รายงานข่าวจากกรมทางหลวง (ทล.) แจ้งว่า ได้ปรับแผนงานโครงการสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 6 (อุบลราชธานี-สาละวัน) วงเงิน 4,765 ล้านบาท ที่ได้ศึกษาความเหมาะสมและออกแบบเสร็จแล้ว เนื่องจากการหารือกับ สปป.ลาว เรื่องแหล่งงบประมาณ สัดส่วนค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างครั้งล่าสุด สปป.ลาว มีนโยบายพัฒนาหลายโครงการ ได้วางแผนตามลำดับความสำคัญ เบื้องต้น สปป.ลาว แจ้งว่าได้วางแผนดำเนินโครงการในปี 68

จึงต้องปรับแผนงานให้สอดคล้องกัน คาดว่าได้ข้อสรุปสัดส่วนค่าก่อสร้างภายในปี 66 จากนั้นจะเสนอโครงการให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ เพื่อเตรียมเสนอของบประมาณก่อสร้างในปี 68 แล้วเสร็จปี 71 ปรับจากแผนเดิม ทล.จะเสนอของบฯปี 67 เริ่มก่อสร้างปี 2567 ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี เปิดบริการปี 69-70

วงเงินลงทุนโครงการ 4,765 ล้านบาท เป็นค่าก่อสร้าง 4,225 ล้านบาท ประกอบด้วย ส่วนที่ 1 งานถนนและอาคารด่านฝั่งไทย 1,450 ล้านบาท ส่วนที่ 2 งานสะพานข้ามแม่น้ำ 1,800 ล้านบาท และส่วนที่ 3 งานถนนและอาคารด่านฝั่ง สปป.ลาว 975 ล้านบาท นอกจากนี้มีค่าควบคุมงาน ทั้ง 3 ส่วน 140 ล้านบาท รวมทั้งค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน (ค่าเวนคืน) ฝั่งไทย 400 ล้านบาท

สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 6 เชื่อมโยงระหว่าง จ.อุบลราชธานี กับแขวงสาละวัน สนับสนุนการส่งออกสินค้าจากไทยไปเมืองละครเพ็ง แขวงสาละวัน ซึ่งปัจจุบันขนส่งทางเรือผ่านด่านพรมแดนบ้านปากแซง จ.อุบลราชธานี ตลอดจนเชื่อมโยงการขนส่งไปยังท่าเรือดานัง ประเทศเวียดนาม และประเทศจีน

โครงการมีความยาว 1,607 เมตร ตัวสะพานยาว 1,020 เมตร ขนาด 2 ช่องจราจร ไปกลับเป็นแบบโค้ง และงานทางลาดลงจากตัวสะพาน ความยาวฝั่งไทย 517 เมตร ฝั่งลาว 70 เมตร เชื่อมทางหลวงหมายเลข 2112 (ไทย) กับทางหลวงหมายเลข 13 (สปป.ลาว) อ.นาตาล (ไทย)-เมืองละครเพ็ง (สปป.ลาว) มีถนนฝั่งไทย 4.325 กม. ขนาด 4 ช่องจราจรไปกลับ, ถนนฝั่งลาว 17.509 กม. ขนาด 2 ช่อง ไปกลับ มีอาคารด่าน (BCF) ในไทยและ สปป.ลาว จุดเปลี่ยนทิศทางการจราจรอยู่ในฝั่งไทย

งานออกแบบก่อสร้างมีรายละเอียด อาทิ วงเวียนฝั่งไทยและด่านอุบลราชธานี ใช้ประติมากรรมดอกบัวดอกไม้ประจำ จ.อุบลราชธานี จุดสลับทิศทางจราจร เป็นถนนขนาด 1 ช่อง ปรับทิศทางการขับขี่ที่แตกต่างกันระหว่างไทย และ สปป.ลาว

เชิงลาดสะพานฝั่งประเทศไทย ออกแบบโดยใช้ประติมากรรมรูปช้างในลักษณะยินดีต้อนรับ เสาไฟฟ้าใช้รูปแบบที่สื่อถึงต้นไม้ แสดงถึงความอ่อนน้อมถ่อมตน ลานพักผ่อนริมแม่น้ำโขง เป็นพื้นที่กิจกรรมอเนกประสงค์ทั้งสองฝั่งแม่น้ำ ประติมากรรมบริเวณเชิงลาดสะพานฝั่ง สปป.ลาว เป็นซุ้มประตูรูปแคนคู่ เครื่องดนตรีประจำชาติ สปป.ลาว