จากกรณีดราม่าเดือดคล้ายหนังม้วนยาวระหว่าง “ทนายตั้ม-ษิทรา เบี้ยบังเกิด” และ “ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ จอมแฉชื่อดัง” ได้ออกมาเปิดศึกตอบโต้กันไปมาผ่านบัญชีเฟซบุ๊กของตัวเอง เนื่องมาจากต้นเหตุที่ ทนายตั้ม โพสต์โชว์รูปเงินปึกใหญ่ ระบุว่า นายชูวิทย์ รับเงิน 6 ล้านบาทจากสารวัตรซัว โดยมีนายตำรวจหิ้วถุงเงินมาเพื่อเคลียร์การเปิดโปง จากนั้นนายชูวิทย์ก็ได้ออกมายอมรับว่าเป็นเงินของซัวจริง แต่ไม่ได้รับไว้ใช้เพื่อการส่วนตัว ได้นำเงินทั้งหมดไปบริจาคให้ทางโรงพยาบาลสองแห่ง ต่อมาทนายตั้มยังได้มีการแถลงข่าวพร้อมตั้งคำถามไปยังนายชูวิทย์และบุตรชาย ถึงเงินดิจิทัล จำนวน 50 ล้านที่โอนเข้า MetaMask รวมถึงการเข้าพบของนายแทนไท ณรงค์กูล กระทั่งล่าสุดทนายตั้มยังเตรียมแถลงโชว์หลักฐานเด็ดมัดนายชูวิทย์ ขณะที่ นายชูวิทย์ไม่รอช้า โต้ทันควันเปิดเอกสารใบเสนอราคาค่าแถลงข่าวออกสื่อของบริษัท ษิทรา ลอว์ เฟิร์ม จำกัด โดยมีค่าใช้จ่าย 3 แสนบาท พร้อมทิ้งประโยคเด็ดว่า “แถลงไป ไถไป” จนโลกออนไลน์ต่างเข้ามาเกาะติดสถานการณ์ของทั้งคู่พร้อมเเสดงความคิดเห็นหลากหลาย ตามที่มีการเสนอข่าวอย่างต่อเนื่องแล้วนั้น

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 27 มี.ค. ที่ SITTRA LAW FIRM อาคารเอ็มไพร์ ทาวเวอร์ ชั้น 24 ถนนสาทรใต้ แขวงยานนาวาเขตสาทร กรุงเทพฯ ทนายษิทรา เปิดเผยว่า จริงๆ แล้วตนตั้งใจจะแถลงเรื่องตำรวจระดับสูง และเจ้าหน้าที่ ปปง. ที่ไปเกี่ยวข้องกับทุนสีเทา แต่ปรากฏว่าเมื่อคืนนี้ นายชูวิทย์ ได้โพสต์เรื่องเงิน 300,000 บาท ตนจึงต้องการชี้แจงว่าเป็นเงินค่าอะไรบ้าง อย่างแรกต้องบอกก่อนว่า ตนจบเนติบัณฑิต ตอนปี 2547 และอยากใช้ความรู้ความสามารถที่มี จึงไปตั้งโต๊ะให้คำปรึกษาชาวบ้านฟรี จนวันหนึ่งได้ไปช่วยครอบครัวหนึ่งโดยที่ไม่คิดเงิน เขาพูดว่า “สมกับเป็นทนายประชาชน” จึงนำคำพูดนี้ไปสกรีนเสื้อ จากนั้นก็ให้คำปรึกษา ให้ความรู้ประชาชนในเรื่องกฎหมายตามโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศฟรี ต่อมาปี 2559 จึงได้ก่อตั้งมูลนิธิทีมงานทนายประชาชนฯ เพื่อบรรยายกฎหมายและให้ความรู้เรื่องกฎหมายฟรี

ทนายษิทรา เผยอีกว่า ตนดังจากคดีหวย 30 ล้าน ตอนนั้นยังสวมเสื้อยืดทนายประชาชนไปทำคดี ต่อมาถึงจุดเปลี่ยนถึงช่วงทำคดีลุงพล (บ้านกกกอก) ตนก็ช่วยโดยไม่คิดเงิน แต่ปรากฏว่าลูกความทำไม่ดีไปพูดให้ตนได้รับความเสียหาย ก็ถูกประชาชนและสังคมด่า ยอมรับว่าตอนทำคดีลุงพล ชีวิตลำบากมาก กระแสสังคมรังเกียจตน ไม่มีงานจ้างเกือบ 6 เดือน ไม่มีรายได้และยังจ่ายค่าใช้จ่ายเองหมด นอกจากนี้ ลูกๆ ของตนก็ลำบาก ลูกก็เคยถาม (หยุดการให้สัมภาษณ์สักครู่ คล้ายจะมีน้ำตา รู้สึกจุกในอก) ว่า “ป๊าทำเพื่อคนอื่นโดยไม่ได้อะไร ลูกและครอบครัวลำบาก” ตนก็คิดว่าการช่วยสังคม ช่วยแค่ส่วนหนึ่งพอ ทำให้ปี 2565 จึงตัดสินใจเปิดบริษัท ษิทรา ลอว์ เฟิร์ม จำกัด เพื่อให้เป็นในรูปแบบธุรกิจ สามารถมีเงินมาจุนเจือครอบครัว และตนก็ไม่ได้ใส่เสื้อยืดทนายประชาชนอีกเลย

ทนายษิทรา ชี้แจงถึงกรณีการแถลงข่าวและมีการเรียกเก็บเงิน ว่า ที่ผ่านมา มีที่แถลงแล้วได้เงินและไม่ได้เงินบ้าง ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ตนแถลงไปเพียง 2 คดีเท่านั้น คือ เดือน ม.ค. คดีของรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีการเก็บเงินค่าแถลง 300,000 บาท อีกคดี คือ คดีของไฮโซช่อฉัตร 300,000 บาทเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ตนไม่เคยให้เงินสื่อสักบาท และที่เก็บค่าแถลงข่าวเพราะมันเป็นจำนวนเงินสำหรับค่าที่ตนและทีมงานทุกคนที่เกี่ยวข้องจะถูกฟ้องกลับในอนาคต และยังเป็นค่าดำเนินการแบบครอบคลุม ตั้งแต่การติดตามคดี การขึ้นศาล จนถึงวันที่ชนะคดี และที่กำหนดคิดค่าใช้จ่ายไว้ ก็เพราะไม่ต้องการคิดเบิกกับลูกความอีกรอบในภายหลัง จึงขอคิดค่าแถลงข่าวตามความหนักเบาของข่าวนั้นๆ ทั้งนี้ สำหรับกฎเกณฑ์ที่จะใช้เสนอราคาค่าแถลงข่าว 300,000 บาทต่อลูกความ ตนจะพิจารณาที่ 1.คดีที่ใหญ่หรือไม่ 2.ลูกความมีกำลังจะจ่าย เสี่ยงจะถูกฟ้องหรือไม่

“สำหรับค่าใช้จ่ายในใบเสนอราคา 300,000 บาท คือค่าแถลงข่าว ไม่เคยไปไถเงินใครเพื่อจัดแถลงข่าว ซึ่งก็จัดทำเป็นใบเสนอราคา ลูกความทำไม่ทำก็เป็นสิทธิของลูกความ ถ้ารับข้อเสนอได้เราก็ทำให้ อย่างเคสของน้องพอร์ส (YES INDEED) ที่มีข้อพิพาทกับค่ายเพลงต้นสังกัด ตนก็ไม่ได้เรียกเก็บเงินสักบาท แล้วก็ยังถูกฟ้องร้อง จริงๆ ช่วยเหลือน้องพอร์ส เพราะให้เป็นน้ำใจและสงสารจึงช่วย” ทนายษิทรา ขยายความ

ทนายษิทรา เผยต่อว่า อย่างไรก็ตาม ตนยอมรับว่าเรียกเเพง เพราะบริษัทมีค่าใช้จ่ายเยอะ ลูกน้องเยอะ มันคือค่าวิชาชีพที่ตนและลูกน้องทำ และที่คิดแพงเพราะลูกความรู้ว่าตนเอาจริงเอาจัง ติดตามเรื่องจนถึงที่สุด ลูกความคิดว่าพึ่งเราแล้วถึงไหนถึงกัน เพราะเราเต็มที่ มาหาและอุ่นใจ ตนยืนยันว่าตัวเองโปร่งใส เงินทุกบาททุกสตางค์สามารถตรวจสอบได้ นอกจากนี้ อย่างที่ผ่านมามีเคสเข้ามาปรึกษาประมาณ 1,500 เคส แต่รับคดีไม่ถึง 10% และตนยังมีออพชั่นการโทรฯ ปรึกษาด้วย เช่น หากโทรฯ ปรึกษาเรื่องคดีกับลูกน้องของตนเวลา 20 นาที เป็นเงิน 1,000 บาท แต่ถ้าโทรฯ ปรึกษากับตนในเวลาเท่ากันคิด 1,500 บาท แต่ถ้าหากมาพบตนที่สำนักงาน และปรึกษาเป็นเวลาครึ่งชั่วโมง ตนคิด 3,000 บาท

ทนายษิทรา เผยด้วยว่า มันผิดไหมที่จะหาเงินเพื่อให้บุตรและครอบครัวได้มีชีวิตที่ดี ตนทำเพื่อครอบครัว มันผิดหรือตนไม่ได้นำเงินไปเลี้ยงอีหนู ไม่ได้ทำธุรกิจสีเทา การเอาเงินที่ทำงานมาเที่ยว มันผิดหรือ การโพสต์เฟซบุ๊กของนายชูวิทย์ แต่ก่อนตนมองว่าต้องเป็นเพจที่คุณภาพ แต่การที่นายชูวิทย์ เอาใบเสนอราคาของลูกจ้างที่ยังไม่ตกลงมาโพสต์นั้น มันกระจอกมาก เหมือนตนมีแผลอะไร ก็เอามาเล่นย้อนหลัง ตนมองว่า เพจชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ความคุณภาพมันหายไปแล้ว ไร้สาระ

ส่วนกรณีที่มีเพจเฟซบุ๊กบัญชีหนึ่งโพสต์รูปภาพเกี่ยวกับรายรับของบริษัทฯ ทนายษิทรา อธิบายว่า สามารถตรวจสอบภาษีได้ ตนทำถูกต้องหมด ยื่นภาษีทุกเดือน จ่ายภาษี ภงด. ภาษีมูลค่าเพิ่ม ตนยินดีให้ตรวจสอบ และบอกกับลูกน้องเลยว่าต้องทำให้ถูกต้อง เสียภาษีให้รัฐบาลให้ถูกต้อง ตนไม่คิดงุบงิบเอาเงินผิดกฎหมายอะไร

ทนายษิทรา ยังฝากถามไปยังนายชูวิทย์ ว่า เคยทำธุรกิจสุจริตบ้างหรือไม่ และโรงแรมเดอะเดวิส บางกอก ก็เป็นธุรกิจ จะมาแขวะธุรกิจของตนทำไม จะรวยช้าหรือรวยเร็วก็คือความสามารถของตน ลูกความพึงพอใจก็มา เชื่อในความสามารถ ศักยภาพของตนในการทำงาน มีไหวพริบ กล้าสู้คน ตนแค่แหย่ชูวิทย์เรื่องแฉไปไถไป นายชูวิทย์ยังตกหลุมรับสารภาพรับเงินจากซัว เพราะนายชูวิทย์ไม่ได้เรียนกฎหมายมา ตนพยายามบอกออกสื่อช่วย แต่ชูวิทย์ก็ยังไปรับสารภาพ

เมื่อถามว่า เป็นการหลอกใช้สื่อมวลชนหรือไม่ ทนายษิทรา เผยว่า จะหลอกยังไง ตนมีเนื้อหาให้สื่อเสมอ อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ ตนต้องไปบอกทีมงานให้ปรับเปลี่ยนคำในใบเสนอราคาว่าเป็นค่าเสี่ยงฟ้องในอนาคต ค่าประกันภัยต่างๆ พร้อมน้อมรับถ้าหลังจากนี้จะถูกสื่อบอยคอต เพราะตนอธิบายชัดเจน และยืนยันว่ามันเป็นค่าเสี่ยงถูกฟ้องในอนาคตจริงๆ จากการมานั่งแถลงข่าว ตนไม่อยากให้ลูกความถูกฟ้อง ตนรับไว้เอง แถลงเอง ยอมโดนถูกฟ้อง และไม่ได้เก็บค่าแถลงข่าวทุกเรื่อง นอกจากนี้ หลังจากนี้ เวลาแจ้งหมายข่าว ตนจะพิมพ์ให้ชัดว่าเคสนี้เป็นการแถลงข่าวโดยมีค่าดำเนินการ หรือแถลงฟรี

ทนายษิทรา ยังระบุอีกว่า ส่วนเคสที่แฉเรื่องชูวิทย์ ตนยืนว่า แถลงฟรี ไม่มีใครจ่ายเงินให้สักบาท เพราะตนได้รับข้อมูลบางส่วนมาจึงรู้ว่าชูวิทย์พูดไม่จริงในบางเรื่อง ถ้าตนไม่พูด สังคมจะรู้ไหมว่าชูวิทย์รับเงินซัว ตนได้แต่หวังว่าชูวิทย์จะเข้าใจการทำธุรกิจของตน เพราะเขาเองก็ทำธุรกิจ มันมีเรื่องบิลค่าใช้จ่ายอยู่แล้ว

ทั้งนี้ ทนายษิทรา ระบุด้วยว่า สำหรับเสื้อผ้าข้าวของแบรนด์เนมต่างๆ ส่วนใหญ่ก็มาจากเงินการทำคดีความของตน และการเปิดบริษัท ษิทรา ลอว์ เฟิร์ม จำกัด ส่วนบางอย่างบางรายการก็มาจากทางลูกความที่นำมาฝากบ้าง แต่ก็เป็นเพียงเสื้อเท่านั้น มูลค่า 20,000 บาท ส่วนหลังจากนี้ตนจะไปเตรียมข้อมูลเรื่องเจ้าหน้าที่ตำรวจ ปปง. เพื่อเตรียมแถลงอีกรอบ ส่วนประเด็นที่ฝ่ายอาคารแจ้งมาว่า นายชูวิทย์จะมาในช่วงเช้านั้น ตนไม่รู้ว่าใครประสานมา แต่ก็ยินดีให้ขึ้นมา แต่พอสักพักบอกให้ไปเจอกันที่ศาล ตนขอยืมคำว่า “กูไม่กลัวพี่” และที่ไม่เรียกมึง เพราะยังเคารพนายชูวิทย์อยู่.