกลหรือเครื่องไถกลบประจำหมู่บ้าน/ตำบลเลย เพราะเกษตรกรปกติก็จนอยู่แล้ว ลงทุนไม่ไหว

ในเรื่องกฎหมาย ผมขอสนับสนุนข้อเสนอของคุณนพดล อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ ว่าเราควรมีพระราชบัญญัติอากาศสะอาด เหตุผลง่ายๆคือ ทางด้านทรัพยากร เช่น ป่าไม้ ประมง หรือเหมืองแร่ จะมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องเข้ามากำกับดูแลมากมายเป็นสิบๆ ฉบับ แต่เรื่องสิ่งแวดล้อมมีอยู่ฉบับเดียวเท่านั้น คือ พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม (อาจะมีเล็กๆอีก พ.ร.บ.หนึ่งเช่นเรื่องสารพิษ) ผมคิดว่า คงจะต้องแยกพ.ร.บ.เป็นเรื่องคุณภาพน้ำ คุณภาพอากาศ คุณภาพดินและสารพิษเสียแล้ว หวังว่าถ้าไม่เจ็บป่วยเสียก่อน คงได้มีโอกาสมาช่วยคิดช่วยทำในเรื่องนี้ ส่วนการปลูกป่านั้นคงต้องเปลี่ยนจาก ”คนอยู่กับป่า” (ไฟจึงไหม้มาตลอด) มาเป็น “ป่าอยู่กับคน” เพราะในเมื่อคนเป็นผู้สร้างป่าไฟก็จะไม่ไหม้

สำหรับกรุงเทพฯ วันนี้ อาการน่าเป็นห่วงพอสมควร PM 2.5 ส่วนใหญ่ยังมาจากการเผาในพื้นที่โดยรอบ กทม. และบางส่วนมาไกลถึงจากกัมพูชาเลย เพราะตอนนี้ลมตะวันออกเฉียงเหนือพัดแรงมากและต่อเนื่อง สำหรับพื้นที่ชายฝั่งทะเล เช่น บางขุนเทียนวันนี้สีแดง ก็สามารถอธิบายด้วยวิชาฟิสิกส์ขั้นพื้นฐานว่า ตอนบ่ายแผ่นดินจะร้อน อากาศจึงยกตัวสูงขึ้น เปิดช่องให้ลมทะเลซึ่งเย็นกว่าพัดเข้ามาแทนที่ ลมทะเลมีไอเกลือขนาดเล็กมาก (aerosol) ผสมมาด้วย ดังนั้นเมื่อมาผสมกับ PM 2.5 ก็ยิ่งทำให้อากาศขมุกขมัวไปกว่าเดิม แต่ความเป็นพิษน่าจะคงที่

ในฐานะนักสิ่งแวดล้อมและเคยทำงานด้านอากาศมาด้วยไม่น้อย ขอพยากรณ์ว่าปีนี้ PM 2.5 จะน้อยกว่าปีที่แล้ว เพราะปีที่แล้วฝนมาก ป่ายังเปียกชื้นอยู่ แต่ก็หวาดเสียวตรงการเผาไร่นาเกรงว่าจะมาก เพราะปีนี้ราคาพืชผลค่อนข้างดี เกษตรกรก็จะเผากันใหญ่เพื่อเตรียมดินในการปลูกใหม่

สุดท้ายนี้ก็ขออวยพรให้ทุกหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องประสบความสำเร็จในการควบคุมฝุ่นพิษเหล่านี้ เพราะผมก็แสบตาเหมือนกัน และฝ่ายการเมืองก็อย่าทำรู้ โม้มาก เพราะก็ทำให้เคืองตาได้เหมือนกัน