เมื่อวันที่ 24 มี.ค. นายปลอดประสพ สุรัสวดี ประธานคณะกรรมการนโยบายสิ่งแวดล้อมพรรคเพื่อไทย (พท.) แถลงข่าวแผนปฏิบัติการสร้างความเชื่อมั่นประชาชน ประเด็นซีเซียม-137 รั่วไหล ว่าอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบว่านับตั้งแต่หน่วยงานของรัฐรับทราบข่าวการสูญหายของซีเซียม-137 ได้ตรวจสอบหรือไม่ว่าได้ให้ใบอนุญาตซีเซียม-137 ในปริมาณมากน้อยเพียงใด ปัจจุบันสารซีเซียม-137 อยู่ที่ไหน ได้ประสานกรมโรงงานอุตสาหกรรมและสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. ไปตรวจสอบหรือไม่ พรรค พท. รู้สึกเป็นห่วงอย่างยิ่ง เพราะประชาชนจะไม่สามารถค้าขายทำมาหากินได้ อยากให้รัฐบาลเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นมาแล้วต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นว่าต้องไม่เกิดขึ้นอีก ถ้าพรรค พท. เป็นรัฐบาลจะไม่ปล่อยให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าวขึ้นอย่างเด็ดขาด

ตนขอเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งดำเนินการสร้างความเชื่อมั่นให้กับพี่น้องประชาชนรวม 6 ด้าน ได้แก่ 1.กลับไปตรวจสอบที่โรงหลอมอีกครั้งและทำความสะอาดแบบ 100% ให้คนกลางไปตรวจยืนยันว่าไม่มีซีเซียม-137 แบบ 100% 2.กากที่มีรังสีซีเซียม-137 เจือปน เมื่อหลอมแล้วสารจะระเหยติดเครื่องกรอง และจุดต่าง ๆ ซึ่งต้องเก็บให้หมด ให้เหลือแม้แต่ปลายเข็มไม่ได้ การเก็บต้องสร้างไซโลพิเศษคอนกรีตเสริมเหล็ก ในพื้นที่ที่ไม่ใช่โรงงาน ต้องปิดสนิท สร้างเขื่อนล้อมรอบ มีหลังคา พร้อมติดกล้อง 24 ชม.

3.รัฐบาลต้องจัดหน่วยภาคพื้นดิน ตรวจสอบหาสารซีเซียม-137 แบบปูพรมทุกตารางนิ้วทั้งจ.ปราจีนบุรี และระยอง เพื่อให้ประชาชนเกิดความมั่นใจ เมื่อตรวจแล้วให้นำธงขาวปักไว้ เช่นเดียวกับกรณีภัยพิบัตินิวเคลียร์ที่ฟุกุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี 54

4.ตรวจเลือดเด็ก ผู้ใหญ่ และคนในพื้นที่อย่างละเอียด 5.สำรวจและชดเชยความเสียหายให้กับเกษตรกร ร้านอาหารที่ถูกยกเลิกคำสั่งซื้อไป เพราะเป็นความบกพร่องของหน่วยงานรัฐบาลที่ทำงานล่าช้า และ 6.นายกรัฐมนตรีต้องแสดงความรับผิดชอบต่อประชาชน ที่ไม่มีความรู้และสั่งการผิดพลาด สั่งการหน่วยงานผู้รับผิดชอบไม่ตรงกับงาน

นายปลอดประสพ กล่าวอีกว่า รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการเอาโทษดำเนินคดีกับโรงไฟฟ้า โรงหลอม และร้านรับซื้อของเก่าด้วย พร้อมกับต้องตรวจดิน ตรวจน้ำ ในพื้นที่อย่างละเอียด โดยเฉพาะแหล่งน้ำ หัวใจของเรื่องนี้คือการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนว่า สามารถใช้ชีวิตในประเทศไทยได้อย่างปลอดภัย ทำมาค้าขายได้ ขณะนี้ราษฎรไม่เชื่อมั่น ทำมาค้าขายไม่ได้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้าใจหรือไม่ เห็นอกเห็นใจพวกเขาหรือไม่ นายกรัฐมนตรีต้องแจ้งองค์การปรมาณูเพื่อสันติ สำนักงานเวียนนา ให้ทราบ เรื่องใหญ่ต้องแก้อย่างเรื่องใหญ่ จะแก้อย่างละลายน้ำไม่ได้.

ส่วน ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงถึงกรณีที่สารซีเซียม-137 หลุดหายจากโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนของบริษัทแห่งหนึ่งในอ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี ว่า  พล.อ.ประยุทธ์ให้ความสำคัญกับเหตุการณ์ดังกล่าว และได้ประสานงานพร้อมกับติดตามข้อมูลต่างๆ อีกทั้งได้มอบหมายนายประทีป กีรติเรขา รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง ประชุมร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เมื่อช่วงเช้าวันนี้ (24 มี.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยมี นายรณรงค์ นครจินดา ผวจ.ปราจีนบุรี ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ นายธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม และนายพงษ์แพทย์ เพ่งวาณิชย์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้าร่วมประชุม

นอกจากนี้ นายกฯ ได้ให้ความสำคัญกับการสอบสวนเรื่องนี้ในทุกมิติ อาทิ วัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 สูญหายได้อย่างไร สถานที่ที่รับซื้อวัสดุดังกล่าว ตลอดจนต้องมีผู้รับผิดชอบต่อประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสารกัมมันตรังสีด้วยหรือไม่ และประเด็นอื่นๆที่เกี่ยวข้อง นายกฯ จึงสั่งการให้ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. ลงพื้นที่สอบสวนหาหลักฐาน เพื่อให้ประชาชนเกิดความมั่นใจ ขณะเดียวกันต้องมีมาตรการออกมารองรับโดยเฉพาะในเรื่องสารกัมมันตรังสี อีกทั้ง นายกฯ ให้ความสำคัญกับประสิ่งแวดล้อม จึงยกมาเป็นวาระแห่งชาติ อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนติดตามข้อมูลข่าวสารจากหน่วยงานที่น่าเชื่อถือ ขณะที่รัฐบาลจะนำข้อมูลและผลการประชุมมาเผยแพร่ให้ประชาชนรับทราบต่อไป

ทางด้าน นายรณรงค์ กล่าวว่า การประชุมร่วมกันเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา มีขึ้นเพื่อประสานงานการปฏิบัติงานระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ตนได้รายงานในที่ประชุมว่าช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา มีสิ่งที่เราเป็นห่วงมากที่สุดอันดับแรก คือ เรื่องสุขภาพอนามัยของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพนักงานในโรงงงานหลอมเหล็กที่มีประมาณ 70 คน โดยการตรวจครั้งแรกเป็นการตรวจภายในและนอกโรงงาน รวมถึงตรวจพนักงานแต่ละคนด้วย ก็ไม่พบว่ามีการปนเปื้อนสารดังกล่าว จากนั้นได้มีการตรวจครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นการตรวจภายในร่างกายของพนักงาน โดยตรวจเลือดและปัสสาวะ ผลออกมาเมื่อวันที่ 23 มี.ค. ที่ผ่านมา ไม่พบว่ามีสารนี้ปนเปื้อนในร่างกาย จึงขอให้มั่นใจว่าร่างกายพนักงานของโรงงานแห่งนี้ทั้ง 70 คน ไม่พบสารดังกล่าว แต่ด้วยความเป็นห่วงประชาชนที่อยู่ข้างใกล้เคียงโรงงานว่าจะได้รับผลกระทบด้วยหรือไม่ เราจึงได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปตระเวนออกตรวจสอบสถานที่ ดิน น้ำ อากาศ และสภาพแวดล้อมในพื้นที่ระยะวงรอบ 5 กิโลเมตร และ 10 กิโลเมตร โดยตรวจวัดหลายครั้งก็ไม่พบการปนเปื้อนสารดังกล่าว

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 23 มี.ค. ที่ผ่านมา ตนได้ประชุมร่วมกับตัวแทนประชาชนในหลายหมู่บ้านที่อยู่ข้าง ๆ ได้เล่าถึงสถานการณ์การดูแล การป้องกันตัว การขอรับความช่วยเหลือต่างๆ ขณะเดียวกัน เราส่งแถบฟิล์มวัดปริมาณรังสีเคลื่อนที่ประจำตัวบุคคลไปให้จิตอาสาของแต่ละหมู่บ้านหรือชุมชน นำไปติดบนตัว โดยใช้เวลาตรวจวัดประมาณ 15-30 วัน แล้วกลับมาตรวจอีกครั้ง เพื่อให้เกิดความมั่นใจแก่ประชาชน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าพื้นที่บริเวณนั้นไม่มีสารปนเปื้อน ไม่มีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงไม่มีผลกระทบกับชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ตลอดจนพืชผลผลิตทางการเกษตร ตนจึงเชิญเจ้าหน้าที่จากสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ไปตรวจสอบทั่วพื้นที่ในหมู่บ้านต่าง ๆ และพื้นที่เกษตรว่ามีสารปนเปื้อนหรือไม่ พร้อมกับสอบถามข้อมูลจากเกษตรกรในพื้นที่ด้วย โดยมีสื่อมวลชนร่วมสังเกตการณ์อยู่ตลอด ทั้งนี้ เมื่อผลออกมาว่าไม่พบสารซีเซียมปนเปื้อน ตนพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ของ ปส. นายอำเภอ และบรรดาผู้นำชุมชน ได้ร่วมกันรับประทานผักและผลไม้ที่ปลูกในพื้นที่เหล่านี้ เพื่อการันตีว่ามีความปลอดภัยสูงสุด จึงขอเชิญชวนให้ประชาชนกลับมาท่องเที่ยวและจับจ่ายซื้อสินค้าในพื้นที่ต่าง ๆ ของ จ.ปราจีนบุรี

ขณะที่ นายพงษ์แพทย์ กล่าวว่า ภาควิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์ฯ ได้ทำการประเมินปริมาณรังสีที่จะมีผลต่อประชาชนได้ โดยใช้หลักวิชาการในการคำนวณและประเมินปริมาณ รวมถึงใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์จำลองการกระจายตัวของสารดังกล่าว พร้อมกับได้นำเครื่องมือวัดรังสีเข้าไปตรวจสอบปริมาณรังสีในพื้นที่เก็บสาร พบว่าปริมาณรังสีบริเวณโรงงาน หรือห่างออกมาจากจุดเก็บนั้น ไม่สูงกว่าปริมาณรังสีในธรรมชาติ