เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 16 ก.พ. บริเวณทางเท้ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย ถนนพญาไท แขวงและเขตปทุมวัน กทม. กลุ่มศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบัน รวมตัวกันเพื่อคัดค้านการย้ายสถานที่ตั้งของมหาวิทยาลัย ออกจากสถานที่ตั้งปัจจุบัน เพื่อส่งมอบพื้นที่ให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเตรียมจะยื่นหนังสือถึงอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชมงคลตะวันออก ถึงประเด็นข้อพิพาทดังกล่าว โดยในวันนี้ได้รับการอำนวยความสะดวกจาก พ.ต.อ.สมศักดิ์ มงคลคุณากร รอง ผบก.น.6 ร่วมกับ พ.ต.อ.นพดล เทียมเมธา ผกก.สน.ปทุมวัน สนธิ และกำลังตำรวจ บก.น.6 ดูแลความเรียบร้อย

กรณีนี้เกิดขึ้นได้สืบเนื่องจากมีรายงานว่า ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งเมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2565 ในคดีที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นโจทก์ยื่นฟ้องอุเทนถวายปมปัญหาที่ดิน ซึ่งจุฬาฯ จะนำไปพัฒนาเรื่องการศึกษา โดยให้อุเทนถวายย้ายออกจากที่ตั้งเดิม ซึ่งหลังจากที่ศาลมีคำสั่งจะต้องดำเนินการตามคำสั่งศาลภายใน 60 วัน

สำหรับปัญหาที่ดินระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอุเทนถวาย มีมาอย่างยาวนาน สืบเนื่องจากแผนแม่บทจัดการที่ดิน 1,153 ไร่ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้ดำเนินการขอคืนพื้นที่อุเทนถวาย จำนวน 20 ไร่ 3 งาน 29 ตารางวา ที่อุเทนถวายทำสัญญาเช่าเป็นเวลา 68 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2478-2546 เพื่อขยายเขตพื้นที่การศึกษาตามโครงการพัฒนา ซึ่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ได้เจรจาขอคืนที่ดินมาตั้งแต่ พ.ศ. 2518 แต่ไม่เป็นผล

โดยในวันนี้กลุ่มศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบัน ได้ทำกิจกรรมในการชูป้ายเพื่อแสดงออกถึงวัตถุประสงค์ของการคัดค้านการย้ายสถานที่ตั้ง เช่น พระราชทานที่ดินมาเพื่อเป็นโรงเรียนช่างก่อสร้างแห่งแรกของประเทศไทย ที่ดินแห่งนี้มีไว้เพื่อการศึกษา ไม่ใช่แสวงหากำไร บ้านเราเราไม่ย้าย จากนั้นได้เคลื่อนขบวนจากภายในมหาวิทยาลัย มายังหน้ามหาวิทยาลัยฝั่งถนนพญาไท โดยตั้งแถวตลอดแนวฟุตบาทของรั้วมหาวิทยาลัย เพื่อทำกิจกรรม

หนึ่งในตัวแทนศิษย์ปัจจุบันของอุเทนถวาย ระบุว่า วันนี้ต้องการยื่นหนังสือถึงอธิการบดีเพื่อต้องการทราบข้อเท็จจริงเรื่องการเซ็นหนังสือการย้ายที่ตั้งมหาวิทยาลัย เพราะที่ผ่านมามองว่าทางมหาวิทยาลัยจะเซ็นหนังสือยกที่ดินให้ใครนั้น ไม่ได้มาถาม หรือมาปรึกษานักศึกษา ทำให้สิทธิของนักศึกษาเสียไป วันนี้จึงต้องมาเรียกร้องสิทธิ เพราะนักศึกษาอยู่ที่นี่กันมานาน อะไรๆ ก็ไม่เคยได้ แล้วอยู่ดีๆ เขาจะมาเซ็นที่ดินให้ใคร พวกตนเองจะได้อะไร ซึ่งหากอธิการบดีไม่มารับหนังสือ ก็พร้อมจะยกระดับการเคลื่อนไหว ซึ่งจะให้เวลาถึง 14.00 น. ของวันนี้ พร้อมยืนยันว่า อุเทนถวายจะไม่ย้ายแน่นอน จะต้องอยู่ที่นี่ เพราะเราอยู่กันเกือบจะร้อยปีแล้ว และที่นี่คือที่ดินพระราชทาน ยังไงเราก็ต้องอยู่ที่นี่

ขณะที่นายกฤษฏิธัชย์ ณัฐสราณัญต์ ผู้ประสานงานคณะพิทักษ์สิทธิ์เพื่อการศึกษาอุเทนถวาย กล่าวว่า การที่กลุ่มศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันมาทำกิจกรรมรวมตัวกันในวันนี้ เพื่อต้องการให้อธิการบดีมารับเอกสารที่เป็นประชามติจากพี่น้องชาวอุเทนถวายที่ไม่ต้องการย้ายออกจากที่ตั้งปัจจุบัน ซึ่งเดิมทีพวกตนตั้งใจจะไปยื่นหนังสือถึงอธิการบดีด้วยความสงบเพราะทราบว่าอธิการบดีมีกำหนดการจะไปประชุมที่วิทยาเขตจักรพงษภูวนารถ แต่ต่อมาก็มีการย้ายสถานที่และสุดท้ายก็เปลี่ยนเป็นการประชุมออนไลน์ ทำให้นักศึกษารู้สึกถึงความไม่แน่นอน จึงขอเรียกร้องให้อธิการบดีเดินทางมารับเอกสารที่วิทยาเขตอุเทนถวายแห่งนี้ ภายในเวลา 14.00 น. ซึ่งหากไม่มาก็จะมีการยกระดับการชุมนุมต่อไป โดยขอยืนยันว่า กลุ่มศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบัน ขอคัดค้านการที่จะนำที่ดินซึ่งเป็นบ้านของพวกตน เป็นสถานศึกษาที่มีประวัติ มีตำนานการก่อตั้งมายาวนาน ไปทำอาคารพาณิชย์ อีกทั้งการที่มหาวิทยาลัยมีปัญหาเรื่องข้อพิพาทนี้ ก็ยังส่งผลให้ถูกตัดงบประมาณการพัฒนาการศึกษา ซึ่งมองว่าการที่อุเทนถวายมีข่าวไม่ดีออกไปหลายๆ ครั้ง ส่วนหนึ่งก็มาจากการที่ไม่ได้รับการสนับสนุนในการพัฒนาการศึกษา ทำให้คุณภาพของการศึกษาลดน้อยลง ทั้งที่การศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ

ทั้งนี้ สมาคมศิษย์เก่า และ สมาคมครูและผู้ปกครอง และรวมถึงนิสิตนักศึกษาอุเทนถวาย ได้ออกเอกสารร่วมกัน 3 ฉบับ เพื่อยื่นต่ออธิการบดี โดยรายละเอียดในหนังสือ ระบุว่า กรณีที่คณะกรรมการพิจารณาชี้ขาดการยุติในการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และแจ้งให้วิทยาเขตอุเทนถวายออกจากพื้นที่ที่ใช้เป็นการเรียนการสอนในปัจจุบันนั้น เนื่องจากวิทยาเขตอุเทนถวาย ได้ก่อตั้งมา 89 ปี มีศิษย์เก่าอยู่มากมาย ที่ประสบความสำเร็จในการงาน และศิษย์ปัจจุบัน ที่กำลังศึกษาอยู่ จะเป็นปัญหาในระบบการศึกษาของนักศึกษาปัจจุบัน

โดยในภายหลังสมาคมศิษย์เก่าอุเทนถวาย ได้มีมติจากที่ประชุมว่าวิทยาเขตอุเทนถวายไม่ประสงค์จะย้ายอาคารสถานที่ อุปกรณ์ สื่อการเรียน การสอน และศิษย์เก่าไม่เห็นด้วยที่จะย้ายออกจากที่ดินของอุเทนถวาย ณ ปัจจุบันนี้พร้อมทั้งตั้งคำถามถึงมหาวิทยาเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออกด้วยว่า สถานที่แห่งนี้ควรใช้เพื่อการศึกษาหรือเพื่อการค้าพาณิชย์

ด้านสมาคมผู้ปกครองและครูอุเทนถวาย ได้ทำผลสำรวจความต้องการของประชาคมอุเทนถวาย ซึ่งมี 1.กลุ่มนักศึกษาปัจจุบัน 2.กลุ่มศิษย์เก่า 3. กลุ่มคณาจารย์และบุคลากรสายสนับสนุน โดย 74.43% ไม่ประสงค์จะย้ายออกจากพื้นที่ตั้งเดิมในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ปัญหาดังกล่าวมีอย่างยาวนาน โดยในปี 2557 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย จัดแถลงข่าว “ขอคืนความสุขให้อุเทนถวาย” โดย นายประวัติ หาดปิ่นขจรจารุ ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย มทร.ตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย