เมื่อวันที่ 20 มี.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการติดตามผลกระทบต่อสุขภาพหลังมีท่อบรรจุสารซีเซียม-137 หายออกจากโรงงานผลิตไฟฟ้า อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี และพบว่ามีการหลอมไปตั้งแต่วันที่ 2 มี.ค.แล้ว ว่าขณะนี้ยังต้องรอความชัดเจนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่ามีการระบุพื้นที่ใดบ้าง แต่เบื้องต้น ต้องมีการตรวจสุขภาพทั่วไปของพนักงานโรงงานหลอมเหล็กดังกล่าว และตรวจหาสารตกค้างในปัสสาวะ ทั้งนี้เนื่องจากเป็นสารอันตรายพิเศษทางกระทรวงสาธารณสุขไม่สามารถตรวจได้ ทางสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ซึ่งมีห้องปฏิบัติการพิเศษเป็นผู้ตรวจสอบ นอกจากนี้ยังมีการตรวจพื้นที่รอบ ๆ โรงงาน ประชาชนในอำเภอนั้น ๆ และใน จ.ปราจีนบุรี

ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข จะต้องมีการเฝ้าระวังทางสุขภาพใน 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มผิวหนัง เนื้อเยื่อ อาการจะมีตั้งแต่ตุ่มน้ำใส เนื้อตาย เป็นต้น 2.กลุ่มผู้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ และกลุ่ม 3.กลุ่มอื่น ๆ ที่มีความเจ็บป่วย เช่น เม็ดเลือดขาวผิดปกติเป็นกลุ่มก้อน เพราะเม็ดเลือดขาวมีคุณสมบัติแตกตัวไว อาจจะส่งผลต่อเส้นผม อย่างไรก็ตาม จากการติดตามผลกระทบทางด้านสุขภาพนับตั้งแต่ที่มีรายงานการสูญหายยังไม่พบผู้ได้รับผลกระทบเข้ารับการรักษา แต่ต้องเฝ้าระวังต่อไป เพราะอาจจะมีคนที่ได้รับผลกระทบน้อย ๆ ยังไม่มีอาการอะไรก็ได้

ทั้งนี้ หากมีผู้เข้ารับการรักษาต้องแอดมิดในโรงพยาบาล อาจจะต้องมีการแยกจากผู้ป่วยคนอื่นๆ หากประชาชนมีความรู้สึกว่ามีอาการผิดปกติ สามารถประสานไปที่สถานพยาบาลในพื้นที่ได้ ทั้งนี้สารซีเซียม-137 เป็นสารที่มีครึ่งชีวิตอยู่ที่ 30 ปี ไม่ว่าจะเป็นในร่างกายของคนหรือสิ่งแวดล้อม จึงมีความสำคัญที่เราต้องมีการตรวจติดตามต่อเนื่อง

“ผลกระทบต่อสุขภาพจากสารซีเซียม-137 ขึ้นอยู่กับปริมาณที่ได้รับ และระยะเวลาที่ได้รับ ดังนั้น เป็นผลกระทบกับทุกคนที่ได้รับสาร ไม่เฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่มีโรคประจำตัว เด็ก ผู้สูงอายุ คนทั่วไปได้รับผลกระทบไม่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ยังไม่พบความผิดสังเกต ส่วนจะต้องติดตามเรื่องสุขภาพประชาชนในพื้นที่อื่น ๆ ต้องรอข้อมูลที่ชัดเจนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่มีการตรวจสอบพบก่อน ทาง สธ.เป็นปลายทาง เราจะเน้นเฝ้าระวังใน 3 กลุ่ม” ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าว