เมื่อวันที่ 3 มี.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ส่งข่าวประชาสัมพันธ์มายังสื่อมวลชน หลังจากก่อนหน้านี้มีนักการเมืองกล่าวพาดพิงเกี่ยวกับการคัดเลือกเอกชน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) โดยในข่าวประชาสัมพันธ์ รฟม. ยืนยันว่า การดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการดังกล่าว เป็นไปตามขั้นตอน และกระบวนการที่กฎหมาย รวมถึงมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) และมติคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐ และเอกชนกำหนดอย่างครบถ้วน

นอกจากนี้ศาลปกครอง และศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ก็มีคำพิพากษาในหลายคดีซึ่งถึงที่สุดแล้วว่า รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้ดำเนินการคัดเลือกเอกชนโดยชอบแล้ว ซึ่งที่ผ่านมา การฟ้องร้องเป็นคดีความในการดำเนินงานคัดเลือกเอกชนฯ ส่งผลให้โครงการมีความล่าช้ากว่า 2 ปีแล้ว ทั้งนี้ เมื่อศาลปกคลองกลางโดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองกลาง ก็ได้เห็นว่า การคัดเลือกเอกชนครั้งใหม่ได้รับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชน และประกาศเชิญชวนฯ ตาม พ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ 2562 รวมทั้งมีการเปิดกว้างให้เอกชนเข้าร่วมในการคัดเลือกมากขึ้น ไม่มีลักษณะเป็นการตัดสิทธิหรือกีดกันบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC มิให้เข้าร่วมยื่นข้อเสนอ ซึ่ง BTSC สามารถยื่นข้อเสนอได้เช่นเดียวกับเอกชนรายอื่นๆ

ดังนั้น เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้บริการโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ซึ่งเป็นโครงการบริการสาธารณะที่มีประสิทธิภาพสูง และเพื่อหลีกเลี่ยงความล่าช้า และการเสียโอกาสของประชาชนในการใช้ประโยชน์โครงการ รวมถึงความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นในการดูแลโครงสร้างงานโยธาโครงการฯ ส่วนตะวันออก ที่จะแล้วเสร็จในอนาคต รฟม.จึงเห็นสมควรเร่งรัด และผลักดันโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ตามขั้นตอนเพื่อประโยชน์ของประเทศ และประชาชนต่อไป

สำหรับคดีพิพาทเกี่ยวกับการคัดเลือกเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ มีอยู่ 5 คดี แบ่งเป็น คดีที่เกี่ยวกับการคัดเลือกเอกชนครั้งแรก 3 คดี ประกอบด้วย 1.คดีศาลปกครองสูงสุด BTSC ฟ้องการแก้ RFP ไม่ชอบ และละเมิด BTSC (หมายเลขคดีแดงที่ อ.168/2566) ซึ่งปัจจุบันสถานะคดีสิ้นสุดแล้ว โดยเมื่อวันที่ 2 มี.ค. ที่ผ่านมา ศาลปกครองสูงสุดพิพากษายกฟ้อง เพราะ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ แก้ RFP โดยชอบแล้ว ไม่เป็นการทำละเมิดต่อ BTSC

2.คดีศาลปกครองสูงสุด BTSC ฟ้องการยกเลิกการคัดเลือกเอกชนฯ ไม่ชอบ (หมายเลขคดีดำที่ อ.1455/2565) ปัจจุบันยังรอคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด โดยก่อนหน้านี้ตุลาการผู้แถลงคดี ศาลปกครองสูงสุดแถลงว่า การยกเลิกการคัดเลือกเอกชนฯ ชอบด้วยข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายแล้ว เห็นควรพิพากษากลับคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้น

3.คดีศาลอาญาทุจริตและประพฤติ มิชอบกลาง BTSC ฟ้องการแก้ RFP และยกเลิกการคัดเลือกฯ โดยทุจริต (หมายเลขแดงที่ อท.133/2565) อยู่ระหว่าง BTSC ขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์คำพิพากษา ซึ่งก่อนหน้านี้ศาลอาญาฯ พิพากษายกฟ้อง โดยเห็นว่า การแก้ไข RFP เป็นไปเพื่อประโยชน์ของรัฐ ไม่เป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ยื่นข้อเสนอรายใด และการยกเลิกการคัดเลือกฯ ไม่มีเจตนากลั่นแกล้ง BTSC หรือกระทำนอกขอบเขตของกฎหมาย ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต

ส่วนคดีที่เกี่ยวกับการคัดเลือกเอกชนครั้งใหม่ ได้แก่ 1.คดีศาลปกครองกลาง BTSC ฟ้องการคัดเลือกเอกชนฯ ครั้งใหม่ไม่ชอบ เพราะ RFP กีดกัน BTSC (หมายเลขดำที่ 1646/2565) อยู่ระหว่างการพิจารณาคดี โดยการขอทุเลาฯ ครั้งที่ 1 ศาลปกครองกลางมีคำสั่ง ยกคำร้องขอทุเลาการบังคับ เนื่องจากเห็นว่าประกาศเชิญชวนฯ และ RFP เป็นไปตามกฎหมายแล้ว RFP เปิดกว้างมากขึ้น ไม่มีลักษณะเป็นการตัดสิทธิหรือกีดกัน BTSC และการขอทุเลาฯ ครั้งที่ 2 ศาลไม่รับคำร้องขอทุเลาของ BTSC และ 2.คดีศาลปกครองกลาง นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.พรรคก้าวไกล ฟ้องการคัดเลือกเอกชนฯ ครั้งใหม่ไม่ชอบ โดยศาลปกครองกลางไม่รับฟ้อง และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร วงเงินลงทุนประมาณ 1.4 แสนล้านบาท ขณะนี้ รฟม. ได้ดำเนินการคัดเลือกเอกชนฯ เสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยผู้ชนะการประมูลคือ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ซึ่งขั้นตอนต่อไปจะต้องเสนอให้กระทรวงคมนาคม เพื่อเสนอให้ ครม. พิจารณาอนุมัติผลการประมูลต่อไป หากเห็นชอบจะเข้าสู่ขั้นตอนการลงนามสัญญาระหว่าง รฟม. และ BEM เพื่อดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ซึ่งเอกชนจะรับผิดชอบงานโยธาในส่วนตะวันตก (ศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์) และงานเดินรถไฟฟ้าสายสีส้มตลอดเส้นทาง โดยก่อนหน้านี้ รฟม. มีแผนจะเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ส่วนตะวันออก เดือน ส.ค. 68 ขณะที่ส่วนตะวันตก เปิดบริการเดือน ธ.ค. 70.