จากกรณี จังหวัดปราจีนบุรี มีประกาศปิดโรงงานหลอมเหล็กแห่งหนึ่ง ในเขตอุตสาหกรรมย่านกบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี เนื่องจากทางจังหวัดสนธิกำลังร่วมกับ เจ้าหน้าที่สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ พร้อมด้วยอุตสาหกรรมจังหวัดปราจีนบุรี สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดปราจีนบุรี และกรมการปกครอง ตรวจพบ ‘ซีเซียม-137’ ในโรงหลอมเหล็กใหญ่ที่สุดในปราจีนบุรี ปะปนอยู่ในเศษเหล็กอัดแท่ง เพื่อรอหลอมนั้น..

ด่วน! พบแล้ว ‘ซีเซียม-137’ โผล่ปะปนเศษเหล็ก รอเข้าเตาหลอม หวิดเกิดโศกนาฏกรรม

วันนี้ เดลินิวส์ ออนไลน์ จะพาทุกคนไปย้อนรอยเหตุการณ์วิกฤติระทึก ซึ่งเหตุการณ์นี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในต่างประเทศ ย้อนกลับไปเมื่อ ปี ค.ศ. 1988 เกิดอุบัติเหตุขึ้นที่ทางตอนใต้ของประเทศสเปน เมื่อบริษัท Acerinox ซึ่งดำเนินกิจการรีไซเคิลแปรรูปของเก่า ได้พลาดทำการหลอมซีเซียม-137 ที่มาจากเครื่องกำเนิดรังสีแกมมา ทำให้เกิดการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสี ในรูปของ “radioactive cloud เมฆกัมมันตรังสี” 

บริษัท Acerinox ของสเปน เป็นบริษัทที่ผลิตเหล็กชนิดสแตนเลส สตีล โดยในเดือนพฤษภาคม ปี ค.ศ. 1998 เกิดเหตุการที่สาร cesium-137 ได้หลุดปนเข้าไปอยู่ในโรงงานแปรรูปเศษเหล็ก ที่อยู่ในเมือง Los Barrios ทั้งที่โรงงานดังกล่าวมีเครื่องมือในการตรวจจับวัตถุที่อาจเป็นอันตราย แต่ก็ยังมีสารซีเซียม-137 ผ่านเข้าไปได้และถูกหลอมในเตาเผาหนึ่งของโรงงาน

จากนั้น ได้เกิด “เมฆกัมมันตรังสี radioactive cloud” ขึ้น และถูกปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศโดยทันที ซึ่งไม่โดนตรวจจับได้จากเครื่องตรวจวัดที่ปล่องไฟของโรงงานนั้น แต่ประเทศอื่น ๆ อย่าง ฝรั่งเศส เยอรมนี ออสเตรีย สวิตเซอร์แลนด์ และอิตาลี กลับตรวจพบได้ โดยขี้เถ้าที่โรงงานนี้สร้างขึ้น ถูกพบว่ามีระดับของกัมมันตภาพรังสีสูงมาก เพียงพอที่จะเป็นอันตรายได้ โดยมีระบบความเข้มข้นของรังสีสูงขึ้นจากปกติถึง 1 พันเท่า

ทั้งนี้ มีคนงาน 6 คน ในโรงงานดังกล่าวที่ได้รับอันตรายจากการปนเปื้อนของซีเซียม-137 เพียงเล็กน้อย โรงงานได้ถูกปิดชั่วคราวเพื่อทำความสะอาดกำจัดการปนเปื้อน รวมไปถึงโรงงานอื่น ๆ อีก 2 โรง ที่รับเอาของเสียจากโรงงานนี้ไป 

ซึ่งอุบัตเหตุดังกล่าว ทำให้เกิดน้ำที่ปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี มากถึง 40 ลูกบาศก์เมตร มีเถ้ากัมมันตรังสีเกิดขึ้นถึง 2 พันตัน และมีอุปกรณ์เครื่องมือที่ปนเปื้อนอีก 150 ตัน โดยมูลค่าของกระบวนการในการทำความสะอาด รวมถึงความสูญเสียการผลิตของโรงงานไป นั้นสูงถึง 26 ล้านดอลลาร์สหรัฐ..

ขอบคุณข้อมูลจาก บทความสมาคมนิวเคลียร์แห่งประเทศไทย