เมื่อเร็วๆ นี้ ได้เกิดเรื่องราวที่ทำเอาแวดวงประมงไทย รวมไปถึงผู้ที่ติดตามข่าวสารด้านเศรษฐกิจ ถึงกับตกอกตกใจไปตามๆ กัน หลัง บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ต้องเก็บบูธที่กำลังนำเสนอผลิตภัณฑ์ล่าสุดอย่าง “ปลาหยก หรือ ปลาเก๋าหยก” กลางงานเกษตรแฟร์ 2566 จนทำเอาหลายๆ คน เกิดความสงสัยไปตามๆ กัน วันนี้เรามีสรุปเรื่องราวที่เกิดขึ้นดังนี้

1…ใน “งานเกษตรแฟร์” ตั้งแต่วันที่ 3-11 กุมภาพันธ์ 2566 “ซีพีเอฟ” ได้มีการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ได้เผยแพร่สู่สาธารณชนเป็นครั้งแรก คือ “ปลาหยก หรือ Jade Perch” พร้อมเผยว่า เป็นปลาที่มีคุณค่าทางโภชนาการ มีสารอาหารที่ดีต่อร่างกาย เช่น ไขมันดี มีโอเมก้า 3 สูงกว่าปลาแซลมอนถึง 3 เท่า ช่วยบำรุงสมอง เสริมสร้างความจำ ลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจ และความดันสูง อีกทั้งยังยกว่า ปลาดังกล่าวคือ “วากิวแห่งสายน้ำ”

2…ก่อนนี้ ซีพีเอฟ เผยว่า “ปลาเก๋าหยก” ได้ขออนุญาตกรมประมงนำเข้าลูกปลาจากประเทศจีน เพื่อทดลองเพาะเลี้ยงที่ฟาร์มปลา ตำบลยี่สาร อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม โดยชูระบบการเลี้ยงที่ปลอดภัย ไร้สารตกค้าง และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมที่จะทำการตลาดปั้นเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจชนิดใหม่ ซึ่งได้รับความนิยมจากร้านอาหารและภัตตาคารชั้นนำมากกว่า 20 แห่ง ทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล

3…ก่อนหน้านี้ ในงานประชุมสุดยอดผู้นำ Apec 2022 ที่จัดขึ้นที่กรุงเทพฯ นั้น เมนู “ปลาหยก” ได้ถูกบรรจุเป็นหนึ่งในเมนูอาหารที่เสิร์ฟขึ้นโต๊ะผู้นำ ที่รังสรรค์โดยเชฟชุมพล แจ้งไพร “เชฟกระทะเหล็กประเทศไทย” (IRON CHEF THAILAND) ประเภทเชฟผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารไทย

4…ภายหลัง ทางกรมประมง ได้สั่งระงับโฆษณา “ปลาเก๋าหยก” 3 วัน จนทางซีพีเอฟต้องเก็บบูธ “ปลาหยก” ในงานเกษตรแฟร์ อาศัยตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดชนิดสัตว์น้ำที่ห้ามเพาะเลี้ยงในราชอาณาจักร พ.ศ. 2564 ลงวันที่ 27 พฤษภาคม 2564 ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2564 เนื่องจาก ปลาเก๋าหยกจัดเป็น 1 ในสัตว์น้ำต่างถิ่น 13 ชนิด ที่ห้ามเพาะเลี้ยงในประเทศไทย โดยมีรายละเอียดว่า..
– ซีพีเอฟ ได้ขออนุญาตกรมประมงนำเข้าปลาเก๋าหยก เพื่อการศึกษาวิจัยการเพาะเลี้ยงเมื่อปี 2561 ซึ่งหลังจากระยะทดลอง ได้มีการชำแหละปลาทั้งหมดเป็นเนื้อปลา เหลือเพียงพ่อแม่พันธุ์ จำนวน 40 คู่
– ในเดือนเมษายน 2565 ซีพีเอฟได้ขออนุญาตดำเนินการศึกษาวิจัยการเพาะพันธุ์ การเลี้ยง และการตลาดผลิตภัณฑ์ปลา Jade perch ในระบบปิดน้ำหมุนเวียนเชิงพาณิชย์ ซึ่งกรมประมงได้อนุญาต แต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไข คือเพื่อการศึกษาวิจัยเท่านั้น
– กรมประมงเน้นย้ำว่า การออกข่าวประชาสัมพันธ์ของบริษัทฯ ได้ดำเนินการนอกเหนือจากกรอบโครงการวิจัยที่ขอรับอนุญาต และมีการทำประชาสัมพันธ์ รวมถึงทำการตลาด โดยจำหน่ายปลาเก๋าหยกในเชิงพาณิชย์ ก่อนที่จะรายงานให้กรมประมงทราบ
– กรมประมงได้แจ้งให้บริษัทฯ ระงับการประชาสัมพันธ์ดังกล่าวภายใน 3 วัน มิฉะนั้น กรมประมงจะดำเนินการพักใช้ใบอนุญาตเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชนิดนี้ หรือหมายความว่า บริษัทฯ จะไม่สามารถดำเนินการในทุกกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับปลาเก๋าหยกได้ต่อไป

5…นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง ประกาศว่าภายในเดือนนี้ จะเรียก ซีพีเอฟ มาชี้แจงกับคณะกรรมการด้านความหลากหลายและด้านความปลอดภัยทางชีวภาพของกรมประมง (IBC) ถึงเรื่องที่เกิดขึ้น หากจะขอนุญาตดำเนินการศึกษาวิจัยการเพาะพันธุ์ การเลี้ยงใหม่ ทางบริษัทต้องทำลายของเก่าให้หมด และต้องให้คณะกรรมการ IBC พิจารณาอีกครั้ง พร้อมระบุเชื่อว่าปลาที่ยังวางขายอยู่ในท้องตลาด เป็นปลาสต๊อกเก่า ส่วนที่บอกว่าเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจชนิดใหม่ของไทย อยากทราบเป็นของใครแน่ เรื่องนี้จะยอมไม่ได้…