ชาร์ลอตต์ โคเมอร์ วัย 30 ปี หญิงสาวจากวูสเตอร์เชอร์ ประเทศอังกฤษ ต้องทนทุกข์กับอาการป่วยทางจิตเป็นเวลาหลายปี เนื่องจากเธอมีอาการของโรคไม่พอใจรูปร่างหน้าตาของตัวเอง (Body Dysmorphic Disorder หรือ BDD) หลังจากที่เธอโดนกลั่นแกล้งต่าง ๆ นานาในสมัยที่ยังเรียนอยู่ จนกระทั่งเธอกลายเป็นคนที่หมกมุ่นกับรูปร่างหน้าตาที่เห็นในกระจก และมักทำร้ายตัวเองบ่อยครั้ง 

นอกจากนี้ โคเมอร์ ซึ่งมีอาชีพเป็นผู้ช่วยนักกายภาพบำบัด เริ่มล้มป่วยด้วยโรคคลั่งผอม (Anorexia) อีกโรคหนึ่ง ดัชนีมวลกายของเธอลดต่ำจนเหลือเพียง 16 ซึ่งเทียบเท่ากับตัวเลขของเด็ก 4 ขวบ โคเมอร์ ดื่มแต่น้ำอัดลมสูตรไร้น้ำตาล และต่อมา ก็เสียชีวิตด้วยการกินยาเกินขนาด เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2564 ด้วยความรู้สึกว่า “หมดหวัง” ที่จะได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานทางการแพทย์

หลังจากสืบสวนการเสียชีวิตของ โคเมอร์ เป็นเวลานาน ในที่สุด เดวิด เรด เจ้าหน้าที่ชันสูตรแห่งวูสเตอร์เชอร์ ก็สรุปว่า การเสียชีวิตของ โคเมอร์ เป็นการ “ฆ่าตัวตาย” ที่สืบเนื่องมาจาก “ความล้มเหลวทั้งระบบ” ของทั้งหน่วยงานสาธารณสุขแห่งเมืองวูสเตอร์เชอร์ และหน่วยงานในระบบให้บริการดูแลรักษาสุขภาพแก่ประชาชนแห่งชาติอังกฤษ 

รายงานการสืบสวน ระบุว่า โคเมอร์ มีประวัติของการกินยาเกินขนาดอยู่แล้ว ซึ่งเคยทำให้เธอตกอยู่ในอาการโคม่าเป็นเวลาถึง 3 สัปดาห์

ตลอดเวลาที่เธอป่วย เธอมีผู้ประสานงานด้านสาธารณสุขถึง 8 คน ที่รับผิดชอบดูแลอาการป่วยของเธอ แต่ตลอดเวลา 5 เดือน ในปี 2564 เธอไม่ได้เคยพบปะหรือมีการติดตามอาการจากเจ้าหน้าที่ในกลุ่มนี้เลยแม้แต่คนเดียว

หลายเดือนก่อนที่เธอจะเสียชีวิต โคเมอร์ ได้ร้องขอให้มีการส่งตัวไปรับการรักษาต่อที่โรงพยาบาลไพรออรี แต่โดนระงับไว้โดยนายแพทย์ท่านหนึ่ง

ชาร์ลอต โคเมอร์ หญิงสาวที่โดนทางการปฏิเสธการรักษาที่เธอควรได้รับ

ในจดหมายที่ศาสตราจารย์วีล แห่งโรงพยาบาลไพรออรี ส่งให้หมอประจำตัวของเธอ อธิบายอาการป่วยของเธอไว้ว่า โคเมอร์ มีอาการของ BDD ผู้ป่วยโรคนี้จะชอบดูกระจกเพื่อสำรวจรูปร่างหน้าตาตัวเอง ซึ่งส่งผลกระทบให้ผู้ป่วยมีอาการซึมเศร้า

ทั้งที่อาการของเธอเรียกว่าอยู่ในขั้นน่ากังวล ผู้ดูแลของเธอจากหน่วยงานแพทย์กลับมองว่า อาการของ โคเมอร์ ยังไม่เข้าข่ายที่ควรได้รับการรักษา ซึ่งใช้งบประมาณส่วนรวมของท้องถิ่น แต่พวกเขาไม่รู้ว่า รูปแบบการรักษาของเธอนั้น สามารถเบิกได้ทั้งหมดจากระบบดูแลสุขภาพแห่งชาติ และเธอควรได้รับการส่งตัวไปรับการรักษา เหตุการณ์ทั้งหมดนั้นทำให้ โคเมอร์ รู้สึก “สับสน” และ “หมดหวัง” นำไปสู่การตัดสินใจจบชีวิตตัวเองของเธอ

ด้าน เลียม โดแลน ตัวแทนจากหน่วยงานสาธารณสุขเฮียร์ฟอร์ดเชอร์ และวูสเตอร์เชอร์ รวมถึงหน่วยงานแคร์ เอ็นเอชเอส ทรัสต์ ของระบบดูแลสุขภาพแห่งชาติ อ้างว่า สาเหตุที่ขาดแคลนเจ้าหน้าที่ติดตามอาการของ โคเมอร์ นั้น เนื่องจากก่อนหน้านี้มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นสูงจนเจ้าหน้าที่ไม่พอ โดยเจ้าหน้าที่แต่ละคนจะต้องรับดูแลผู้ป่วยถึง 100 คน

ด้านครอบครัวของ โคเมอร์ โดยมี โม ไนท์ น้องสาวของเธอเป็นตัวแทน กล่าวว่า ไม่ต้องการให้เกิดโศกนาฏกรรมเช่นที่เกิดขึ้นกับ โคเมอร์ อีก โดยเฉพาะกับครอบครัวที่มีผู้ป่วยโรค BDD 

ไนท์ กล่าวว่า โคเมอร์ เป็นคนฉลาด และเธอรู้อาการตัวเองดี เธอศึกษาหาข้อมูลมาเป็นเวลาหลายปีเกี่ยวกับอาการป่วยของเธอและเชื่อว่าเธอควรได้รับการรักษากับผู้เชี่ยวชาญโรค BDD ที่โรงพยาบาลไพรออรี ที่เธอร้องขอให้มีการส่งตัวไป แต่ “ระบบ” ทำให้เธอต้องผิดหวัง

ไนท์ ยังตำหนิว่า ระบบดูแลสุขภาพแห่งชาติไม่เพียงปฏิเสธคำขอส่งตัวของเธอ แต่ยังขาดการจัดการดูแลอาการป่วยของเธออย่างเหมาะสม

นอกจากนี้ เธอยังกล่าวว่า ความหวังสุดท้ายของพี่สาวของเธอก็คือต้องการ “ส่งเสียง” ให้มีคนรับรู้ เพื่อให้ผู้ป่วยโรค BDD คนอื่น ๆ จะไม่ต้องทนทุกข์แบบที่เธอเคยประสบมา

แหล่งข่าว : news.yahoo.com

เครดิตภาพ : justgiving.com