เมื่อวันที่ 6 ก.ย. นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองอธิบดีอัยการสำนักงานคดีศาลแขวง โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวให้ความเห็นข้อกฎหมาย พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2565 ความว่า เมาแล้วขับ ครั้งที่ 2 ได้ไป..ศาลอาญา..! โทษสูงขึ้น และถึงขั้นเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ เมาแล้วขับ..โทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับ 5,000 ถึง 20,000 บาท

กฎหมายใหม่หากทำผิดข้อหาเมาแล้วขับซ้ำภายใน 2 ปี อัตราโทษเพิ่มเป็นจำคุกไม่เกินสองปีปรับ 50,000 ถึง 100,000 บาท และศาลจะลงโทษจำคุก และปรับด้วยเสมอ ย้ำนะครับว่าด้วยเสมอคือมีโทษจำคุกแน่ พักอนุญาตใบขับขี่ไม่น้อยกว่าหนึ่งปี หรือถูกเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่

อัตราโทษปรับสูงสุดถึง 100,000 บาท คดีจึงไม่อยู่ในอำนาจศาลแขวง อัยการ ต้องส่งไปฟ้องยังศาลอาญา หรือศาลจังหวัด แล้วแต่กรณี ทำสำนวน ตรวจสอบประวัติกันเต็มรูปแบบ ไม่มีการฟ้องยังศาลแขวงอีกต่อไป ในกรณีทำผิดข้อหาเมาแล้วขับครั้งที่สองภายในสองปีนับแต่กระทำความผิดครั้งแรก…!

รถรับจ้างซึ่งเป็นรถยนต์สาธารณะหรือมอเตอร์ไซค์รับจ้างที่รับส่งผู้โดยสารต้องระวังโทษสูงกว่าที่กำหนดไว้อีกหนึ่งในสาม ไม่อยากเดือดร้อน ดื่มไม่ขับ นะครับ…!

มาตรา 160 ตรี/1 ผู้ใดกระทำความผิดตามมาตรา 160 ตรี วรรคหนึ่ง และได้กระทำความผิดซ้ำอีกภายในสองปีนับแต่วันที่กระทำความผิดครั้งแรก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี และปรับตั้งแต่ห้าหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท และให้ศาลสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของผู้นั้นมีกำหนดไม่น้อยกว่าหนึ่งปี หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่

มาตรา 160 ตรี/2 ผู้ใดกระทำความผิดตามมาตรา 160 ตรี วรรคหนึ่ง ถ้าผู้กระทำความผิดนั้นขับรถโดยไม่ได้รับใบอนุญาตขับขี่ หรือถูกพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ ผู้กระทำต้องระวางโทษสูงกว่าที่กฎหมายกำหนดสำหรับความผิดนั้นอีกหนึ่งในสาม

หากกรณีการกระทำผิดตามวรรคหนึ่ง เป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ อันตรายสาหัส หรือถึงแก่ความตาย ตามมาตรา 160 ตรี วรรคสอง วรรคสาม หรือวรรคสี่ ให้ศาลพิพากษาเพิ่มโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดอีกกึ่งหนึ่งของโทษที่ศาลกำหนดสำหรับความผิดนั้น

มาตรา 160 ตรี/3 ผู้ใดกระทำความผิดตามมาตรา 160 ตรี และได้กระทำความผิดซ้ำอีกภายในสองปีนับแต่วันที่กระทำความผิดครั้งแรก ให้ศาลลงโทษจำคุกและปรับด้วยเสมอ ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับกับผู้กระทำความผิดที่มีอายุไม่เกินสิบแปดปีในวันที่กระทำความผิดครั้งหลัง

“ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง วรรคสอง วรรคสาม หรือวรรคสี่ เป็นการขับขี่รถยนต์สาธารณะหรือรถจักรยานยนต์สาธารณะตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ หรือเป็นการขับขี่รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารเพื่อสินจ้างตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก ผู้กระทำต้องระวางโทษสูงกว่าที่กำหนดอีกหนึ่งในสาม”