ไล่ตั้งแต่ปัญหาสภาล่มซ้ำซาก ทั้งจากปัญหา ส.ส.ที่ทยอยลาออกกันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งล่าสุดเหลือ ส.ส.ปฏิบัติหน้าที่ในสภาเพียง 420 คน จนทำให้การบริหารจัดการเสียงในสภาของวิปรัฐบาลไม่สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบกับผลพวงจาก “เกมล่มสภา” เพื่อขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตัดอำนาจ ส.ว.โหวตนายกฯ และการเบรกเกมพิจารณากฎหมายบางฉบับ จึงทำให้ปรากฏการณ์สภาล่มยังคงเกิดขึ้นให้เห็นกันเป็นรายวัน

ซึ่งก็กลายเป็นปัญหาใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนร้อนไปถึง “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ที่ถึงขั้นต้องปิดห้องหารือกับ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา และ นายพรเพชร วชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ในเรื่องปัญหาการประชุมสภาล่มซ้ำซาก รวมทั้งร่างกฎหมายที่ยังคงค้างอยู่ในสภา แต่ก็ยังไร้วี่แววว่าจะมีทางออกในเรื่องดังกล่าว เพราะถึงแม้ “บิ๊กตู่” จะรับรู้ถึงปัญหาแต่กลับบอกว่า “ผมก็พยายามเต็มที่ให้แล้ว”

นอกจากปัญหาสภาล่มที่ยังคารมคาซัง ก็มี “เกมร้อนในสภา” ที่กำลังจะปะทุขึ้น ในวันที่ 15-16 ก.พ.นี้ จากญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจโดยไม่ลงมติตามมาตรา 152 ภายใต้ชื่อว่า “ยุทธการถอดหน้ากากคนดี” ซึ่งจะถือเป็นเกมซักฟอกในสภาครั้งสุดท้าย ก่อนยุบสภา ซึ่งงานนี้พรรคฝ่ายค้านตั้งใจจะใช้เวทีสภา ฉีกทึ้งรอยแผลรัฐบาลเพื่อลดความนิยมก่อนการเลือกตั้ง โดยจะมีการพุ่งเป้าอภิปราย “บิ๊กตู่” ที่เป็นหัวใจสำคัญของรัฐบาล กับปัญหาความล้มเหลวของนโยบายรัฐบาล 12 ข้อ การบริหารงานของรัฐบาล การแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น รวมทั้งปัญหาหนี้สินของประเทศ

และยังมีประเด็นที่ผู้คนในสังคมให้ความสนใจ ทั้งเรื่องเรือหลวงสุโขทัยล่มกลางอ่าวไทย ปัญหาทุนจีนสีเทา กรณีโยกย้าย นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ ที่ถูกมองว่าเป็นผลพวงจากเรื่องการเมือง ตลอดจนกรณี นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม กับปมร้อนหุ้นในบริษัทที่ร่วมประมูลงานของกระทรวงคมนาคม เป็นต้น

ทั้งนี้ คงจะต้องรอดูกันว่า “ยุทธการถอดหน้ากากคนดี” ที่กำลังจะเกิดขึ้น จะเป็นการเปิดแผลรัฐบาล เพิ่มแต้มต่อให้พรรคฝ่ายค้านในสนามเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น หรือจะกลายเป็นเวทีให้รัฐบาลแถลงผลงานทิ้งทวนก่อนยุบสภา…อีกไม่นานก็ได้รู้กัน

และเรื่องที่ยังต้องจับตากันแบบลุ้นระทึกไม่แพ้กัน ก็คงหนีไม่พ้นวาระร้อน “เกมเลือกตั้งอลวน แบ่งเขตอลเวง” จากการที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง ใช้ตัวเลขจำนวนราษฎรผู้ไม่มีสัญชาติไทย ร่วมคำนวณในการแบ่งเขตเลือกตั้งด้วย จนถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าการนับคนต่างด้าวรวมไปด้วยทำให้การหลายจังหวัดเสียสิทธิที่จะมี ส.ส.เพิ่มอีก 1 คน และแม้งานนี้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี จะออกมาแนะนำว่า หาก กกต.ต้องการความชัดเจนต้องไปสอบถามศาลรัฐธรรมนูญ แต่ทาง กกต.กลับยืนยันการนับรวมราษฎรผู้ไม่มีสัญชาติไทยในการแบ่งเขตเลือกตั้ง และไม่จำเป็นจะต้องยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความเรื่องดังกล่าว จนทำให้หลายฝ่ายเริ่มมีความกังวลว่าการตัดสินใจของ กกต.ในเรื่องนี้ อาจจะทำให้การเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นเป็นโมฆะ!

ถึงแม้เรื่องราษฎรที่นำมาคำนวณ กกต.จะมั่นอกมั่นใจว่าทำถูกต้องตามรัฐธรรมนูญแล้ว แต่การจะยืนกระต่ายขาเดียวสวนทางความรู้สึกของคนในสังคม ก็อาจจะไม่ต่างกับการเดินลุยไฟเพื่อจัดการเลือกตั้ง เพราะมีความสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้การเลือกตั้งมีรอยแปดเปื้อน ทั้งนี้ การตัดสินใจเรื่องสำคัญแบบไม่ดูจังหวะทางการเมืองก็อาจจะเป็นปัญหากับ กกต.เอง เพราะในช่วงก่อนการเลือกตั้งที่ต่างฝ่ายต่างสุมไฟการเมืองเช่นนี้ การตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อการเลือกตั้ง อาจจะทำให้ กกต. ถูกมองว่าเป็นการยื้อเกมเลือกตั้งหรือไม่!

ทั้งนี้ทั้งนั้น การยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความให้เกิดความชัดเจนในเรื่องราษฎรที่นำมาคำนวณ คงจะใช้เวลาไม่มาก และน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า เพราะวาระร้อนมั่วนิ่มเดินลุยไฟร้อนโดยเอาการเลือกตั้งและเงินหลายพันล้านไปเสี่ยง

ตัดภาพมาที่ฝ่ายการเมืองที่เริ่มปะโคมปี่กลองเลือกตั้งกันอย่างคึกคัก ภายใต้การจัดทัพเตรียมสู่ศึกเลือกตั้งทั้งในส่วนของผู้สมัคร และการเปิดนโยบายหาเสียง โดยพรรคที่ถูกจับตามองมากที่สุด หนีไม่พ้น พรรคเพื่อไทย ที่ยังคงเสริมทัพกันอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดมีการผนึกกำลัง “บ้านใหญ่ชลบุรี” นำโดย นายสนธยา คุณปลื้ม อดีตรัฐมนตรี และ นางสุกุมล คุณปลื้ม อดีต ส.ส.ชลบุรี ยกทีมว่าที่ผู้สมัคร ส.ส 10 คน คัมแบ๊กกลับเข้าชายคาเพื่อไทย

ส่วน พรรคพลังประชารัฐ ภายใต้บารมีการเมืองของ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ในฐานะหัวหน้าพรรค ก็ยังมั่นใจท่องคาถาวาดฝันนั่งบัลลังก์ตำแหน่งนายกฯคนที่ 30 โดยมีการเปิดประตูรับ “ก๊วนธรรมนัส” ที่นำโดย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า และ 11 ส.ส.พรรคเศรษฐกิจไทย กลับเข้าสมัครเป็นสมาชิกพรรคแบบเงียบๆ โดยมีการวางหมากให้ดูแลพื้นที่ภาคเหนือเหมือนการเลือกตั้งปี 2562

ขณะที่ พรรครวมไทยสร้างชาติ แม้จะเปิดตัว “บิ๊กตู่” ไปเรียกเรตติ้ง แต่งานนี้ยังคงจะต้องทำการบ้านกันยกใหญ่ เพราะเวลาของพรรครวมไทยสร้างชาตินับจากนี้ไปจนถึงวันเลือกตั้ง เหลืออีกไม่นาน แต่ความดังความปังของ “บิ๊กตู่” กลับเริ่มแผ่วจนถูกพรรคอื่นกลบกระแส จนทำเอาบรรดาลูกพรรคและกองเชียร์ออกอาการตุ้มๆต่อมๆ ไปตามกัน ซึ่งคงจะต้องรอดูกลยุทธ์สู้ศึกเลือกตั้งของ “นั่งร้านอำนาจใหม่” จะทำให้ดาวดวงใหม่ เป็นไปอย่างที่ “บิ๊กตู่” วาดหวังไว้ได้หรือไม่

ด้าน พรรคก้าวไกล เริ่มเกิดแรงกระเพื่อมจากปัญหาภายในพรรค โดยล่าสุด นายคริส โปตระนันทน์ อดีตว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.กทม. ในฐานะผู้ร่วมก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ ตัดสินใจลาออกจากพรรค พร้อมสะท้อนปัญหาภายในพรรคว่า มีคนกลุ่มเล็กๆ ทำตัวเป็น “โปลิตบูโร” ครอบงำพรรค จนกลายเป็นภาพการทิ้งบอมบ์ส่งท้ายพรรคก่อนเลือกตั้ง

และพรรคที่จะไม่พูดถึงไม่ได้ก็คือ พรรคภูมิใจไทย ถึงแม้ก่อนหน้านี้ “ครูใหญ่เนวิน ชิดชอบ” จะเคยปลุกขวัญประกาศดัน “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค ขึ้นนั่งเก้าอี้นายกฯ คนที่ 30 แต่หมากกลอันลุ่มลึก คือ การทำพรรคภูมิใจไทย ให้ทะยานเป็นพรรคที่ชี้ชะตารัฐบาลครั้งหน้า สามารถพลิกร่วมรัฐบาลได้ทุกขั้ว ด้วยแต้ม ส.ส.เขตเกรดเออยู่ที่ 80 เสียง บวกกับปาร์ตี้ลิสต์อีก 10 เสียง ที่จะทำให้พรรคภูมิใจไทย เป็นคีย์แมนสำคัญหลังการเลือกตั้ง

ซึ่งแน่นอนว่าโจทย์ดังกล่าวสวนทางกับแผนแลนด์สไลด์ของพรรคเพื่อไทย จนอาจจะมองได้ว่าการโยนโจทย์แลนด์สไลด์ของพรรคเพื่อไทยในครั้งนี้ อาจจะเป็นเพียงแผนการปลุกขวัญพลรบของตัวเองให้ฮึกเหิมก่อนเข้าสู่สังเวียนเท่านั้นหรือไม่?

เพราะหากพิจารณาจากบริบทปัจจุบัน แผนการแลนด์สไลด์ของพรรคเพื่อไทย ยังเป็นเรื่องที่จะต้องคำถามว่า เป็นไปได้จริงหรือไม่ เพราะหากนับนิ้วคำนวณจำนวนความเป็นไปได้ของจำนวน ส.ส. พรรคแกนนำรัฐบาล ก็จะมีตัวเลขคร่าวๆ คือ พรรคภูมิใจไทย 90 คน พรรคพลังประชารัฐ 40 คน พรรครวมไทยสร้างชาติ 30-40 คน พรรคประชาธิปัตย์ 40 คน ซึ่งนับรวมแล้วประมาณ 210 คน ซึ่งหากผนึกรวมกับบรรดาพรรคเล็กพรรคน้อยก็อาจจะรวมเสียงได้เกินครึ่งของสภา ดังนั้น หากมองการเลือกตั้งภายใต้โจทย์นี้ ก็อาจจะพูดได้ว่าแผนแลนด์สไลด์ของพรรคเพื่อไทย ยังคงเป็นลูกผีลูกคนอยู่

ดังนั้น ตัวแปรที่จะพลิกขั้วในการจัดตั้งรัฐบาลในครั้งนี้ จึงไม่ได้อยู่ที่พรรคขนาดใหญ่ หรือพรรคที่มีจำนวน ส.ส.เป็นอันดับหนึ่ง แต่อาจจะอยู่ที่พรรคที่ได้ ส.ส.อันดับสอง ซึ่งก็คงอยู่ที่พรรคภูมิใจไทย แม้ตอนนี้จะมีการตีปี๊บดัน “เสี่ยหนู” นั่งเก้าอี้นายกฯ ซึ่งก็มีโอกาสเป็นไปได้หากได้ ส.ส.จำนวนที่สูงพอสมควร ที่มากพอจะสร้างอำนาจต่อรองได้ก็คงจะคว้าโอกาสสำคัญไว้อย่างแน่นอน แต่หากในกรณีที่มีจำนวน ส.ส.ไม่มากพอก็จะเป็นพรรคตัวแปรที่จะเลือกพลิกขั้วไปฝั่งไหน ฝั่งนั้นก็เป็นรัฐบาลได้

ทั้งนี้ อาจจะพูดได้ว่าแม้การเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น พรรคภูมิใจไทย จะไม่ได้เป็น “พรรคที่ถูกเลือกให้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล” แต่ด้วยจำนวน ส.ส.ที่มีอยู่ในกำมือก็ส่งผลให้กลายเป็น “พรรคที่เลือกได้ว่าใครจะเป็นรัฐบาล”

ภายใต้โจทย์ดังกล่าว ก็สอดคล้องกับลีลาของ “เสี่ยหนู” ซึ่งในการประชุม ครม.รอบล่าสุด “เสี่ยหนู” ได้จูงมือ ศักดิ์สยาม เข้าไปกราบโทษ “บิ๊กตู่” จากปมปัญหาเรื่องลูกพรรคกล่าวโจมตี “บิ๊กตู่” เท่านั้น แม้จะมองได้ว่าเป็นแค่เรื่องเล็กๆ แต่จากสิ่งที่เกิดขึ้นก็สะท้อนให้เห็นได้ชัดว่าพรรคภูมิใจไทยกำลังเดินเกมไม่เป็นศัตรูกับใคร

เช่นเดียวกับภาพ “เสี่ยหนู” ที่เดินทางไปร่วมรดน้ำศพมารดา มารดาของ “คุณหญิงอ้อ”  คุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร อดีตภรรยาของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พร้อมแสดงความเสียใจกับ “คุณหญิงอ้อ” และ “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร ภายในงานดังกล่าวด้วย ซึ่งก็สอดรับกับนโยบายก้าวข้ามความขัดแย้งของพรรคภูมิใจไทย แต่ทั้งหมดทั้งมวล คงจะต้องรอดูผลในสนามเลือกตั้งว่า เมื่อสงครามจบลงแต่ละพรรคจะได้ ส.ส.ในมือจำนวนเท่าไหร่ ถึงจุดนั้นจึงจะเห็นว่าท้ายที่สุดแล้วใครเป็นผู้คุมเกมหลังเลือกตั้ง.