ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล และรองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องปลาหยก หรือปลาเก๋าหยก (Jade Perch) ที่เป็นประเด็นในสังคมก่อนหน้านี้ว่า อย่างที่ทราบว่า ปลาหยก หรือปลาเก๋าหยก (Jade Perch) เป็นปลาที่อยู่ในประกาศห้ามเพาะเลี้ยงเอเลียนสปีชีส์ 13 ชนิด ตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดชนิดสัตว์น้ำที่ห้ามเพาะเลี้ยงในราชอาณาจักร พ.ศ. 2564 โดยกรมประมง ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2564 จนคนสงสัยว่าทำไม ถึงมีการห้ามเพราะเลี้ยงปลาชนิดนี้ ทั้งที่เป็นปลาที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง นำมาปรุงอาหารแล้วอร่อย

ผศ.ดร.ธรณ์ กล่าวว่า แต่ต้องอธิบายก่อนว่า สัตว์น้ำต่างถิ่น จนมีการตั้งชื่อเอเลียน คือสัตว์ชนิดใดชนิดหนึ่งที่มีที่อยู่อาศัยประจำถิ่น แล้วมีเกิดวิวัฒนาการในพื้นที่นั้นๆ มาเป็นล้านๆ ร้อยๆ ปี มีสัตว์ชนิดอื่นๆ ในถิ่นนั้นรับรู้ การปรับตัว เพื่ออาศัยอยู่ด้วยกัน รู้ว่าปลานี้ชอบกินอะไร ไม่ชอบอะไร จะหลบหนีหรือต่อสู้และอยู่รอดมาได้ ยกตัวอย่างง่ายๆ เหมือนมนุษย์เราอาศัยอยู่ในโลกนี้มานานหลายร้อยล้านปี จู่ๆ ก็มีเอเลียนมาบุกรุก ซึ่งเราไม่รู้ว่าเอเลียนอันตรายไหม กินอะไร จับเหยื่ออย่างไร มีอาวุธแบบไหน จุดอ่อนคืออะไร ต้องหลบอย่างไรถึงรอด หรือจะสู้กลับอย่างไร นี่คือเราเป็นมนุษย์ที่มีสติปัญญา ยังไม่ทราบว่าจะรับมือกับชาวเอเลียนอย่างไร

ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์

“ปลาในประเทศไทยเราก็เช่นกัน การที่ปลาอื่นจากคนละทวีป มาอาศัยในแหล่งน้ำของสัตว์ท้องถิ่น ก็ไม่สามารถรับมือได้ โดนแย่งที่อยู่ แย่งอาหาร กระทบการสืบพันธุ์ และถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมได้ เพราะปลาท้องถิ่นไม่สามารถปรับตัว จนอาจทำให้ปลาท้องถิ่นไทยสูญพันธุ์ไปในที่สุด นอกจากกระทบระบบนิเวศแล้วยังกระทบกับชีวิตของคนไทยด้วย หากวันใดวันหนึ่งทุกท้องที่เหลือแต่ปลาหยก หรือปลาต่างถิ่น เราจะได้กินแต่ปลาชนิดเดียวหรือ แล้วกลุ่มคนที่หากินจากการจับปลาขาย หรือคนที่จับปลาเพื่อกินให้อยู่รอดอีก จะเป็นอย่างไร แต่ตอนนี้ทางกรมประมง ได้ออกมาควบคุมการเพาะเลี้ยงปลาหยกอย่างชัดเจนแล้วว่า ต้องทำตามกฎระเบียบ กฎหมายอย่างเคร่งครัด” ผศ.ดร.ธรณ์ กล่าวทิ้งท้าย