เมื่อวันที่ 8 ก.พ. จากกรณีมีกระแสข่าวว่า นายคริส โปตระนันทน์ อดีตว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.กทม. เขตจตุจักร พญาไท ราชเทวี ในฐานะผู้ร่วมก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ และมูลนิธิเส้นด้าย พร้อมด้วย นายพีรพล กนกวลัย หรือ “เฮียเล้า” ส.ก.เขตพญาไท เตรียมลาออกจากพรรคก้าวไกล พร้อมกับรวบรวมทีมงาน ส.ก.จำนวนหนึ่ง ไปก่อตั้งพรรคการเมืองใหม่นั้น

ล่าสุด นายคริส โปตระนันทน์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ ชี้แจงข้อเท็จจริงถึงกรณีดังกล่าว โดยระบุว่า ได้ลาออกจากสมาชิกพรรคก้าวไกลตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2566 ด้วยเหตุผล 3 ประการคือ 1.อยากจะทำการเมืองในพรรคที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เพราะความเป็นประชาธิปไตยของพรรคยังห่างจากที่พรรคโฆษณาอีกมาก การที่ได้มาร่วมก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่กับนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ (ปัจจุบันเป็นประธานคณะก้าวหน้า) ไม่ได้มาทำการเมืองเพื่อให้ใครได้เป็น ส.ส. หรือเพื่อให้ใครได้อำนาจ หรือมาทำการเมืองเพื่อผลักดันวาระทางการเมืองของใครบางคน

“ผมอยากได้พรรคการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงคือ พรรคการเมืองที่ประชาชนเป็นเจ้าของ เวลาจากวันนั้นถึงวันผ่านมา 5 ปี ต้องถามกลับไปที่ประชาชนผู้เป็นสมาชิกพรรค จำนวนกว่า 6 หมื่นคน ว่าทราบบ้างหรือไม่ว่า พรรคมีประชุมสามัญวันไหน พรรคมีการคัดเลือกผู้สมัคร ส.ส.กันอย่างไร กลไกในการคัดเลือกนโยบายที่จะหาเสียงในคราวนี้ คุณเคยมีส่วนร่วมในการตัดสินใจหรือไม่? ใครจะได้เป็น ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ของพรรคในการเลือกตั้งครั้งนี้ คุณรู้หรือไม่ ผมในฐานะที่เคยเป็นสมาชิกตลอดชีพทั้งพรรคอนาคตใหม่และพรรคก้าวไกล ตอบได้เลยว่า เรื่องทั้งหมดที่เป็นเรื่องที่สำคัญมากทั้งสิ้น ล้วนเป็นเรื่องของการตัดสินใจของคนกลุ่มเล็กๆ เท่านั้น ผมให้ชื่อเล่นกลุ่มนี้ว่า โปลิตบูโร” นายคริส ระบุ

นายคริส ระบุอีกว่า หากการบริหารพรรคยังเป็นอย่างนี้ หากพรรคก้าวไกลได้อำนาจในการบริหารประเทศ พรรคก้าวไกลจะบริหารประเทศอย่างไร ก็คงต้องอยู่ที่คนกลุ่มนี้ ไม่ได้อยู่สมาชิกพรรคแต่อย่างใด เรื่องดีๆ ใครก็พูดได้ แต่ทำยาก เข้าใจ มิฉะนั้น พรรคก้าวไกลในอนาคตคงจะมีชะตากรรมไม่ต่างจากพรรคการเมืองที่ดีแต่พูด (Hypocrital party) เรื่องนี้สะท้อนให้แกนนำฟัง พูดในที่ประชุมใหญ่พรรคทุกปี พูดกับทุกคน คำตอบที่ได้มีเพียงแค่ ขอเวลาหน่อย เรายุ่งมาก อดทนหน่อยนะ ทำให้แน่ๆ เลือกตั้งคราวหน้า เราทำแน่ๆ ฟังดีๆ มันคล้ายที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พูด “ขอเวลาอีกไม่นาน”

นายคริส ระบุว่า เรื่องนี้รับรู้อย่างลึกซึ้งด้วยตัวเอง เมื่อเดือนที่ผ่านมา ได้สอบถามผ่านแกนนำว่าขอขยับไปลง ส.ส.บัญชีรายชื่อ ได้หรือไม่ เพราะหากลงแบบแบ่งเขตเหมือนปี 2562 เชื่อว่ามีโอกาสสูงที่เขตดังกล่าวจะถูกแบ่งใหม่เป็น 3 ส่วน แต่กลับได้รับคำตอบว่า จะลงได้อย่างไร เพราะตนย่ำยีหัวใจคนในพรรคขนาดนี้ พอนั่งนึกก็ถึงบางอ้อ เพราะตนคัดค้านการลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. ของนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร เนื่องจากเห็นว่ายังไม่ดีพอจะสู้กับ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ (ปัจจุบันเป็นผู้ว่าฯ กทม.) และคัดค้านการแต่งตั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อคนหนึ่งมาเป็น ผอ.การเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขตจตุจักร-หลักสี่ เมื่อปี 2565 ที่ผ่านมา เพราะไม่มีทางเข้าใจการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต เนื่องจากไม่เคยลงเลือกตั้งมาก่อน

นอกจากนี้ ตนยังคัดค้านการแต่งตั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อคนหนึ่ง มาเป็น ผอ.การเลือกตั้ง ส.ส.กทม. ปี 2566 อีกครั้ง เพราะกำลังเอาคนที่ทำเลือกตั้งแพ้มาแล้วครั้งหนึ่ง มาคุมการเลือกตั้งที่สำคัญกว่าและใหญ่กว่า ขณะเดียวกัน เมื่อปลายปี 2565 ตนในฐานะอดีตประธานมูลนิธิเส้นด้าย ได้แถลงข่าวกรณีอาสาของมูลนิธิเข้าไปช่วยเหลือเหยื่อผู้ถูกล่วงละเมิดทางเพศจากอดีต ส.ก.พรรคก้าวไกล จนโดนถล่มจากสมาชิกพรรคว่า ไม่ปกป้องพรรค

“ผมไม่เคยกลัวในการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่าง ไม่เคยกลัวในการกระทำที่เราคิดว่าถูกต้อง และที่ผ่านมา ผมพูดตรง ๆ กับพรรคเสมอถึงความยุติธรรมในประเด็นต่าง เช่น การเกลี่ยทรัพยากรของ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ กับ ส.ส.เขต ความน้อยเนื้อต่ำใจของคนที่ลงพื้นที่เหล่านี้อยู่ในใจของผู้สมัครท้องถิ่น หรือผู้สมัคร ส.ส.เขตทุกคนแต่ไม่มีใครกล้าพูด แต่การที่ผมพูดกับแกนนำแบบนั้น มันทำให้ผมกลายเป็นคนมีปัญหา กลายเป็นคนเลว เพราะต้องการแย่งเงิน แย่งทรัพยากร ไม่จงรักภักดีกับพรรค” นายคริส ระบุ

นายคริส ระบุด้วยว่า วันที่นั่งคุยกับแกนนำพรรคเรื่องการขอขยับไปลง ส.ส.บัญชีรายชื่อ มีแกนนำบางคนที่เป็นเจ้าของบริษัท เปรียบเทียบให้ตนฟังว่า หากมีเซลในบริษัท 2 คน คนแรกเป็นคนเก่ง คนฉลาด ยอดขายดีมาก ๆ แต่ต่อรองผลประโยชน์ตลอด กับอีกคนยอดขายครึ่งเดียวของคนแรก แต่จงรักภักดีมาก ๆ เขาจะเลือกคนที่สอง เลยรู้แล้วว่า ชะตากรรมในพรรคนี้จะเป็นตาย ร้าย ดี ก็ขึ้นอยู่กับว่า จะพิสูจน์ความจงรักภักดีกับ “โปลิตบูโร” ได้หรือไม่

นายคริส ระบุว่า 2.ไม่เห็นด้วยกับนโยบายหลายประการของพรรคก้าวไกล เพราะพรรคอนาคตใหม่ที่ร่วมจัดตั้ง ต้องสามารถโอบรับความเห็นหลากหลาย ไม่ว่าการเมืองแบบฝั่งซ้าย ฝั่งขวา ความคิดเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม สังคมนิยม โดยมีจุดร่วมสำคัญคือไม่เอาเผด็จการ และการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ขณะนั้นยังไม่ใช่วาระของพรรคอนาคตใหม่ด้วยซ้ำ แต่ 5 ปีผ่านมา วันนี้นโยบายของพรรคก้าวไกลหล่นมาจากฟ้า หล่นมาจากห้องแอร์ โดยเฉพาะนโยบายหาเสียงสำคัญสุดคือ เงินบำนาญของคนอายุเกิน 60 ปี ที่ใช้งบประมาณกว่า 20% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ดังนั้นประเทศไทยเตรียมฉิบหายได้เลย ตนไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้ ถ้าอยู่ในพรรคจะทำได้อย่างไรนอกจากอยู่เงียบ ๆ

3.ตนไม่สามารถโกหกประชาชนได้ ครั้งนี้จะลงสมัคร ส.ส.อีกครั้งหนึ่ง แต่ไม่สามารถลงกับก้าวไกลได้ เพราะถ้าชนะการเลือกตั้ง เท่ากับโกหกประชาชน พูดนโยบายที่ตนไม่เชื่อ พูดถึงพรรคที่ไม่เห็นด้วยกับวิธีการจัดการ จะพูดถึงพรรคได้เต็มปากอย่างไร

“พรรคบอกว่า พรรคเป็นพรรคของประชาชน แต่ตอนนี้พรรคกำลังจะกลายเป็น “พรรคพวก” คนที่ได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์จำนวนหนึ่งกำลังได้เป็นต่อในสมัยหน้า หาก “โปลิตบูโร” ถูกใจ ยังงั้นหรือ หากพรรคจะเป็นพรรคของประชาชนจริงๆ พรรคต้องกล้าทำตามข้อเสนอ Set Zero ของนายปิยบุตร แสงกนกกุล (เลขาธิการคณะก้าวหน้า) พรรคต้องกล้าเปิดให้สมาชิกโหวตผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อทางตรงอย่างโปร่งใส เพื่อพิสูจน์กับประชาชน ว่านี่คือพรรคการเมืองสมาชิก เป็นพรรคการเมืองของประชาชน ไม่ใช่พรรคการเมืองของโปลิตบูโร ไม่ใช่พรรคการเมืองของพรรคพวก” นายคริส ระบุ

นายคริส ระบุด้วยว่า การที่ลาออกจากพรรคก้าวไกล ไม่ใช่เพราะโกรธ หรือ เกลียด หรือน้อยใจ แต่เป็นเพราะไม่เห็นด้วยกับการบริหารงานของพรรค แต่ยังภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันประเด็นสังคมที่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องประชาธิปไตย หรือ เรื่องการเปิดใบอนุญาตสุรา ให้มาถึงจุด ๆ นี้ โดยตลอดเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ขอขอบคุณนายปิยบุตร ที่ชวนผมเข้ามาทำงานทางการเมือง แม้ว่าจะชิงลาออกตัดหน้าไปก่อนก็ตาม ผมขอขอบคุณนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่ได้ให้โอกาสเป็นหัวหน้าคณะทำงานนโยบายเศรษฐกิจที่พรรคอนาคตใหม่ ขอขอบคุณเพื่อน ๆ ทั้งในในพรรคอนาคตใหม่ และพรรคก้าวไกล และประชาชนที่ได้ร่วมเดินทางกันทุก ๆ ท่าน ถนนแห่งประชาธิปไตยไม่ได้มีทางเดียว แล้วพบกันที่ปลายทาง

มีรายงานข่าว แจ้งว่า นอกเหนือจาก นายคริส และนายพีรพล แล้ว ยังมีการชักชวน ส.ก.ที่เป็นอดีตเครือข่ายมูลนิธิเส้นด้ายอีก 4 คน และ ส.ก.พรรคก้าวไกล ที่ไม่เกี่ยวข้องกับเส้นด้าย แต่หารือกันถูกคอหลังการเลือกตั้ง ส.ก. มาร่วมด้วยอีก 4 คน และยังมีอดีตเครือข่ายสมาชิกเส้นด้ายอีกจำนวนหนึ่ง รวมแล้วเบื้องต้นมีประมาณ 20 คนที่จะออกไปตั้งพรรคการเมืองใหม่

รายงานข่าวแจ้งอีกว่า ตอนนี้มีการเสนอชื่อพรรคออกมา 2 ชื่อคือ พรรคทำได้ และพรรคเส้นด้าย โดยในส่วนพรรคเส้นด้ายนั้น อาจไม่ถูกใช้ เนื่องจากเครือข่ายมูลนิธิเส้นด้ายอาจไม่เห็นด้วย เพราะปัจจุบันยังปฏิบัติงานเพื่อสังคมอยู่ และมูลนิธิไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง