เมื่อวันที่ 2 เม.ย. เพจเฟซบุ๊ก ษิทรา เบี้ยบังเกิด เลขาธิการมูลนิธิทีมงานทนายประชาชนฯ ของทนายตั้ม โพสต์ข้อความเกี่ยวกับสวนสาธารณะของนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ โดยระบุว่า หลายสิบปีก่อนได้ติดตามข่าว “ที่ดินบาเบียร์” ของพี่ชูวิทย์ ที่ให้คนไปรื้อจนถูกดำเนินคดี จำได้ว่าศาลชั้นต้นยกฟ้องพี่ชูวิทย์ ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้จำคุก ก็สู้คดีมาตลอดแต่พอถึงวันฟังคำพิพากษาศาลฎีกา จู่ๆ พี่ชูวิทย์ก็แถลงรับสารภาพ!!

ตอนนั้นจำได้ผมพึ่งเป็นทนายได้ไม่นาน การที่จู่ๆ จำเลยปฏิเสธมาตลอด จะรับสารภาพตอนนั้นก็งงเหมือนกัน ทำได้ด้วยเหรอ แล้วศาลจะลดโทษให้ไหม?

หลายคนอาจจะเคยได้ยินทนายรุ่นเก่าๆ พูดว่า การรับสารภาพเพราะจำนนต่อหลักฐาน ส่วนมากศาลจะไม่ลดโทษให้ คำนี้ติดหูผมมาก

ระหว่างที่ศาลเลื่อนอ่านคำพิพากษาไปนั้น นักกฎหมายสมัยนั้นก็วิจารณ์เรื่องนี้กันไปต่างๆ นานา บ้างก็ว่าไม่น่าจะทำได้ บ้างก็ว่าเป็นสิทธิของจำเลย

พอถึงวันฟังคำพิพากษาปรากฏว่า ศาลฎีกาลดโทษให้ โดยเหตุผลหนึ่งคือ จำเลยได้มีการนำที่ดินพิพาทไปทำประโยชน์เป็นสวนสาธารณะให้ประชาชนทั่วไปใช้ได้ โดยไม่ได้นำที่ดินไปทำธุรกิจแสวงหาผลกำไรอีก บ่งบอกว่าจำเลยรู้สึกสำนึกผิด นับว่ามีเหตุปรานี เห็นสมควรกำหนดโทษใหม่ให้เหมาะสม พิพากษาแก้จากจำคุก 5 ปี ให้เหลือแค่ 2 ปี ไม่รอลงอาญา

ได้ลดโทษมา 3 ปี เหนาะๆ เพราะให้ที่เป็นสาธารณประโยชน์

ผมถึงรู้สูตรนี้ว่า จำเลยสามารถกลับคำให้การชั้นฎีกา และลดโทษได้ ถ้ามีเหตุผลดีๆ ก็เลยลักจำเอาคดีที่ทนายของพี่ชูวิทย์ใช้วิชาขั้นเทพนี้มาประยุกต์ใช้บ้าง

เมื่อไม่นานมานี้ผมเพิ่งรู้ข่าวว่าที่ดินที่พี่ชูวิทย์อุทิศให้คน กทม.ไว้ใช้เพื่อสาธารณะ ตอนนี้กำลังพัฒนาให้เป็นโครงการอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ มูลค่าหลายพันล้าน ก็ตกใจเพราะนักกฎหมายทุกคนทราบดีว่า ถ้าแค่พูดว่ายกที่ดินให้สาธารณะมันจะโอนทันที โดยไม่ต้องจดทะเบียน และไม่สามารถถอนคืนการให้ได้

เรื่องนี้ ท่านผู้ว่าฯ ชัชชาติ และกรุงเทพมหานคร ก็ต้องทำหน้าที่ของตัวเอง ทำความจริงให้ปรากฏ ไม่อย่างนั้นคนที่อยู่แถวนั้นและเคยใช้ประโยชน์กับสวนชูวิทย์อาจจะรวมตัวกันไปฟ้องคดีต่อศาลเอง เพื่อทวงคืนปอดของคนกรุงเทพฯ ซึ่งสามารถทำได้

แต่ก็ไม่รู้ว่าเมื่อถึงเวลานั้น พี่ชูวิทย์จะใช้อภินิหารทางกฎหมายท่าไหน เอาที่ดินที่ยกให้สาธารณะไปแล้ว มาเป็นของครอบครัวตัวเองได้อีก เรื่องนี้คงจะถกเถียงกันอีกนาน จนกว่าจะมีคำพิพากษาศาลฎีกาตัดสินเป็นแนวทางต่อไป.