กำลังกลายเป็นเรื่องราวที่เหล่าผู้ปกครองหลายคนวิพากษ์วิจารณ์จำนวนมากในขณะนี้ ภายหลังจากมีเพจเฟซบุ๊กดัง @Drama-addict ได้ออกมาโพสต์เรื่องราวที่มีคุณพ่อรายหนึ่ง ออกมาชวนตั้งคำถามกับสังคม ของการศึกษาเด็กไทย ที่พบว่าในปัจจุบันโจทย์การบ้านยากและไม่เหมาะสมวัย อีกทั้งมีตำราเรียนที่หนักมาก จนเกรงว่าจะส่งผลกระทบสุขภาพของเด็กในเวลาต่อมาอีกด้วย

โดยทางเพจเขียนข้อความที่คุณพ่อคนนี้ร้องมาว่า “ประเด็นน่าสนใจ คุณพ่อท่านหนึ่งฝากมาดังนี้”
จ่าครับผมขออนุญาตรบกวนจ่าช่วยเป็นกระบอกเสียง ส่งต่อเรื่องเนื้อหาหนังสือเรียนคณิตศาสตร์ ป.1 ด้วยครับ คือในเล่มนี้มีการเรียนเรื่องการแก้สมการหาค่าตัวแปรไม่ทราบค่ากันแล้วครับ
ผมได้ไปคุยกับ ผอ.โรงเรียนแล้ว แกก็พูดดีบอกว่าจะไปคุยในที่ประชุมจังหวัดให้ครับ
ด้วยเรื่องที่กระเป๋าเด็กหนัก รร. เลยให้เด็กเอาหนังสือไว้ในโต๊ะที่ รร. ลูกผมป่วยเลยต้องเอามาทำที่บ้าน ลูกผมแค่เปิดมาก็ร้องไห้แล้ว เพราะว่าเขาทำไม่ได้ แล้วคงจะกดดันมาก มันส่งผลเสียต่อสภาพจิตใจเด็กมากเลยครับ
ผมเข้าใจทาง รร. และครูนะครับ ว่ามันเป็นเรื่องนโยบาย แต่อยากให้คนที่สร้างตำราเล่มนี้รู้ว่าเนื้อหามันซับซ้อนกว่าสมองเด็ก 7 ขวบ จากที่เราจะได้เด็กที่เก่ง เราจะกลายเป็นเด็กที่เกลียดคณิตศาสตร์แทนครับ

นอกจากนี้ด้านแอดมินเพจก็ได้เขียนข้อความระบุเพิ่มเติมอีกว่า “พอลองไปหาข้อสอบคณิตศาสตร์ของ ป.1 มาดู ก็เหมือนว่าเขาจะใช้เกณฑ์ตามตำรานี้ในการสอบวัดความรู้คณิตเด็ก ป.1 จริงๆ แฮะ เท่าที่จ่าจำได้สมัยประถม กว่าจะเรียนเรื่องการหาตัวแปรไม่ทราบค่านี่ แถวๆ ป.3-4 เด็กสมัยนี้เรียนไวจัง พ่อแม่พี่น้องคิดเห็นยังไงมั่งครับ”

ภายกลังจากที่โพสต์ถูกแชร์ออกไป งานนี้ทำเอาผู้ปกครองเข้ามาแสดงความคิดเห็นกันล้นหลาม โดยติเรื่องตำราเรียน เนื่องจากผู้ปกครองออกความคิดเห็นส่วนใหญ่คล้ายกัน มองว่าหนังสือเรียนในปัจจุบันมีโจทย์ที่ยากเกินวัยของเด็กจริง นอกจากนี้ทุกคนต่างเข้าใจรัฐที่อยากสอนและมอบสิ่งดีๆให้เด็กไทย อาทิ
“เนื้อหามันไวเกินไป ทำให้เด็กเครียด จะมีเด็กซักกี่คนที่เข้าใจอย่างจริงจัง”
“ถ้ามองจำนวนตัวเลขสองหลัก บวก-ลบกัน คือไม่ยากจนเกินไป แต่การสร้างวิธีคิดที่ซับซ้อน หาค่าตัวแปร กับเด็กวัย 7 ขวบ คือ ไวเกินไป”
“ไม่คิดว่าจะมีคนสังเกตดูเหมือนกัน ว่า เลขเด็ก ป.1 มันเกินสมองเด็กยุคนี้ไปไหมคนเขียนตำรา ไม่แน่ใจว่า คิดอะไร มีปรึกษาใครไหม หรือ ว่าเขาไม่มีลูก อยู่ ป.1”

นอกจากนี้ ก็มีชาวเน็ตบางกลุ่มเห็นต่างบอกว่า “หลักสูตรปัจจุบันต่างจากเมื่อก่อนค่ะ ปัจจุบันเน้นให้นักเรียนฝึกการคิด การแก้ปัญหาโจทย์คณิตศาสตร์ของ สสวท. จะไม่ถามตรงๆ ค่ะ มักจะใช้คำถามให้คิดกลับไปกลับมาค่ะ เพื่อฝึกนักเรียนให้เกิดทักษะการคิด วิเคราะห์ค่ะ”

ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพ : @Drama-addict