เมื่อวันที่ 9 มี.ค. ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)​ นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการ ป.ป.ช. เปิดเผยว่า หัวหน้าพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเวฬุวัน อ.เมืองขอนแก่น จ.ขอนแก่น นำโดย พล.ต.ต.นำเกียรติ ธีระโรจนพงษ์ ผู้บังคับการ กองบังคับการศูนย์ฝึกอบรม กองบัญชาการตำรวจนครบาล (ผบก.ศฝร.บช.น.) นำสำนวนกรณีกล่าวหา “พล.ต.ต.” อดีตผู้บังคับการตำรวจคนเข้าเมือง 4 กับพวกรวม 107 คน ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) สังกัดกองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 4 สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองขอนแก่น อำนาจเจริญ ยโสธร หนองบัวลำภู อุดรธานี นครราชสีมา กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ ร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ สกลนคร แพร่ เชียงใหม่ พระนครศรีอยุธยา นครศรีธรรมราช นนทบุรี ซึ่งเป็นหลายพื้นที่ทั้งภาค 4 ต่อเนื่องภาค 5

โดยมีการรับคำร้องเกี่ยวกับกรณีบุคคลต่างด้าวสัญชาติจีน ขออยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว และมีการเปลี่ยนแปลงการลงตราวีซ่า อ้างเหตุผลความจำเป็นว่าเพื่อปฏิบัติงานในมูลนิธิ สถานศึกษาของเอกชน ว่ามีการฝ่าฝืนหลีกเลี่ยงกฎหมาย ระเบียบคำสั่ง ที่จะอนุญาตโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เป็นเหตุให้คนต่างด้าว อยู่ในราชอาณาจักรได้นานขึ้น เปิดให้คนต่างด้าวรวมกลุ่มกัน และเป็นกระบวนการก่ออาชญากรรมในรูปแบบต่างๆ ก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในสังคม กระทบต่อความมั่นคงของประเทศ เป็นเหตุให้ทางราชการได้รับความเสียหาย

นายนิวัติไชย กล่าวอีกว่า สำหรับสำนวนที่ส่งมาในวันนี้มีประมาณ 8,000 กรรม มีเอกสาร 139,000 แผ่น มา 7 คันรถ ด้วยกัน จำนวนผู้ถูกกล่าวหา 107 คน โดยส่งมาตาม มาตรา 61 แห่ง พ.ร.ป.ป.ป.ช. จึงรับไว้ เพื่อตรวจสอบว่าอยู่ในอำนาจหน้าที่หรือไม่ หากตรวจสอบพบว่าอยู่ในอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช. จะพิจารณาว่าจะส่งคืนหรือจะรับไว้สอบเอง โดยจะต้องเสนอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นผู้พิจารณา แต่ในเรื่องนี้ไม่มีการควบคุมตัวผู้ต้องหามาแต่อย่างใด

ผู้สื่อข่าวถามว่า เป็นคดีที่เกี่ยวเนื่องกับ “ตู้ห่าว” ใช่หรือไม่ นายนิวัติไชย กล่าวว่า ถูกต้อง เป็นการขยายผลเนื่องจากพบว่า เป็นบุคคลที่เข้าไปพัวพันในคดีนี้ มีใบอนุญาตอยู่ในประเทศไทยนานผิดปกติ ทั้งที่ปกติจะต้องมีการประทับตราวีซ่าท่องเที่ยว แต่มีการอนุญาตโดยแอบอ้างว่าเป็นผู้ที่มาปฏิบัติงานในมูลนิธิ เป็นผู้มาปฏิบัติงานในสถานศึกษาเอกชน เพื่อยืดอายุการอยู่ในประเทศไทยให้นานขึ้น และกลุ่มคนพวกนี้ เมื่อได้รับอนุญาตให้อยู่ยาวขึ้น ก็มาตั้งเป็นแก๊ง หรือมาก่ออาชญากรรม

เมื่อถามว่า จะนำสำนวนดังกล่าว ไปรวมเข้ากับคดีตู้ห่าวที่ ป.ป.ช. เคยรับไว้แล้วหรือไม่ เลขาฯ ป.ป.ช. กล่าวว่า คดีตู้ห่าว ป.ป.ช. ยังไม่เคยรับ แต่เป็นเรื่องการดำเนินการ แต่ถ้าตู้ห่าวมีความเกี่ยวพันกับเจ้าหน้าที่ที่กระทำความผิด ก็จะอยู่ในอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช. สอบได้ เช่น คดีดีเอสไอที่บุกค้น ร่วม 191 ที่บ้านที่อ้างเป็นทูต อันนี้ส่งมาให้ ป.ป.ช. แล้ว แต่ส่วนที่ก่ออาชญากรรมเป็นความผิดซึ่งไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจร่วมด้วย ก็แยกไปดำเนินการ หรือเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย แต่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่รัฐ ก็แยกไปดำเนินคดีต่อไป.