ที่ เรือนจำพิเศษมีนบุรี กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 67 นายอรุณ บุญชม (มุฮัมมัด ญะลาลุดดีน อิบน์ ฮุซัยน์) จุฬาราชมนตรีคนที่ 19 แห่งราชอาณาจักรไทย ประธานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย พร้อมด้วย นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม และหัวหน้าพรรคประชาชาติ ร่วมงานละศีลอด เดือนรอมฎอน ปี ฮ.ศ. 1445 ในการเปิดโครงการ “Mahabbah Ramadan อ้อมกอดแห่งรอมฎอนสู่เรือนจำ” โดยมี นายกูเฮง ยาวอหะซัน เลขานุการ รมว.ยุติธรรม นางจิรภา สินธุนาวา รองปลัดกระทรวงยุติธรรม นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ผู้บริหารกรมราชทัณฑ์ และบุคลากรของส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ให้การต้อนรับ

เนื่องในโอกาสแห่งเดือนรอมฎอนอันประเสริฐที่มุสลิมทั่วโลกร่วมปฏิบัติศาสนกิจ กระทรวงยุติธรรม โดยกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม ได้ตระหนักในคุณค่าและให้ความสำคัญอย่างยิ่ง ในการส่งเสริมให้เรือนจำและทัณฑสถานทั่วประเทศ มีกระบวนการพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขังให้สอดคล้องกับความเชื่อในศาสนาของผู้ต้องขังแต่ละคน โดยผ่านการจำแนกลักษณะผู้ต้องขังและวางแผน การปฏิบัติรายบุคคลอย่างเหมาะสม

เรือนจำพิเศษมีนบุรี จึงได้จัดโครงการ “MahabbahRamadan อ้อมกอดแห่งรอมฎอนสู่เรือนจำ” ซึ่งมีเป้าหมายในการพัฒนาบุคลิกภาพ ฝึกความอดทนทั้งทางร่างกายและฝึกจิตใจของผู้ถือศีลอดให้มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น มีความเสียสละและรับผิดชอบต่อสังคม และที่สำคัญคือ การคืนคนดี มีคุณค่าสู่สังคม และจะมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นหากภาคสังคมได้เข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุน ให้กำลังใจ และให้โอกาสแก่ผู้ต้องขัง ดังคำขวัญที่ว่า “ราชทัณฑ์แก้ไข คนไทยให้โอกาส” ซึ่งในโครงการฯ ได้เปิดโอกาสให้หน่วยงานภายนอก ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และบุคคลทั่วไป ได้บริจาคปัจจัยต่าง ๆ ในกิจกรรมถือศีลอด เพื่อร่วมเป็นกำลังใจในการเสริมสร้างให้ผู้ต้องขังทำความดี

​โดยกิจกรรมในครั้งนี้มีผู้ต้องขังมุสลิม เข้าร่วมโครงการ “MahabbahRamadan อ้อมกอดแห่งรอมฎอนสู่เรือนจำ” จำนวน 419 คน ซึ่งโครงการดังกล่าวสอดคล้องกับนโยบายและแนวทางการดำเนินการตามแผนปฏิบัติราชการ ประจำปี 2567 ของกระทรวงยุติธรรม ด้านการพัฒนาระบบหรือโปรแกรมการบำบัด แก้ไข ฟื้นฟู และพัฒนาพฤตินิสัยผู้กระทำผิดที่หลากหลายและมีความเฉพาะเจาะจงในแต่ละกลุ่ม เพื่อส่งเสริมด้านการพัฒนาจิตใจ โดยการปรับเปลี่ยนทัศนคติให้เป็นไปในทางที่ดีต่อตนเองและผู้อื่น ตลอดจนกลับคืนสู่สังคมได้อย่างปกติสุข ไม่หวนกลับไปกระทำผิดซ้ำอีก โดยเรือนจำและทัณฑสถานทั่วประเทศ ได้ยึดถือและปฏิบัติตามนโยบายดังกล่าว เพื่อสร้างประโยชน์สูงสุดต่อสังคมต่อไป

​​ทางด้าน พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยเราไม่ได้มีการแบ่งแยกกัน แต่เป็นการให้ความเคารพ ความแตกต่างที่หลากหลายแก่กัน ซึ่งเรานั้นมีการให้เกียรติ ให้ความสำคัญกับผู้ต้องขังทุกคนเป็นอย่างมาก ดังนั้นขอให้กำลังใจผู้ต้องขังทุกคนก้าวสู่การเป็นอนาคตของชาติในภายภาคหน้าได้เป็นอย่างดี โดยให้คิดว่าเรือนจำนั้นเป็นมหาวิทยาลัยที่เป็นสถานที่สำหรับการเรียนรู้ การฝึกฝน การพัฒนาพฤตินิสัย เพื่อก้าวสู่สังคมที่ดี โดยเวลาที่อยู่ในเรือนจำเราจะรู้คุณค่าของเสรีภาพ ดังนั้น ถือว่างานในวันนี้ไม่ใช่เพียงการมาพบปะแต่อย่างใด แต่จะมาสื่อสารสร้างการรับรู้ว่าเรือนจำนั้นเป็นการสร้างคนดีคืนสู่สังคมได้อย่างมีความสุขต่อไป