สืบเนื่องจากโครงการ การศึกษาชุดสีของกระเบื้องวัดราชบพิธฯ เพื่อจัดทำชุดโครงสี ผ่านมุมมองการสร้างสรรค์ ผลงานศิลปะประยุกต์ และต้นแบบแพนโทน สำหรับการใช้งานด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ เคหสถานและสิ่งทอ เพื่ออนุรักษ์สืบสานศิลปะและวัฒนธรรม โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ที่ผ่านมา ทางคณะผู้บริหารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและทีมวิจัยได้เข้าเฝ้าและถวายผลิตภัณฑ์ต้นแบบจากโครงการฯ แด่ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

การศึกษาชุดสีกระเบื้องวัดราชบพิธฯ และการจัดทำชุดโครงสี ผ่านมุมมองการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะประยุกต์ และต้นแบบแพนโทน สำหรับใช้งานด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ เคหสถานและสิ่งทอ ดังกล่าว จากการศึกษา วิจัยที่ผ่านมา รศ.ดร.นํ้าฝน ไล่สัตรูไกล นักวิจัยหลักของโครงการฯ ได้เล่าถึงการพัฒนาชุดสี การถอดรหัสสีกระเบื้องเคลือบ เพื่อจัดทำต้นแบบชุดสีวัดราชบพิธฯ ว่า กระเบื้องเคลือบที่วัดราชบพิธฯ เป็นกระเบื้องที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ ลวดลายกระเบื้องเป็นฝีมือการออกแบบของ
พระอาจารย์แดงแห่งวัดหงส์รัตนาราม เขียนลายต้นแบบและส่งไปผลิตที่ประเทศจีน แล้วส่งกลับใช้ในงานออกแบบผสมผสานรูปแบบศิลปกรรมภายในวัด

“ด้วยที่แห่งนี้จากที่กล่าวมีความสำคัญทั้งทางด้านประวัติศาสตร์และศิลปกรรมไทยเพื่อการอนุรักษ์และสืบรักษามรดกทางศิลปวัฒนธรรม ทีมวิจัยจึงได้ศึกษาสีและลวดลายกระเบื้อง และต่อยอดจัดทำฐานข้อมูลสี จัดทำชุดโครงสีในรูปแบบแพนโทนสีสำหรับสีย้อมและพิมพ์ผ้า ใช้ในงานประเภทแฟชั่นสิ่งทอ, แพนโทนสำหรับสีทาเคหสถาน และแพนโทนสำหรับสีเพนต์กระเบื้องเคลือบ ฯลฯ ต่อยอดชุดสีกระเบื้องเพื่อประโยชน์ต่อเนื่องไป

นักวิจัยหลักรศ.ดร.นํ้าฝน อธิบายเพิ่มอีกว่า ชุดสีหรือแพนโทน เป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับการออกแบบและสร้างสรรค์งานศิลปะระดับสากลในปัจจุบัน การจัดทำแพนโทนสีของวัดราชบพิธฯ โดยถอดจากสีกระเบื้องวัดราชบพิธฯ ซึ่งแต่ละสีนั้นมีเอกลักษณ์เฉพาะต่างจากแพนโทนสากล อีกทั้งการตั้งชื่อแพนโทนขึ้นใหม่ครั้งนี้ยังสะท้อนถึงความเป็นไทย และความเป็นวัดราชบพิธฯ

การศึกษาวิจัยในโครงการฯนี้ ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยหลังจากศึกษากระเบื้องเคลือบวัดราชบพิธฯ ในเบื้องต้น ทีมวิจัยได้เริ่มทำการถอดชุดสีเพื่อจัดทำชุดโครงสี และต้นแบบแพนโทนของวัดราชบพิธฯ รศ.ดร.นํ้าฝน อธิบายเพิ่มอีกว่า กระเบื้องเคลือบที่วัดราชบพิธฯ มีเอกลักษณ์โดดเด่น มีความเป็นตะวันตกและตะวันออกผสานกัน จากการศึกษาสีของกระเบื้องมีการผสมสีขาว อย่างเช่น สีเหลือง จะไม่ใช่สีเหลืองที่เป็นแม่สีทีเดียว สีเหลืองกระเบื้องเคลือบเป็นการผสมสามสี เป็นเหลืองที่ผสมขาวและอาจมีส้มเจือนิด ๆ และทุกสีที่ศึกษาวิจัยก็เป็นเช่นนี้ จะมีสีขาวผสมอยู่

ขณะที่ สีชมพู จะไม่ใช่สีชมพูที่เกิดจากสีแดงผสมขาว แต่จะมีสีอื่นผสมอยู่ด้วยนิดหนึ่ง เป็นชมพูตามแบบฉบับของวัดราชบพิธฯ ทั้งนี้ หากเป็นสีของไทยดั้งเดิมจะไม่ผสมขาว

“สีของไทยส่วนใหญ่จะสกัดจากวัสดุธรรมชาติจากพืชพันธุ์ไม้ ฯลฯ สกัดสีเพื่อนำไปย้อมผ้า การผสมขาวจึงไม่มีแต่สำหรับสีวัดราชบพิธจะมีความเป็นพาสเทล อย่างที่กล่าว สีชมพู จะเป็นชมพูที่มีเอกลักษณ์เฉพาะซึ่งอยากให้ลองสังเกตความพิเศษของสีกระเบื้องเคลือบสวยงามของที่นี่”

จากงานวิจัยครั้งนี้ รศ.ดร.นํ้าฝน เล่าเพิ่มอีกว่า การศึกษาวิจัยเราทำเฉพาะ สีของกระเบื้องเคลือบ ไม่ได้ศึกษาสีทั้งหมดที่ปรากฏที่วัด อย่างบริเวณพระอุโบสถ ไม่ได้นำมาถอดรหัสสี และด้วยที่กระเบื้องเคลือบที่นี่มีสีสันที่มีความเฉพาะตัว โดยกระเบื้องเคลือบที่ปรากฏจากที่กล่าวเป็นการเพนต์แล้วส่งไปเผาที่จีนและส่งกลับมาที่ไทย การศึกษาวิจัยจึงเป็นเรื่องค่อนข้างยากจะคาดเดาว่า สีที่ศึกษา สีเพนต์ไปเมื่อเผาแล้วจะได้สีตรงกับที่ปรากฏตามต้นแบบหรือไม่ และจากการวิจัยได้ จัดทำเฉดสี 3 ประเภท โดยอย่างแรก สี สำหรับเส้นใยเพื่อที่จะนำไปย้อมผ้า

ส่วนที่สอง สำหรับสีทาเคหสถาน โดยทำงานร่วมกับบริษัทสีในการทดลองผสมสี และอีกส่วนหนึ่งสำหรับ เครื่องเคลือบ จัดทำแพนโทนชุดสีวัดราชบพิธฯ อย่างเช่น ชุดสีสำหรับเส้นใย สิ่งทอ นำไปทดลองกับไนลอน ฝ้ายและไหม ทั้งนี้ การทำงานวิจัยเฟสแรกวิจัยได้ กลุ่มสีหลัก 31 สี โดยจัดทำฐานข้อมูลสีเพื่อส่งต่อองค์ความรู้ในของเรื่องสี ส่วนขณะนี้ซึ่งเป็นเฟสสอง เป็นงานวิจัยเฉดสีรอง

ชุดสีและแพนโทนที่ศึกษาจากเฟสแรกที่ผ่านมาได้นำไปต่อยอด ออกแบบสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ อย่างเช่น ผลิตภัณฑ์จานกระเบื้องที่ใช้สีจากกระเบื้องของวัดราชบพิธฯ ปลอกหมอนและผ้าพันคอจากชุดสีวัดราชบพิธฯ ฯลฯ โดยเฟสต่อมาคาดว่าจะได้สีเพิ่มขึ้นอีก สีที่วัดราชบพิธฯ มีมากกว่านี้อีกมากในเฟสแรกเป็นโทนสีหลักของกระเบื้องเคลือบ

แต่จากนี้ไปน่าจะเพิ่มเฉดสีอ่อนแก่เพิ่มขึ้นจากสีหลัก อย่างเช่น สีชมพู จากที่วิจัยจะมีเฉดสีเพิ่มขึ้น ฯลฯ เป็นต้นแบบแพนโทนที่จะนำไปสู่การใช้งานจริง”

นักวิจัยหลักของโครงการฯ เล่าเพิ่มอีกว่า จากที่กล่าวงานวิจัยครั้งนี้เราคิดและตั้งชื่อชุดสี ซึ่งสะท้อนถึงความเป็นไทยและความเป็นวัด โดยที่ผ่านมาตั้งชื่อสีไว้ในเบื้องต้น ชื่อมีความเป็นมงคล ตั้งชื่อจากสินแร่อัญมณี และในทุกชื่อจะมีบพิธ อย่างเช่น ไพลินซีลอนบพิธ แก้วฟ้าบพิธ เขียวบุษบพิธ อย่างเช่น ไพลินซีลอนบพิธ จะเป็นโทนสีนํ้าเงินเข้ม ขณะที่ โกเมนบพิธ จะออกไปทางแดง แต่จะเป็นแดงที่เป็นเอกลักษณ์ผสมขาว เป็นต้น แต่ทั้งนี้ ในเรื่องของชื่อสีจะมีการสรุปอีกครั้ง

การถอดรหัสชุดสีกระเบื้องเคลือบครั้งนี้ จากที่กล่าวเพื่อการอนุรักษ์และส่งต่อองค์ความรู้ โดย รศ.ดร.นํ้าฝน กล่าวอีกว่า หากอนาคตกระเบื้องเกิดการชำรุดต้องซ่อมแซม ชุดโครงสี แพนโทนที่ศึกษาวิจัยไว้สามารถเรียกนำกลับมาใช้ ได้สีที่ถูกต้องดังเดิมและจากที่กล่าวได้จัดทำเป็นฐานข้อมูลไว้ โดยส่วนนี้ มีความสำคัญต่อการอนุรักษ์ และการส่งต่อองค์ความรู้

“การจัดทำชุดโครงสีและต้นแบบแพนโทนของวัดราชบพิธฯ จะทำเป็นเล่มไว้เพื่อให้ดาวน์โหลด ทั้งนี้การศึกษาวิจัยครั้งนี้ใช้ระยะเวลาราวปีกว่าศึกษาในแต่ละขั้นตอนซึ่งมีรายละเอียด มีการทดลองหลายครั้งกว่าจะได้เป็นชุดสี ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของ สีย้อมที่จะนำไปต่อยอดใช้กับงานสิ่งทอ โดยส่วนนี้เตรียม จัดทำเป็นเล่มแพนโทนผ้า ต้นแบบชุดสี 31 สีหลักจากกระเบื้องเคลือบวัดราชบพิธฯ เพื่อศึกษาสืบค้นอีกส่วนหนึ่ง”

นักวิจัยหลักของโครงการฯ รศ.ดร.นํ้าฝน เล่าทิ้งท้ายอีกว่า ขณะนี้กำลังเริ่มงานเฟสสองของโครงการฯ โดยมีเป้าหมายศึกษาวิจัยเพื่อให้ได้ชุดสีเพิ่มขึ้น ทั้งเตรียมลงพื้นที่จริงโดยนำชุดสีที่ศึกษาทาอาคาร รวมถึงมีความตั้งใจทำกิจกรรมกับพื้นที่โดยรอบทดลองใช้สี เรียนรู้ชุดสีวัดราชบพิธฯ ไปด้วยกัน

ส่งต่อองค์ความรู้ การสืบสานอนุรักษ์และต่อยอดการสร้างสรรค์.

พงษ์พรรณ บุญเลิศ