ขึ้นชื่อว่านักลงทุนสิ่งที่คาดหวังมากที่สุดคงหนีไม่พ้นการทำกำไรอย่างแน่นอน การจะเลือกสินทรัพย์ในการลงทุนจึงเป็นสิ่งที่นักลงทุนควรให้ความสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจมีความผันผวนสูงอย่างในปัจจุบัน ทั้งเงินเฟ้อที่ยังคงเร่งตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง และสภาวะความตึงเครียดจากสงคราม ทำให้นโยบายรัฐจึงจำเป็นต้องมีความยืดหยุ่นเพื่อที่จะสามารถแก้ไขปัญหา และกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในขณะเดียวกันนักลงทุนก็จำเป็นต้องปรับพอร์ตให้มีความยืดหยุ่น ตามนโยบายของรัฐเพื่อลดความผันผวนที่อาจเกิดขึ้นกับพอร์ตการลงทุนของตัวเอง Private Asset จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่สามารถหลีกเลี่ยงความผันผวนได้ดีที่สุด และสำหรับใครที่ยังไม่รู้ว่า Public Asset และ Private Asset คืออะไร? และ แตกต่างกันอย่างไร? วันนี้เรามีคำตอบ!

เริ่มต้นกันที่ Public Asset หากให้อธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ มันคือสินทรัพย์ลงทุนที่ผ่านการได้มาตรฐาน จากสำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ของแต่ละประเทศเพื่อระดมทุนให้ประชาชนทั่วไป โดยมีหลายประเภทสินทรัพย์ลงทุน ซึ่งแต่ละสินทรัพย์ลงทุนก็จะให้อัตราผลตอบแทนคาดหวังในระยะกลางถึงยาวและความผันผวนที่แตกต่างกันไป เนื่องจากแต่ละสินทรัพย์ล้วนมีปัจจัยส่วนตัวในความผันผวนตามสภาพเศรษฐกิจยกตัวอย่างเช่น เงินสดหรือพันธบัตรรัฐบาลอายุสั้น ๆ แทบจะไม่มีความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้เลยตราบเท่าที่รัฐบาลประเทศนั้น ๆ ยังมีความน่าเชื่อถือ ส่วนตราสารหนี้เอกชนก็ขึ้นอยู่กับการที่เรานำเงินขอ

เราไปซื้อหุ้นกู้เพื่อให้บริษัทดังกล่าวนำเงินไปใช้ และให้ผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ย ซึ่งถ้าบริษัทใหญ่ๆที่มั่นคง มีสินทรัพย์ มีรายได้และกำไรสม่ำเสมอ ไม่ได้มีการตกแต่งงบทางการเงิน หรือไม่มีปัจจัยทางเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อพื้นฐานก็มีความเสี่ยงต่ำที่บริษัทจะผิดชำระหนี้ ทางด้านหุ้นแน่นอนคือการที่เราไปเป็นหุ้นส่วนในบริษัท หรือพูดง่าย ๆ ก็คือเราเป็นเจ้าของบริษัท ซึ่งความผันผวนจะสูงเนื่องจากนักลงทุนสามารถซื้อขายได้แบบเรียลไทม์ยิ่งไปกว่านั้นยังมีปัจจัยทางเศรษฐกิจ และปัจจัยทางด้านสังคมที่เป็นเรื่องเปราะบางที่สามารถทำให้หุ้นสามารถขึ้นหรือตกได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้น ย่อมมีความเสี่ยงสูงกว่าตราสารหนี้

อย่างไรก็ตาม การเลือกหุ้นก็ขึ้นอยู่กับธุรกิจและบริษัทที่เราไปลงทุนเป็นสำคัญหากต้องการหุ้นที่มีความผันผวนต่ำและค่อนข้างมั่นคง เช่น หุ้นธุรกิจที่ได้สัมปทานในระยะยาวเช่นธุรกิจสาธารณูปโภคและบริษัทยาขนาดยักษ์ต่อให้เศรษฐกิจแย่มาก ๆ กำไรก็ยังสม่ำเสมอไม่ได้แตกต่างกันมากในแต่ละปี ก็เป็นทางเลือกที่ดี เนื่องจากราคาหุ้นจะผันผวนต่ำกว่าหุ้นประเภทที่กำไรของปีที่ดีกับปีที่แย่สวิง เช่นปีกำไรปีดีต่างกันกับกำไรปีแย่ ๆ หลายสิบหลายร้อยเท่า

ภาพแสดงประเภทสินทรัพย์ลงทุน ซึ่งให้ผลตอบแทนคาดหวังและความเสี่ยงแตกต่างกันไป

ด้าน Private Asset คือ “สินทรัพย์ที่ไม่ได้เข้าไประดมทุนในตลาดทุนผ่านสาธารณะ” หรือ เป็นการลงทุนในสินทรัพย์นอกตลาด กล่าวคือ ขั้นตอนการระดมทุนผ่านตลาดทุนต้องใช้ระยะเวลา ต้องมีเรื่องเอกสารและระบบงานที่ค่อนข้างซับซ้อน ซึ่งหลายครั้งทำให้หลายธุรกิจที่มีความจำเป็นต้องใช้เงินด่วนเพื่อพัฒนาธุรกิจ เช่น หากต้องการจะเทคโอเวอร์ดีลบางอย่างซึ่งต้องตัดสินใจอย่างรวดเร็ว ซึ่งแหล่งเงินที่ “ไวกว่า” ได้แก่ช่องทางจาก บริษัทบริหารจัดการสินทรัพย์ หรืออีกเรื่องคือกรณีที่ดีลมีขนาดเล็ก ทำให้อาจไม่คุ้มค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานหากจะเสนอขายตามขั้นตอนของ Public Asset ทุกขั้นตอน เลยเป็นที่มาของการระดมทุนในรูปแบบ Private Deal

ตลอด 45 ปีที่ผ่านรูปแบบการระดมทุนในลักษณะดังกล่าวได้รับความนิยมอยากมากในปัจจุบันโดยเฉพาะในสหรัฐ และในยุโรป เนื่องจาก Private Deal สามารถนำเสนอให้กับนักลงทุนผู้มีสินทรัพย์สูง (Ultra-High Net Worth) ได้อย่างรวดเร็วซึ่งตอบโจทย์ธุรกิจที่จำเป็นต้องใช้เงินและต้องการเงินหมุนเวียนในบริษัท ในมุมนักลงทุนการลดค่าใช้จ่ายในการระดมทุนทำให้อัตราผลตอบแทนคาดหวังสูงขึ้น รวมถึงช่วงเวลาในการจ่าย Cash Flow ของนักลงทุนก็เป็นไปตามงวดงานจริงมากยิ่งขึ้นเช่นกัน

ในแง่ความผันผวน เมื่อนักลงทุนส่วนใหญ่ลงทุนใน Private Deal ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนผู้มีสินทรัพย์สูง (Ultra-High Net Worth) หรือนักลงทุนสถาบัน จะมีน้อยครั้งมากที่จะเกิดการเทขายในระดับราคาที่ไม่เหมาะสมเหมือนกับนักลงทุนรายย่อย (Retail Investors) เช่นยามที่เศรษฐกิจประเทศใหญ่เข้าสู่สภาวะเศรษฐกิจถดถอยเช่นปี 1991, 2001, 2008 และ 2020 จะเห็นว่าขนาดการติดลบของ Private Deal จะต่ำกว่า เนื่องจากการลงทุนในลักษณะดังกล่าวคือการลงทุนเพื่อคุณค่าในระยะยาว ซึ่งนักลงทุนสถาบัน หรือนักลงทุนที่มีสินทรัพย์สูงจะมองไปอีก 10 ปีหน้า ทำให้ไม่เกิดแรงเทขายออกมา โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสม เช่น ยามที่ทุกคนหลีกเลี่ยงความเสี่ยง ต้องการถือเงินสด และช่วงที่สินทรัพย์ได้รับการประเมินค่าต่ำจนไม่สมเหตุสมผล

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ข้อเสียที่ชัดเจนที่สุดของ Private Deal คือ การที่ข้อมูลที่จะใช้ติดตามจะน้อยกว่าและเฉพาะกลุ่มมากกว่า และมีสภาพคล่องต่ำกว่าด้วย รวมถึงมีความเสี่ยงจากการดำเนินงาน รวมถึงต้องเช็กรายละเอียดข้อกฎหมายและสัญญาให้ดี นักลงทุนต้องมั่นใจว่าสามารถถือลงทุนในระยะยาวได้ เพราะการจะขายการลงทุนออกมานั้นยากกว่าสินทรัพย์ลงทุนที่เป็น Public Asset มากในยามนักลงทุนขาดสภาพคล่อง และไม่สามารถขายได้ทุกราคาตาม คำเสนอขาย ที่มีเหมือนกับ Public Asset

อ้างอิงจากข้อมูลย้อนหลังเกือบ 30 ปีจะพบว่าการเพิ่มสัดส่วนการลงทุนใน Private Asset ทำให้อัตราผลตอบแทนเทียบกับความเสี่ยงดูดีขึ้นมาก

ตัวอย่างของ กองทุนที่ไปลงทุนแบบ Public Asset ในบ้านเรา ได้แก่ การออกซีรีส์การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ “Private Real Estate” ที่ให้อัตราผลตอบแทนคาดหวังที่น่าค่อนข้างสูงกว่าตลาด เช่น ที่ระดับ 7-12% และที่สำคัญคือระยะเวลาการลงทุนในแต่ละดีลอยู่ระหว่าง 2-5 ปีซึ่งถือว่าสั้นกว่าการลงทุนในกองทุนอสังหาริมทรัพย์ทั่วไป นี่จึงเป็นข้อดีของการลงทุนในแบบ Public Asset ซึ่งปัจจุบันนักลงทุนรายใหญ่จะแบ่งเงินสัดส่วน 3-5% มากระจายลงทุนในแต่ละดีล ที่เหมาะสมกับสภาวะตลาดที่มีความผันผวนสูง จากความเสี่ยงทางเศรษฐกิจทั้งในและนอกประเทศ ซึ่งอาจนำไปสู่ผลตอบแทนที่น่าผิดหวัง ตามสัดส่วนนักลงทุนในระยะกลางและยาวที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่กลับกันเราเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของอสังหาริมทรัพย์ในประเทศโดยเฉพาะกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงที่ดีขึ้น และเป็นที่น่ายินดีที่ในระยะหลังบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนหลายแห่งรวมถึง บลจ.เอ็กซ์สปริง ก็มีกองทุนลักษณะ Public Asset เข้ามาให้บริการเพื่อเป็นทางเลือกกับนักลงทุนในบ้านเรา

นนท์นลิน ทังสุนทร

เขียนโดย : นนท์นลิน ทังสุนทร – ผู้อำนวยการ และผู้บริหารฝ่ายวิจัยและกลยุทธ์การลงทุน บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็กซ์สปริง จำกัด

คำเตือน
การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน